บุนนาค

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

บุนนาค

ชื่อสมุนไพร บุนนาค
ชื่ออื่นๆ สารภีดอย (เชียงใหม่) นากบุต (ใต้) ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ปะนาคอ (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesua ferrea L.
ชื่อพ้อง Mesua nagassarium (Burm. f.) Kosterm.
ชื่อวงศ์ Calophyllaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ต่ำๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม ใบอ่อนสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ จะออกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม มีขนาดกว้าง 1.2-4 เซนติเมตร ยาว 5-13 เซนติเมตร รูปร่างมนรีแคบ หรือรูปหอกสอบเข้าหากันทั้ง 2 ด้าน ใบแก่ด้านบนเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวลสีเทา เส้นใบข้างมีมากมาย แต่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง เมื่อบานเต็มที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่กลับกว้าง ปลายบานและเว้า โคนสอบ เมื่อบานเต็มที่กลีบจะแผ่กว้างออก มีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกล ดอกสมบูรณ์เพศ ดอกห้อยลง ก้านดอกมีความยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน สีเหลืองส้ม เป็นฝอย อับเรณูสีส้ม ก้านเกสรตัวเมียสีขาวยาว รังไข่มี 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงแข็งและหนา และอยู่คงทนจนกระทั่งเป็นผลก็ยังคงติดอยู่ที่ผล ผลสด รูปไข่ แข็งมาก ปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก ที่ผิวผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลรูปไข่ แข็ง มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร สีส้มแก่ หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยแข็งห้อหุ้ม และมีหยดของยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับ 4 กลีบ ติดอยู่ และขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล เมล็ดแบน แข็งมี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ยอดอ่อนใช้เป็นผักจิ้มได้ มีรสเปรี้ยวอมฝาด


 

ลักษณะวิสัย

 

เปลือกลำต้น

 

ใบ

 

ดอก

 

ดอกตูม และ ดอกบาน

 

ดอก

 

ผล

 

ผล



สรรพคุณ:    
              ตำรายาไทย  ใช้  ดอก มีกลิ่นหอมเย็น รสขมเล็กน้อย เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ และขับลม แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย รักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย แก้กลิ่นสาบในร่างกาย  นำเกสรมาเข้าเครื่องยาไทยในพิกัดเกสรทั้งห้า (ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง) เกสรทั้งเจ็ด (มีดอกจำปาและดอกกระดังงาเพิ่มเข้ามา) และเกสรทั้งเก้า (มีดอกลำดวน และดอกลำเจียกเพิ่มเข้ามา) มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์ แก้ร้อนในกระสับกระส่าย มีกลิ่นหอมใช้อบเครื่องหอม ใช้แต่งกลิ่น เข้าเครื่องยาเป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ดับกระหาย บำรุงโลหิต หรือบดให้เป็นผงผสมกับเนยเหลว เป็นยาพอกแก้ริดสีดวงทวาร น้ำมันหอมระเหยจากดอก มีสาร  mesuol และ mesuone มีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะ คือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เกสร รสหอมเย็น เข้ายาหอม มีฤทธิ์ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับลม บำรุงครรภรักษา ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ชื่นใจ แก้ไข้ ผล ขับเหงื่อ ฝาดสมาน กินเป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย แก้น้ำเหลืองเสีย และแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เมล็ด น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ปฏิชีวนะคือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ใช้เมล็ดตำใส่บาดแผล น้ำมันจากเมล็ดรักษาโรคปวดตามข้อ และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง ใบ รสฝาด รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด แก้พิษงู ตำเป็นยาพอกโดยรวมกับน้ำนมและน้ำมันมะพร้าวใช้สุมหัวแก้ไข้หวัดอย่างแรง รักษาเสมหะในคอ แก่น รสเฝื่อน แก้เลือดออกตามไรฟัน ราก รสเฝื่อน ขับลมในลำไส้ เปลือกต้น รสฝาดร้อนเล็กน้อย ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง เปลือกให้ยางมาก เป็นยาฝาดสมาน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ต้มรวมกับขิงกินเป็นยาขับเหงื่อ กระพี้ รสเฝื่อนเล็กน้อย แก้เสมหะในคอ เนื้อไม้ แก้ลักปิดลักเปิด เมล็ด ให้น้ำมันเป็นยาทาถูนวดแก้ปวดข้อ ทาแก้บาดแผลเล็กๆน้อยๆแก้ผื่น คัน และแก้หิด กรดที่พบในน้ำมันมีพิษต่อหัวใจ
             ประเทศอินเดียและพม่า  ใช้  ใบ แก้พิษงู

สารสำคัญ:
            ต้น พบ oleoresin ดอกพบ น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม คือ mesuol และ mesuone ผลพบแทนนิน เมล็ดพบ mesuol และ mesuone มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา:

      ฤทธิ์ต้านการอักเสบข้อ

     สารสกัดจากเมล็ดบุนนาค ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ทดสอบด้วยวิธี Complete Freund’s Adjuvant (CFA)-induced arthritis โดยใช้ CFA ซึ่งเป็นเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (strain H37Ra, ATCC-25177) ที่แห้ง และตายด้วยความร้อน ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบในหนู สังเกตผลในวันที่ 21 หลังให้สารทดสอบ ในขนาด 300 mg/kg  พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเอทานอลของเมล็ดบุนนาค สามารถยับยั้ง CFA โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 60.42, 58.65  และ 54.89% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Diclofenac sodium ขนาด 50 mg ยับยั้งได้เท่ากับ 62.68% (Jalalpure, et al., 2010)

     ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน และฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

     การทดสอบในหนู โดยสกัดสารฟลาโวนอยด์ จากน้ำมันในเมล็ดบุนนาคชื่อ mesuol แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าเมื่อให้ mesuol ร่วมกับ cyclophosphamide ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ใช้ในการรักษาเนื้องอกและมะเร็ง พบว่าการให้ยา cyclophosphamide  ทำให้เกิดอนุมูลอิสระโดยเฉพาะอนุมูล superoxide ซึ่งอนุมูลเหล่านี้มีผลกดระบบภูมิคุ้มกันในหนู ผลการทดสอบพบว่า mesuol สามารถป้องกันการเหนี่ยวนำของ cyclophosphamide ในระบบมิคุ้มกัน และป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันได้ (oxidative stress) ได้ในวันที่ 9 และ 16 โดย mesuol ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ GSH, CAT เพิ่มขึ้นได้ และมีผลต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยวิธีทางเคมีในการจับอนุมูลอิสระ  DPPH (56.67 mmol/100 g), ABTS (35.22 mmol/100 g) และวิธี FRAP (เป็นการวัดความสามารถรวมในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็ก Fe3+)(8.99 μmol/g) ดังนั้น mesuol จึงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Chahar, et al., 2012)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

      การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเพศเมียสายพันธุ์ Swiss albino โดยให้สารสกัดใบบุนนาคที่สกัดด้วย methanol ขนาด 50 mg/kg, 500 mg/kg และ 2000 mg/kg ป้อนให้หนูเพียงครั้งเดียว บันทึกผลภายใน 24 ชั่วโมง และสังเกตผลต่ออีก 14 วัน โดยบันทึกค่าน้ำหนัก, พฤติกรรม, ค่าชีวเคมีในเลือด การกินน้ำและอาหาร อัตราการตาย ผลการทดลองพบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบการเกิดพิษ (Udayabhanu, et al., 2014)

 

เอกสารอ้างอิง

1. Chahar MK, Kumar DSS, Lokesh T, Manohara KP. In-vivo antioxidant and immunomodulatory activity of mesuol isolated from Mesua ferrea L. seed oil. International Immunopharmacology 2012;13:386–391.

2. Jalalpure SS,  Mandavkar YD, Khalure PR, Gulab S, Shinde GS, Shelar PA, Shah AS. Antiarthritic activity of various extracts of Mesua ferrea L. seed. J Ethnopharmacology. 2011;138:700–704.

3. Udayabhanu J, Kaminidevi S, Thangavelu T. A study on acute toxicity of methanolic extract of Mesua ferrea L. in swiss albino mice. Asian J Pharm Clin Res 2014;7(3):66-67.

 

ข้อมูลเครื่องยา :           phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 10
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่