เร่ว

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เร่ว

ชื่อเครื่องยา เร่ว
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา เร่วหอม
ได้จาก เมล็ด
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา เร่วน้อย เร่วใหญ่
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) เร่วน้อย มีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ เร่วดง (ตราด) ผาลา (ฉาน เชียงใหม่) มะหมากอี มะอี้ (เชียงใหม่) เร่ว (ภาคกลาง) เร่วใหญ่ (มีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ เร่ว มะอี้ หมากอี้ หมากเน็ง หมากแหน่ง-อีสาน เร่วกระวาน กระวานป่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ เร่วน้อย Amomum villosum Lour. , เร่วใหญ่ Amomum xanthioides Wall. ex Baker
ชื่อพ้อง ชื่อพ้องของเร่วน้อย ได้แก่ Amomum echinosphaera K.Schum., Cardamomum villosum (Lour.) Kuntze, Elettaria villosa (Lour.) Miq., Zingiber villosum (Lour.) Stokes ชื่อพ้องของเร่วใหญ่ ได้แก่ Amomum villosum var. xanthioides
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เร่วน้อย ผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขน ผลแก่สีน้ำตาลแดง มีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลม   หรือกลมรี มี 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 3-15 เมล็ด อยู่เรียงแน่น 3-4 แถว เมล็ดรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและเป็นสันนูน กว้าง 2-3 มม. ยาว 2.5-4 มม. สีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวนอกเรียบมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นเด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดซ่าและขมเล็กน้อย

         เร่วใหญ่ ผลเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีขนอ่อนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ภายในมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10-20 เมล็ด ลักษณะเหมือนเร่วน้อย ผลมีรสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว เมล็ด รสร้อนเผ็ดปร่า
 

เครื่องยา เร่ว

 

เครื่องยา เร่ว

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           เร่วน้อย ผลต้องใหญ่ แข็ง มีเนื้อมาก เนื้อในเมล็ดสีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมฉุนมาก
           เร่วใหญ่ ผลใหญ่ แข็ง สีเทา เนื้อในสีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมฉุน

          ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 9% w/w (เมล็ด),  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 3% w/w (เมล็ด), ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.6 มิลลิลิตร (ในเมล็ด 30 กรัม) (เภสัชตำรับเกาหลี)


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ผลเร่วน้อย รสร้อนเผ็ดปร่า แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้หืดไอ เสมหะ แก้ระดูขาว แก้ไข้สันนิบาต เมล็ดเร่วน้อย รสร้อนเผ็ดปร่า ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ ปวดท้อง แก้คลื่นเหียน อาเจียน แก้ริดสีดวง หืดไอ กัดเสมหะ แก้ไข้สันนิบาต ขับน้ำนม ผลเร่วใหญ่ รสมันเฝื่อนติดเปรี้ยว แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ แก้ริดสีดวงทวารทั้ง 9 รักษาอาการขัดในทรวง บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องอืดเฟ้อจุกเสียด แก้ปวดท้อง แก้มุตกิดระดูขาว แก้หืดไอ แก้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี แก้โลหิตขึ้นเบื้องสูง แก้ไข้สันนิบาต ขับผายลม ทำให้เรอ เมล็ดเร่วใหญ่ รสร้อนเผ็ดปร่า ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับน้ำนมหลังคลอด แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ลดไขมันในเลือด ลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ แก้ริดสีดวง หืดไอ  ขับเสมหะ แก้ความดันโลหิตต่ำ แก้ไข้สันนิบาต
           ตำรายาไทยแผนโบราณ: ผลเร่วจัดอยู่ใน “พิกัดทศกุลาผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มี ชะเอมทั้งสอง (ชะเอมเทศ, ชะเอมไทย), ลูกผักชีทั้งสอง (ผักชีล้อม, ผักชีลา), อบเชยทั้งสอง (อบเชยเทศ, อบเชยไทย) ลำพันทั้งสอง (ลำพันแดง, ลำพันขาว) และลูกเร่วทั้งสอง (เร่วน้อย, เร่วใหญ่) มีสรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้

         บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของลูกเร่วหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

         ตำรายาไทยจีน: ใช้เร่วน้อย และเร่วใหญ่ ขับลม บรรเทาอาการท้องเสีย และครรภ์รักษา แก้อาการอาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ โดยใช้เมล็ดบดเป็นผง ครั้งละประมาณ 7-8 กรัม ชงกับน้ำขิงต้ม ใช้ดื่มบ่อยๆ แก้อาการเป็นพิษ โดยใช้ผง ชงกับน้ำอุ่นดื่ม บำรุงธาตุ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง โดยใช้เมล็ดเร่ว ผสมกับหัวแห้วหมู รากชะเอมและขิงแห้งร่วมกัน แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยใช้ผลเร่วแห้งหนัก 7-8 กรัม รางไฟจนแห้งกรอบแล้วบดเป็นผงชงน้ำรับประทานบ่อยๆ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด นำเมล็ดในจากผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

องค์ประกอบทางเคมี:
           เมล็ดมีน้ำมันระเหยง่ายมากกว่าร้อยละ 3 องค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ camphor, borneol, bomyl acetate, linalool, nerolidol, p-methyloxy-trans ethylcinnamate และพบ saponin 0.69%

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

       ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากเมล็ดเร่วใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley  โดยการป้อนสารสกัดพืชแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที ป้อน 60% ethanol ใน 150 mM HClปริมาณ 0.5 ml/100g เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หลังจากหนูได้รับ HCl-ethanol แล้ว 1 ชั่วโมง จึงแยกกระเพาะอาหารออกมาศึกษา ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 (150 mg/kg) และส่วนสกัดย่อยที่ 6 (100 mg/kg) ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอล ทำให้ขนาดแผลในกระเพาะอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่า lesion index เท่ากับ 5.6±0.56** และ 23.8±1.97* ตามลำดับ  (*p<0.05, **p<0.01 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) โดยส่วนสกัดย่อยทั้งสองชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน cimetidine (lesion index เท่ากับ 25.6±2.12*) (Lee, et al.,2007)

ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด

       ผลยับยั้งการหลั่งกรดในหนูที่ผ่านการทำ pyrolic ligation (ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลาย) เพื่อกระตุ้นการหลั่งกรด และตัดกระเพาะอาหารออกมาศึกษา พบว่าสารสกัดบิวทานอล (350 mg/kg) และสารสกัดเอทานอล (1,000 mg/kg) จากเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถลดปริมาณกรดรวมในกระเพาะอาหารได้ โดยมีค่าปริมาณกรดรวม (total acid output) เท่ากับ 42.73±3.89 และ 54.67±10.58 mEq/mL ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน cimetidine (total acid output เท่ากับ 19.65±5.39 mEq/mL) (Lee, et al.,2007)

ฤทธิ์ในยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter  pylori

       เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter  pylori เป็นสาเหตุหลักในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหารได้ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเชื้อ H. pylori  ได้ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) เท่ากับ 1.43 μg/ml เทียบเท่ากับยามาตรฐาน ampicillim (MIC เท่ากับ 1.00 μg/ml) (Lee, et al.,2007)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร

       ทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร 3 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ AGS, KATO III และ SNU638 ผลการทดสอบพบว่าส่วนสกัดย่อยที่ 4 ที่แยกจากสารสกัดบิวทานอลของเมล็ดเร่วใหญ่ สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดได้ ที่ความเข้มข้น 1.0 และ 0.5 p.g/mL ภายหลังจากการสัมผัสสารทดสอบที่เวลา 24 และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ (Lee, et al.,2007) โดยสรุปสารสกัดจากเร่วสามารถนำไปพัฒนาในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และมะเร็งกระเพาะอาหารได้

ฤทธิ์ปกป้องตับ

       ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดน้ำจากเร่วใหญ่ ในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley  ให้หนูได้รับสารไดเมททิลไนโตรซามีน (DMN) ขนาด 10 mg/kg โดยการฉีดเข้าช่องท้อง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดตับอักเสบกึ่งเรื้อรัง ร่วมกับการป้อนสารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 50 หรือ 100 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม โดยให้วันละครั้ง เป็นระยะเวลานาน 3 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำตับ และเลือดมาศึกษา ผลการศึกษาพบว่าการให้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ในขนาด 100 mg/kg สามารถลดระดับของเอนไซม์ตับ ซึ่งบ่งบอกภาวะการอักเสบของตับลดลง โดยมีปริมาณที่ตรวจพบในซีรัมดังนี้ alanine aminotransferase (123.6±39.9IU/L*), aspartate aminotransferase (227.9±69.6 IU/L**), alkaline phosphatase (820.9±360.9 IU/L*) และ total bilirubin (0.50±0.50g/dL*) (**p<0.01, * p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN) การตรวจสอบในเนื้อเยื่อตับ พบว่าปริมาณสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงได้แก่ malondialdehyde (MDA) โดยมีปริมาณเท่ากับ 53.6±9.1 μM/g tissue) มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01) และลดการสะสมของคอลลาเจนในเซลล์ตับ วัดจากปริมาณ hydroxyproline มีค่าเท่ากับ 30.5 6.9 mg/g tissue ซึ่งมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN (p<0.01)  นอกจากนี้สารสกัดน้ำจากเร่วหอม ยังมีผลช่วยให้ระดับของสารต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อตับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีปริมาณของ total antioxidant capacity (2.54±0.14μM/mg tissue), superoxide dismutase (0.30±0.04U/mg tissue), glutathione (2.10±0.52μM/mg tissue) และ catalase (605.0±103.9 U/mg tissue) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะ DMN) (Wang, et al., 2013) โดยสรุปสารสกัดน้ำจากเร่วหอมมีผลปกป้องตับอักเสบเรื้อรังในหนู ผ่านกลไกของการต้านอนุมูลอิสระ

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

        ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดในหลอดทดลอง ของสารสกัด 50% เอทานอล จากเมล็ดแห้งเร่วใหญ่ โดยวัดจากการนำกลูโคสกลับเข้าเซลล์ไขมันเพาะเลี้ยง ชนิด 3T3-L1 ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเมล็ดเร่วหอมในขนาด 0.5 mg/ml สามารถกระตุ้นการนำกลูโคสกลับเข้าเซลล์ไขมัน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) โดยคิดเป็น 3.4 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีสารสกัด และเมื่อใช้สารสกัดขนาด 0.02, 0.1 และ 0.5 mg/ml ร่วมกับฮอร์โมนอินซูลิน (10 µmol/l) พบว่าสามารถเพิ่มการนำกลูโคสกลับเข้าเซลล์ได้ 1.3, 1.6 และ 1.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเฉพาะอินซูลินโดยไม่มีสารสกัด จากการศึกษาสามารถยืนยันฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดแห้งเร่วหอมในหลอดทดลอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการพัฒนายาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ (Kang and Kim, 2004)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           สารสกัดแอลกอฮอล์จากผลแห้งแก่ของเร่วใหญ่ แก่หนูถีบจักรกินในขนาด 32 กรัม/กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับ 16,000 เท่าในคน และเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบอาการพิษ

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Kang Y, Kim HY. Glucose uptake-stimulatory activity of Amomi Semen in 3T3-L1 adipocytes. J Ethnopharmacology. 2004;92:103-105.

2. Lee YS, Kang MH, Cho SY, Jeong CS. Effects of constituents of Amomum xanthioides on gastritis in rats and on growth of gastric cancer cells. Arc Pharm Res. 2007;30(4):436-443.

3. Wang J-H, Wang J, Choi M-K, Gao F, Lee D-S, Han J-M, et al. Hepatoprotective effect of Amomum xanthoides against dimethylnitrosamine-induced sub-chronic liver injury in a rat model. Pharm Biol. 2013;51(7):930-935.

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม        phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 65
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่