ข้าวเย็น
ชื่อสมุนไพร | ข้าวเย็น |
ชื่ออื่นๆ | ยาหัวข้อ ข้าวเย็นโคกแดง ข้าวเย็นโคกขาว เขือง เข้าเย็นเหนือ เข้าเย็นใต้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Smilax sp. |
ชื่อพ้อง | |
ชื่อวงศ์ | Smilacaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็ง ลงหัว เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือตามพื้นดิน อาจยาวได้ถึง 5 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนาม กระจายห่างๆ หัวมีเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 5-18 เซนติเมตร ปลายกลมหรือเว้าตื้น และเป็นติ่งแหลมสั้น โคนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบหลัก 5-7 เส้น มี 3 เส้นกลาง ที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง เชื่อมกับเหนือโคนใบ 3-5 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร มือจับยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม 1-3 ช่อดอก ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศต่างต้น ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง ดอกสีเขียว กลีบรวม 6 กลีบ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มี 20-40 ดอกต่อช่อ เกสรเพศผู้มีจำนวน 6 อัน อับเรณูรูปขอบขนาน ช่อดอกเพศเมียมี 15-30 ดอกต่อช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน รูปคล้ายเข็ม ผลทรงกลม แบบผลมีเนื้อ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร มี 1 หรือ 2 เมล็ด เกิดตามป่าโปร่ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ออกดอกและผล ราวเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม หัวที่มีเนื้อสีแดงเข้ม เนื้อละเอียด มีรสมัน มักเกิดทางภาคเหนือและอีสาน เรียกว่าข้าวเย็นเหนือ อีกชนิดมักส่งมาจากเมืองแต้จิ๋ว หัวมีเนื้อสีขาว เรียกว่า ข้าวเย็นใต้
ลักษณะวิสัย
ใบ และ ดอก
ดอก
ผล
ผลสุก
สรรพคุณ
ตำรายาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ หัว ต้มน้ำกิน เพื่อลดปวด สำหรับหญิงอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ใช้หัวในยาตำรับ นำมาต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง โดยบดยาหัวให้ละเอียด ผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้ง แล้วผสมกับน้ำผึ้ง กินวันละ 1 เม็ด หัวต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด
ตำรายาไทย ใช้ หัว มีรสมันกร่อยหวานเล็กน้อย แก้ประดง แก้มะเร็งคุดทะราด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค เข้าข้อออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้ประดง แก้เม็ดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย นิยมใช้คู่กันทั้งข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสอง ต้น รสจืดเย็น แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวร้อน ใบ รสจืดเย็น แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต ผล รสขื่นจัด แก้ลมริดสีดวง
ตำรายาพื้นบ้านมุกดาหาร และประเทศมาเลเซีย ใช้ เหง้า เป็นยาบำรุง
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/