บุนนาค

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

บุนนาค

ชื่อเครื่องยา บุนนาค
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ดอก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา บุนนาค
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) สารภีดอย (เชียงใหม่) นากบุต (ใต้) ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ปะนาคอ (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesua ferrea L.
ชื่อพ้อง Mesua nagassarium (Burm. f.) Kosterm.
ชื่อวงศ์ Calophyllaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
          ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่กลับกว้าง ปลายบานและเว้า โคนสอบ เกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน สีเหลืองส้ม เป็นฝอย กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงแข็งและหนา ดอกแห้ง สีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมเฉพาะ ขนาดความยาว 1-2 เซนติเมตร เส้นรอบวง 1-6 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมเย็น รสขมฝาดเล็กน้อย

 

เครื่องยา บุนนาค

 

เครื่องยา บุนนาค

 

 

เครื่องยา บุนนาค

 

เครื่องยา บุนนาค

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
          ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล(80%) ไม่น้อยกว่า 4.5% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 2.5% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ดอก มีกลิ่นหอมเย็น รสขมเล็กน้อย เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ และขับลม แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย รักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย แก้กลิ่นสาบในร่างกาย  แก้ร้อนในกระสับกระส่าย มีกลิ่นหอมใช้อบเครื่องหอม ใช้แต่งกลิ่น เข้าเครื่องยาเป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ดับกระหาย บำรุงโลหิต หรือบดให้เป็นผงผสมกับเนยเหลว เป็นยาพอกแก้ริดสีดวงทวาร น้ำมันหอมระเหยจากดอก มีสาร  mesuol และ mesuone มีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะ คือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เกสร รสหอมเย็น เข้ายาหอม มีฤทธิ์ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับลม บำรุงครรภรักษา ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ชื่นใจ แก้ไข้
           ตำรายาไทยนำเกสรมาเข้าเครื่องยาไทยใน “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง) “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (มีดอกจำปาและดอกกระดังงาเพิ่มเข้ามา) และ “พิกัดเกสรทั้งเก้า”  (มีดอกลำดวน และดอกลำเจียกเพิ่มเข้ามา) มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์ นอกจากนี้บุนนาคยังจัดไว้ในพิกัดพิเศษ “พิกัดเทวตรีคันธา” (ทเวติคันธา) คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอม 2 ชนิด รวมเครื่องยา 6 อย่างคือ ดอกบุนนาค รากบุนนาค แก่นบุนนาค ดอกมะซาง รากมะซาง และแก่นมะซาง มีสรรพคุณขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค บำรุงโลหิต  แก้กลิ่นเหม็นสาบในร่างกาย แก้กำเดา แก้ไข้สำปะชวน ทำให้ใจชุ่มชื่น ชูกำลัง

           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา  ปรากฏการใช้ดอกบุนนาค ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของดอกบุนนาค อยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ได้แก่ ”ยาหอมเทพจิตร” มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) นอกจากนี้ตำรับยาแก้ไข้ปรากฎการใช้ดอกบุนนาคร่วมกับสมุนไพรอื่นๆใน “ตำรับยาเขียวหอม”  สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี:
           ดอกพบน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม คือ mesuol และ mesuone  สารกลุ่ม coumarins สารกลุ่ม flavonoids, xanthenes

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:          

    ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ปกป้องตับ

      สารสกัดเมทานอลจากดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 และ 200 mg/kg ในหนูเม้าส์เพศเมียสายพันธุ์วิสตาร์ โดยให้หนูดื่มน้ำที่ผสมเชื้อแบคทีเรีย  Staphylococcus aureus  เป็นเวลา 1 วัน  หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ติดตามผลค่าต่างๆ ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ตรวจการทำงานของไต โดยตรวจวัดระดับ creatinine phosphorkinase (CPK), alkaline phosphatase (ALKP), creatinine, urea ตรวจวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ super oxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidise (GPX) และ glutathione reductase (GR) ผลการทดสอบพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ SOD และ AST พบการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ CAT,GPX, GR และ AST และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการทำงานของ CPK และ Creatinine ดังนั้นสรุปได้ว่ามีการเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้บางชนิด ส่วนการทำงานของตับและไต ยังมีผลทั้งในทางที่ดีขึ้นและลดลงได้ นอกจากนี้การทดสอบสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 μg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของ nitric oxide ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดการอักเสบได้ 96.03% (Chahar, et al., 2013)

     ฤทธิ์ต้านการชัก

     การป้อนสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg แก่หนูเมาส์ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยวิธี Maximum electroshock seizure (MES) ผลการทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกบุนนาคสามารถยับยั้งการชักได้ และลดระยะเวลาที่เกิดการชักได้อย่างมีนัยสำคัญดังนี้  สารสกัดความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg ยับยั้งได้ 100% (p < 0.01), 60% (p < 0.01) และ 100% (p < 0.001) ตามลำดับ (Chahar, et al., 2013)

     ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

     สารสกัดเมทานอลของดอกบุนนาคในหนูเมาส์ติดเชื้อ S. typhimurium ATCC 6539.2 พบว่าสารสกัดขนาด 4 mg/mouse สามารถลดอัตราการตาย และลดเชื้อแบคทีเรียในเลือด ตับ และม้าม ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบในหลอดทดลองเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียพบว่าสารสกัดความเข้มข้น 50 μg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ 30 สายพันธุ์, Bacilllus spp., Salmonella spp., Pseudomonas spp., Streptococcus pneumonia, Sarcina lutea, Proteus mirabilis และ Lactobacillus arabinosus สารสกัดความเข้มข้น 100 และ 200 μg/ml สามารถยับยั้ง Staphylococcus ได้ 1 และ 2 สายพันธุ์ ตามลำดับ แต่มีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อสารสกัดจำนวน  8 สายพันธุ์  และมีผลน้อยในการยับยั้ง Klebsiella, Vibrio cholera,  Escherichia coli  และ Shigella spp.

     การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจากสารสกัดไดคลอโรมีเทนและเมทานอล (1:1 v/v) ของดอกบุนนาค ความเข้มข้น 500 และ 1000 μg/ml ทำการทดลองด้วยวิธี agar dilution-streak พบว่าสามารถต้านเชื้อได้แก่ B. cereus varmycoides, B. pumilus, B. subtilis, Bordetella bronchiseptica, Micrococcus luteus, Sta. aureus, Sta. epidermidis, E. coli, K. pneumoniae, P. aeruginosa, Str. faecalis, Candida albicans, Aspergillus niger และ Saccharomyces cerevisiae (Chahar, et al., 2013)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง

Chahar MK, Kumar S, Geetha L, Lokesh T, Manohara KP. Mesua ferrea L.: A review of the medical evidence for its phytochemistry and pharmacological actions. African Journal of Pharmacy and Pharmacology. 2013;7(6):211-219.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 99
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่