มะตูม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะตูม

ชื่อเครื่องยา มะตูม
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะตูม
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะปิน(เหนือ), กะทันตาเถร (ปัตตานี), ตูม(ใต้), บักตูม(อีสาน), ตุ่มตัง (ปัตตานี), พะโนงค์ (เขมร), มะตูม (กลาง), มะปีส่า (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aegle marmelos (L.) Corr.
ชื่อพ้อง Belou marmelos (L.) Lyons, Bilacus marmelos (L.) Kuntze, Crateva marmelos L., Feronia pellucida
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลรูปไข่ หรือรูปกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 ซม. ยาว 12-18 ซม. เปลือกหนา แข็งมาก สีเขียวอมน้ำตาล ผิวเปลือกเรียบ เมื่อยังดิบเปลือกสีเขียวแต่เมื่อสุกมีสีเหลืองอมน้ำตาล ภายในผลมีเนื้อหนาสีเหลืองส้ม และมีน้ำเหนียวๆอยู่รอบเมล็ด มีเมล็ดจำนวนมากฝังอยู่ในเนื้อ ผลแก่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลอ่อนรสฝาดร้อนปร่าขื่น ผลแก่ที่ยังไม่สุก รสฝาดหวาน

 

เครื่องยา มะตูม

 

ผลมะตูม

 

ผลมะตูม

 

ผลมะตูม

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
             ปริมาณความชื้นไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 10% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 40% w/w ปริมาณสาร Imperatorin ไม่น้อยกว่า 0.1% w/w (THP)

 
สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ผลอ่อน รสฝาดร้อนปร่าขื่น ฝานบางๆ สดหรือแห้ง ชงน้ำรับประทานแก้ท้องเสีย  แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร ฝาดสมาน เจริญอาหาร เป็นยาธาตุ แก้ธาตุพิการ ขับผายลม บำรุงกำลัง และรักษาโรคลำไส้เรื้อรังในเด็ก ผลแก่ที่ยังไม่สุก รสฝาดหวาน แก้บิด แก้เสมหะ แก้ลม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ผลแก่สุก ทุบให้เปลือกแตกต้มทั้งลูกกับน้ำตาลแดง เป็นยาระบายท้อง เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ ช่วยขับผายลม แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด แก้บิดเรื้อรัง บำรุงไฟธาตุ แก้โรคไฟธาตุอ่อน แก้ครั่นเนื้อตัว ช่วยย่อยอาหาร มะตูมทั้ง 5 ส่วน (ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล) รสฝาดปร่าซ่าขื่น ใช้แก้ปวดศีรษะ ตาลาย เจริญอาหาร ลดความดันโลหิตสูง
           ตำรายาไทยมีการใช้ ผลมะตูมใน ”พิกัดตรีผลสมุฎฐาน” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีผลเป็นที่ตั้ง 3 อย่าง มีผลมะตูม ผลยอ ผลผักชีลา สรรพคุณแก้สมุฎฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่างๆ แก้โรคไตพิการ

           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ลูกมะตูมในตำรับ “ยาตรีเกสรมาศ” มีส่วนประกอบลูกมะตูมอ่อนร่วมกับเกสรบัวหลวง และเปลือกฝิ่นต้น มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย  นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้คลื่นไส้ อาเจียน จากธาตุไม่ปกติ ใช้ผลดิบสดหั่นเป็นแว่นย่างไฟพอเหลือง หรือใช้ผลดิบที่หั่นเป็นแว่นตากแห้งไว้ก็ได้ นำมาย่างไฟพอเหลือง ใช้ครั้งละ 1 กำมือ หรือประมาณ 25 กรัม (2-3 ชิ้น) ต้มเอาน้ำดื่ม

           ผงยา 3-6 กรัม ต่อวัน (THP)

องค์ประกอบทางเคมี:
           ผลแก่มีสารเมือกและเพคติน น้ำมันระเหยง่าย แทนนิน และสารที่มีรสขม

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:           

ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

       การทดสอบการยึดเกาะของนิวโทรฟิล (neutrophil adhesion test) ในสัตว์ทดลอง ของสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูม (ซึ่งเป็นขั้นตอนในการยึดเกาะของเม็ดเลือดขาวก่อนที่จะเคลื่อนตัวผ่านผนังหลอดเลือด และเคลื่อนเข้าหาสิ่งกระตุ้น) โดยการป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูมขนาด 100 หรือ 500 mg/kg แก่หนูขาวแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นเจาะเลือดเพื่อดูผลการยึดเกาะของนิวโทรฟิล ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้งสองขนาด มีผลเพิ่มการยึดเกาะของนิวโทรฟิลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีร้อยละของการยึดเกาะของนิวโทรฟิล ของกลุ่มควบคุม, สารสกัดขนาด 100 และ 500 mg/kg เท่ากับ 4.4±0.6, 45.1±1.2 และ 30.7±2.0% ตามลำดับ แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยส่งเสริมให้การทำงานของนิวโทรฟิล ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีจำนวนมากในร่างกาย ทำหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนในการยึดเกาะของเม็ดเลือดขาวก่อนที่จะเคลื่อนตัวผ่านผนังหลอดเลือด และเคลื่อนเข้าหาสิ่งกระตุ้น โดยสารสกัดขนาด 100 mg/kg ออกฤทธิ์ดีกว่าขนาด 500 mg/kg (Patel, et al., 2010)

     การทดสอบความสามารถในการกำจัดสารคาร์บอน (carbon clearance test) ในสัตว์ทดลองของสารสกัดเมทานอลที่ได้จากผลมะตูม โดยการป้อนสารสกัด ขนาด 100 และ 500 mg/kg แก่หนูถีบจักร เป็นเวลา 10 วัน หลังจากนั้นฉีด Indian ink (สารคอลลอยด์คาร์บอน) แก่หนูในขนาด 0.3 ml ต่อ 30 กรัม ที่เส้นเลือดบริเวณหาง จากนั้นจึงเก็บเลือดเพื่อนำมาหาค่าดัชนีการเก็บกินสิ่งแปลกปลอม หรือฟาโกไซโทซิส (phagocytic index) ผลการทดสอบพบว่าค่าชี้วัดกระบวนการฟาโกไซโทซิสของ สารสกัดทั้ง 2 ขนาด มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีค่า phagocytic index ของกลุ่มควบคุม, สารสกัดขนาด 100 และ 500 mg/kg เท่ากับ 0.0175±0.0018, 0.0423±0.0027, 0.0416±0.0016 ตามลำดับ แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมทำงานได้เพิ่มขึ้น โดยสารสกัดขนาดต่ำ (100 mg/kg) ออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดขนาดสูง (500 mg/kg) (Patel, et al., 2010)

      การทดสอบอัตราการเสียชีวิตของสัตว์ทดลอง (Mice lethality test) โดยดูอัตราการเสียชีวิตของหนูถีบจักรหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียก่อโรค Pasteurella multocida ทดสอบโดยการป้อนสารสกัดเมทานอลที่ได้จากผลมะตูมขนาด 100 mg/kg และ 500 mg/kg แก่หนูเป็นเวลา 21วัน ในระหว่างนั้นมีการให้วัคซีนแก่หนูในวันที่ 7 และ 17 จากนั้นในวันที่ 21 ฉีดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคจำนวน 0.2 มิลลิลิตร แก่หนู แล้วสังเกตอัตราการตายเป็นเวลา 72 ชั่วโมง พบว่ามีค่าร้อยละอัตราการเสียชีวิต ของกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัดและวัคซีน, กลุ่มที่ได้รับเฉพาะวัคซีน, กลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 100 mg/kg และวัคซีน, และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 500 mg/kg และวัคซีน เท่ากับ 100, 83.33, 66.66, และ 66.66% ตามลำดับ สรุปได้ว่าการได้รับสารสกัดทำให้อัตราการตายของหนูลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับเฉพาะวัคซีนแต่ไม่ได้รับสารสกัด แสดงว่าสารสกัดมีผลกระตุ้นการสร้างแอนติบดีเพื่อมาต่อต้านเชื้อโรคได้ จึงทำให้หนูตายลดลง  จากผลการทดสอบทั้งหมดสรุปได้ว่าสารสกัดเมทานอลจากผลมะตูมมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ทั้ง cellular immunity (กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวและขบวนการฟาโกไซโตซิส) และ humural immunity (กระตุ้นระบบการตอบสนองภูมิคุ้มกันโดยการสร้างแอนติบอดี) (Patel, et al., 2010)

ฤทธิ์ลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่

       ทำการทดสอบในหนูขาว โดยป้อนสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากที่หนูได้รับกรดอะซิติก (เหนี่ยวนำให้เกิดลำไส้อักเสบ) จากนั้นดูความเสียหายต่อเยื่อเมือกลำไส้ใหญ่ (colonic mucosal damage) รายงานผลเป็นคะแนนความเสียหาย (damage score) ในช่วง 0-10 คะแนน ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มควบคุม (ได้รับเฉพาะกรดอะซิติก) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 400 mg/kg ร่วมกับกรดอะซิติก มีค่าคะแนนความเสียหาย เท่ากับ 5.78±0.22 และ 1.33±0.21 คะแนน ตามลำดับ การได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกทำให้คะแนนความเสียหายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ผลของ adhesions (บ่งบอกถึงภาวะการอักเสบ) รายงานผลในหน่วยร้อยละ พบว่ากลุ่มควบคุม (ได้รับเฉพาะกรดอะซิติก) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 200 mg/kg ร่วมกับกรดอะซิติก มีค่า % adhesionsเท่ากับ 66.7 และ 33.3 % ตามลำดับ จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดจากผลมะตูมมีผลทำให้การอักเสบของลำไส้ใหญ่ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยกรดอะซิก มีการอักเสบลดลงได้ เนื่องจากมีค่าคะแนนความเสียหาย และร้อยละการอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Gautam, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

      การทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองของสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่พบบริเวณลำไส้ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Shigella sonnei, Shigella boydii และ Shigella flexneri ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดจากผลมะตูมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อทั้ง 4 ชนิดได้ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ต่อเชื้อ E. coli  และS. boydiiเท่ากับ 12.5 mg/ml และมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อ S. sonnei และS. flexneri เท่ากับ 25 mg/ml  (Gautam, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และผลยับยั้งเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส (ลดการอักเสบ)

       ทดสอบในหนูขาว โดยป้อนสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ขนาด 200 mg/kg แก่หนู วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากที่หนูได้รับกรดอะซิติกแล้ว ผลต่ออนุมูลอิสระ (free-radicals) การได้รับกรดอะซิติก ทำให้เกิดขบวนการออกซิเดชันของไขมัน (lipidperoxidation) และระดับของไนตริกออกไซด์ (NO) เพิ่มขึ้นที่เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นสารที่บ่งบอกภาวะการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่าเมื่อหนูได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของ NO และ lipidperoxidation ลดลงจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับ lipidperoxidation และ NO ของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 10.98±0.77และ 9.95±0.60 nmol/mg proteinตามลำดับ เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกระดับของ NO และ lipidperoxidation ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 7.11±0.61 (p<0.001) และ 4.66±0.34 nmol/mg protein (p<0.001) ตามลำดับ

      ผลต่อเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าการได้รับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase (SOD), reduced glutathione (GSH) และ catalase (CAT)  ลดลงจากระดับปกติ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระทั้ง 3 ชนิด เพิ่มขึ้นจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ 3 ชนิด ได้แก่ SOD, GSH และ CATของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 24.8±3.82 mU/mg protein, 7.18±0.63 nmol/mg protein และ 0.96±0.15 mU/mg protein ตามลำดับ เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติกระดับของเอนไซม์ทั้งสามชนิด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 180.1±29.8 mU/mg protein (p<0.001), 10.22±0.45 nmol/mg protein (p<0.01) และ1.67±0.11mU/mg protein(p<0.001) ตามลำดับ

      ผลการตรวจวัดระดับเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส (myeloperoxidase; MPO) (เป็นเอนไซม์ที่พบในแกรนูลซึ่งอยู่ภายในเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล ใช้บ่งบอกภาวะที่มีการอักเสบ) พบว่าการได้รับกรดอะซิติก ทำให้ระดับของเอนไซม์ MPO สูงมากขึ้น ผลทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากผลมะตูม ร่วมกับกรดอะซิติก มีระดับเอนไซม์ MPO ลดลงจนกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ ระดับเอนไซม์ MPO ของหนูที่ได้รับเฉพาะกรดอะซิติกเท่ากับ 74.0±3.55 mU/mg protein เมื่อได้รับสารสกัดร่วมกับกรดอะซิติก ระดับของเอนไซม์ MPO ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 15.6±2.47 mU/mg protein (p<0.001)

       โดยสรุปการได้รับสารสกัด 50% เอทานอล ที่ได้จากผลมะตูม ทำให้ปริมาณอนุมูลอิสระลดลง ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และระดับเอนไซม์ไมอีโลเพอร์ออกซิเดส ที่บ่งบอกภาวะการอักเสบลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Gautam, et al., 2013)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ไม่มีข้อมูล

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Gautam MK, Ghatule RR, Singh A, Purohit V, Gangwar M, Kumar M, et al. Healing effects of Aegle marmelos(L.) Correa. fruit extract on experimental colitis. Indian J Exp Biol. 2013;51:157-164.

2. Patel P, Mohammed S, Asdaq B. Immunomodulatory activity of methanolic fruit extract of Aegle marmelos in experimental animals. Saudi Pharmaceutical Journal. 2010;18:161–165.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาตรีเกสรมาศ        : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 49
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่