กระแตไต่ไม้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระแตไต่ไม้

ชื่อสมุนไพร กระแตไต่ไม้
ชื่ออื่นๆ ฮำฮอก (อุบลราชธานี); ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี); กูดขาฮอก กูดอ้อม กูดไม้ (เหนือ); กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี),หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์);หว่าว (ปน) สะโมง กาบหูช้าง หัวว่าว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.) J.Sm.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Polypodiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น เลื้อยเกาะ บนต้นไม้หรือก้อนหิน ที่มีร่มเงาหรือแสงแดด ลำต้นทอดนอนยาวได้ถึง 1 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร เหง้าหัวกลม ยาว ปกคลุมด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้มมีขนยาวสีน้ำตาลปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีขาวและเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว มีสองชนิด คือใบที่ไม่สร้างสปอร์ ประกบต้นตั้งเฉียงกับลำต้น รูปไข่ ไม่มีก้านใบ กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 32 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้นๆหุ้มอยู่บริเวณเหง้า ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบมนหรือแหลม ผิวของใบอ่อนมีขนรูปดาว และใบที่สร้างสปอร์ จะอยู่สูงกว่าใบที่ไม่สร้างสปอร์ และชี้ขึ้นด้านบน แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปหอก กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึก เกือบถึงเส้นกลางใบ คล้ายใบสาเก  เป็นพู เรียงตัวแบบขนนก เนื้อใบเหนียว สีเขียวหม่น เป็นมัน ก้านใบยาว 15-25 เซนติเมตร โคนก้านใบมีเกล็ดสีน้ำตาลดำ ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปขอบขนาน เรียงเป็นสองแถวอยู่ระหว่างเส้นใบย่อย แอนนูลัส ประกอบด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวตั้ง ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ พบเกาะอยู่ตามต้นไม้ หรือตามโขดหินในที่มีร่มเงา หรือตามชายป่า


ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย

 

เหง้า

 

เหง้า

 

ต้นอ่อนที่งอกมาจากเหง้า

 

ใบ

 

ใบ


 

สรรพคุณ    
             หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  รากและแก่น ต้มน้ำดื่ม และอาบ แก้ซาง เหง้า ต้มน้ำดื่ม แก้ประจำเดือนไหลไม่หยุด เหง้าฝนทา แก้งูสวัด เหง้าต้มน้ำดื่มหรือฝนกับน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงจมูก แก้กระหายน้ำ เหง้านำมากินสด โดยใช้เนื้อสีขาว เอาขนออก ฝานตากแดด แล้วบด แก้ปวดประดงเลือด เหง้า ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเส้น เป็นยาห้ามเลือด
             ยาพื้นบ้านอีสาน  ใช้  เหง้า 3-4 เหง้า ผสมกับลำต้นเอื้องเงิน 1 ต้น ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง บำรุงเลือด
             หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร  ใช้  เหง้า แก้แผลฝี หนอง
             ตำรายาไทย  ใช้  เหง้า รสจืดเบื่อ เป็นยาสมานคุมธาตุ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอยหรือขุ่นข้น สีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลือง หรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) แก้นิ่ว แก้เบาหวาน แก้แผลพุพอง แผลเนื้อร้าย ขับระดูขาว หรือใช้เหง้าผสมกับลำต้นเอื้องเงิน 1 ต้น ต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง บำรุงเลือด
             ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้  เหง้า ต้มน้ำดื่ม รักษามะเร็งในปอด ปอดพิการ ผสมหัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม แก้หอบหืด ขนจากเหง้า บดให้ละเอียด สูบแก้หืด ใบ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำอาบ แก้บวม แก้ไข้สูง
            ชาวเขาเผ่าแม้ว  ใช้  ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการไม่สบายและอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอด
            ประเทศมาเลเซีย  ใช้ เหง้า นำมาพอกแก้ปวดบวม

 


ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่