ลูกจันทน์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ลูกจันทน์

ชื่อเครื่องยา ลูกจันทน์
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา หน่วยสาน
ได้จาก เมล็ดแห้ง (จากผลสุก)
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา จันทน์เทศ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ลูกจันทน์ จันทน์บ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt.
ชื่อพ้อง Aruana silvestris Burm.f., Myristica aromatica Sw., Myristica moschata Thunb., Myristica officinalis L.f., Palala fragrans (Houtt.) Kuntze
ชื่อวงศ์ Myristicaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เมล็ดรูปรี  ขนาดยาว 2-4 เซนติเมตร  เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร  ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน  มันวาว มีลายริ้วที่เมล็ด ผลที่สุกแล้วเอาส่วนรก(ดอกจันทน์) และเปลือกเมล็ดออก  เปลือกเมล็ดจะแข็งแต่เปราะ ภายในคือส่วนของเนื้อในเมล็ด เมื่อผ่าดูจะเห็นเนื้อเป็นรอยย่นตามยาวของเมล็ด ส่วนเมล็ดเมื่อทำแห้งเรียก “ลูกจันทน์เทศ” มีกลิ่นแรง  หอมเฉพาะ  รสขม  ฝาด  เปรี้ยว เผ็ดร้อน

 

เครื่องยา ลูกจันทน์

 

เครื่องยา ลูกจันทน์

 

เครื่องยา ลูกจันทน์

 

 

เครื่องยา ลูกจันทน์ (เมล็ด) และ ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด สีแดง)


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
            ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w (เภสัชตำรับจีน)  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 1% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 3% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.5% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 11% w/w  ปริมาณสารสกัดอีเทอร์ ไม่น้อยกว่า 25% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 7% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 5% v/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ลูกจันทน์ ใช้แก้ธาตุพิการ  บำรุงกำลัง  แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ  แก้จุกเสียด  ขับลม  รักษาอาการอาหารไม่ย่อย  คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย แก้บิด แก้กำเดา  แก้ท้องร่วง  แก้ร้อนใน  กระหายน้ำ  แก้เสมหะโลหิต แก้ปวดมดลูก  และบำรุงโลหิต  เปลือกเมล็ด รสฝาดมันหอม สมานบาดแผลภายใน แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง
           ประเทศอินโดนีเซีย: ใช้ลูกจันทน์เทศรักษาอาการท้องเสีย  และนอนไม่หลับ
           ตำรายาไทย: ปรากฏการใช้จันทน์เทศใน “พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร มี 3 อย่างคือ ผลจันทน์เทศ ผลผักชีล้อม และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต “พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลจันทน์เทศ ผลเร่วใหญ่ และกานพลู สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ลูกจันทน์ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ, ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ, ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา, ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของลูกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. ขับลม
              ใช้เมล็ด(ลูกจันทน์) 1-2  เมล็ด บดเป็นผงละเอียด ชงน้ำดื่มครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน ติดต่อกัน แก้อาการท้องอืด เฟ้อ ขับลม
           2. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
              ใช้ลูกจันทน์ 1-2 เมล็ด ทุบเอาเปลือกออก ย่างไฟพอเหลือง ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่ม

 

องค์ประกอบทางเคมี:
           น้ำมันหอมระเหย :  5-15%  ประกอบด้วย  d-camphene 60-80%, myristicin 4-8%, elemicin 2%, alpha และ beta-pinenes 35%, safrole (1-2.1%)   

           น้ำมันระเหยยาก : 20-40%  ประกอบด้วย  myristic  acid 60%
           สารกลุ่ม  lignans  และ  neolignans
 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ

      การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ Helicobacter pylori  จำนวน 39สายพันธุ์ โดยใช้สารสกัดเมล็ดจันทน์เทศด้วยตัวทำละลาย dichloromethane และ methanol ในขนาด 500 mg/kg และ 250 mg/kg ทำการทดสอบในหนูแรท ที่เหนี่ยวนำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบด้วยเชื้อ H. pylori ผลการทดลองพบว่าค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดของ สารสกัดเมทานอล ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ (minimum inhibitory concentration (MIC) เท่ากับ 6.25 mg/ml การให้สารสกัดเมทานอล ขนาด 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ofloxacin 400 mg แล้วบันทึกค่าคะแนนความหนาแน่นของแบคทีเรีย H. pylori  ที่ผนังกระเพาะอาหาร พบว่าจากปริมาณเชื้อเริ่มต้น 5.0 ± 7.07 x 108 เมื่อให้สารสกัดจันทน์เทศ และยา ofloxacin ปริมาณเชื้อลดลงเหลือ 1.6 ± 1.4 x 104  และ  3.45 ± 1.4 x 104 CFU/mL (mean ± SD, p < 0.05) ตามลำดับ (Oyedemi, et al., 2014) 

ฤทธิ์ระงับปวด

      ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัด alkaloid จากเนื้อในเมล็ดจันทน์เทศในหนูถีบจักรเพศผู้และเพศเมีย โดยวิธี writhing test  โดยการฉีด 0.6% acetic acid เข้าไปในช่องท้องของหนูเพื่อกระตุ้นการปวด และสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู จากการศึกษาพบว่า สารสกัด alkaloids ในเมล็ดจันทน์เทศ ขนาด 1 g/kg มีฤทธิ์ระงับปวด ได้อย่างมีนัยสำคัญในหนูเพศเมีย แต่ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูเพศผู้  ขณะที่สารสกัด alkaloid ในเมล็ดจันทน์เทศขนาด 0.5 g/kg ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในหนูทั้งสองเพศ ค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง หรือ LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg จากการสังเกตพฤติกรรมพบว่าเมื่อให้สารสกัดขนาด 4 g/kg หรือสูงกว่า จะทำให้หนูมีกิจกรรมลดลง การเดินไม่มั่นคง เกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังได้รับสารสกัด โดยสรุปสารสกัดอัลคาลอยด์จากเมล็ดในจันทน์เทศมีฤทธิ์ลดปวดได้ โดยมีความเป็นพิษเล็กน้อย (Hayfaa, et al, 2013)

     การศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดอักเสบเรื้อรังของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ทดสอบในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ โดยใช้ Complete Freund’s adjuvant (CFA) ซึ่งเป็นเชื้อที่แห้งและตายด้วยความร้อน ใช้เป็นสารเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่ข้อในหนูขาว โดยให้ CFA ภายหลังจากที่หนูแต่ละกลุ่มได้รับน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดจันทน์เทศ ในขนาดต่ำ 10 mg/kg ต่อวัน หรือขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 30 mg/kg ต่อวัน ทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบโดยดูจากการบวมที่อุ้งเท้าหนู และประเมินฤทธิ์ลดอาการปวดจากพฤติกรรมการเดินของหนูในระยะทางที่กำหนด (pain score test) บันทึกผลทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าในสัปดาห์ที่ 3 หลังให้น้ำมันลูกจันทน์เทศ ในขนาดสูง 20 mg/kg ต่อวัน มีผลลดการบวม และการปวดได้มากกว่ายามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันลูกจันทน์เทศ และยามาตรฐาน diclofenac sodium ลดการบวมได้เท่ากับ 41.90 และ 35.52% ตามลำดับ (p<0.05) โดยมีคะแนนการปวด (pain score) เท่ากับ 1.46±0.19 และ 1.625±0.25 ตามลำดับ (p<0.05) และทำให้การแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลดลงในสัปดาห์ที่ 2 และสามารถลด substance P (สารที่สร้างเมื่อมีการอักเสบ) ในเลือดได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาน้ำมันลูกจันทน์เทศให้เป็นยาระงับอาการปวดเรื้อรังได้ (Zhang, et al., 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ

       ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มฟีนอลิคที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ทำการทดสอบฤทธิ์ต่อการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในขบวนการอักเสบ ที่ถูกกระตุ้นโดยไลโปโพลีแซคค์คาไรด์ (LPS) ในเซลล์ของแมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ผลการศึกษาพบว่าสาร 1-(2,6-dihydroxyphenyl)-9-(3,4-dihydroxyphenyl)-1-nonanone (malabaricone C) ที่แยกได้จากจันทน์เทศ ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO)โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.3±0.4 µM  นอกจากนี้สารบริสุทธิ์ 3 ชนิดได้แก่ สารชนิดที่ 1 คือ (+)-erythro-(7S,8R)-∆8'-7-acetoxy-3,4,3',5'-tetramethoxy-8-O-4'-neolignan สารชนิดที่ 2 คือ erythro-(7S,8R)-7-(4-hydroxy-3-methoxypheny1)-8-[2'-methoxy-4'-(E)-propenyl) phenoxy] propan-7-ol และสารชนิดที่ 3คือ ((8R,8'S)-7-(4-hydroxy-3-methoxyphenyl)-8'-methylbutan-8-yl)-3'-methoxybenzene-4',5'-diol ออกฤทธิ์ในระดับปานกลาง ในการยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 24.5±2.5, 25.0±3.1 และ 32.5±2.2 µM  ตามลำดับ (สารมาตรฐาน celastrol มีค่า IC50 เท่ากับ 1.0±0.1 µM ) จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ  (Cuong, et al., 2011)

      การทดสอบสารในกลุ่ม neolignans ชนิด dihydrobenzofuran จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ licarin B (1), 3҆-methoxylicarin B (2), myrisfrageal A (3), isodihydrocainatidin (4), dehydrodiisoeugenol (5) และ myrisfrageal B (6) ซึ่งแยกได้จากเมล็ดแห้งสุกของจันทน์เทศ ผลการทดสอบพบว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 6 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 53.6, 48.7, 76.0, 36.0, 33.6 และ 45.0 ไมโครโมล ตามลำดับ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin และ L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 65.3 และ 27.1 ไมโครโมล ตามลำดับ นอกจากนี้สาร 3, 5 และ 6 สามารถยั้บยั้งการทำงานของ nitric oxide synthase (iNOS) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ได้ ซึ่งจะยับยั้งการสร้าง nitric oxide ในปริมาณที่มากเกินไป ด้วยวิธีการยับยั้งการแสดงออกของ  iNOS mRNA จากการศึกษา จึงสรุปได้ว่า สารประกอบ (1)-(6) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Cao, et al, 2013)

      สาร neolignans ชนิด 8-O-4҆   จำนวน 5 ชนิด คือ myrifralignan A–E (1–5) และอนุพันธ์อีก 5 ชนิด (6-10) แยกได้จากเมล็ดของจันทน์เทศ โดยสาร 3-10 แสดงฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ของหนู ซึ่งถูกกระตุ้นโดย lipopolysaccaride โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง หรือ IC50 เท่ากับ 47.2 ± 1.1, 49.0 ± 1.0, 32.8 ± 2.7, 48.3 ± 1.4, 21.2 ± 0.8, 48.0 ± 1.2, 49.8 ± 1.9 และ 18.5 ± 0.5 µM ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน  L-N6-(1-iminoethyl)-lysine เท่ากับ 27.1 ± 2.2 µM และ indomethacin เท่ากับ 65.3 ± 6.7 µM สาร myrislignan (7) และ machilin D (10) มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง  nitric oxide (NO) สูงที่สุดโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 21.2 และ 18.5 µM ตามลำดับ ซึ่งสารทั้งสองมีฤทธิ์ยับยั้งที่สูงกว่าสารมาตรฐาน L-N6-(1-iminoethyl)-lysine ซึ่งเป็น selective inhibitor ของ nitric oxide synthase (IC50 = 27.1 ไมโครโมล) นอกจากนี้ สาร neolignans ยังสามารถยับยั้งการแสดงออกของ  nitric oxide synthase ใน mRNA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นสาร neolignans ชนิด 8-O-4҆   มีแนวโน้มเป็นสารยับยั้งการอักเสบได้ (Cao, et al, 2015)

ฤทธิ์ระงับความกังวล

       สารสกัดเฮกเซน (MF), สารสกัดส่วนที่ไม่ละลายในอะซิโตนที่แยกจากสารสกัดเฮกเซน (AIMF) และสารบริสุทธิ์  trimyristin (TM) ที่ได้จากเมล็ดจันทน์เทศ ถูกนำมาทดสอบฤทธิ์คลายความกังวล โดยใช้ MF ในขนาด 10 และ 30 mg/kg, AIMF ในขนาด 30, 100 และ 300 mg/kg และ TM ในขนาด 10, 30 และ 100 mg/kg ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรเพศผู้ เพื่อดูฤทธิ์คลายกังวล โดยใช้วิธี elevated plus-maze (EPM), open-field test และ hole-board test จากการทดสอบ EPM test ซึ่งเป็นการทดสอบความกลัวและวิตกกังวลของหนู เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายในอุปกรณ์ที่จัดทำขึ้น ภายหลังการได้รับสารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นประเมินระยะเวลาที่หนูเข้าไปใน open arm หรือใช้เวลาใน open arm ภายในเวลา 5 นาที ผลการทดสอบพบว่า MF, AIMF และ TM มีฤทธิ์ระงับความกังวล ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน diazepam (ฉีดเข้าช่องท้องหนู ในขนาด 1 mg/kg) โดย TM ออกฤทธิ์สูงสุด ส่วนการทดลอง open-field test และ hole board apparatus ที่เหนี่ยวนำให้หนูมีความวิตกกังวล ด้วยวิธีนำหนูใส่กล่องไม้ในพื้นที่จำกัด และมีแสงขนาด 40 วัตต์ และวิธีนำหนูใส่ในกล่องไม้เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3  ซม. จำนวน 16 รู  บันทึกเวลาที่หนูใช้ในการออกจากกล่อง จำนวนครั้งที่หนูโผล่ศีรษะออกมา และพฤติกรรมต่างๆ โดยให้สารทดสอบแล้ว 30 นาที จากนั้นจึงนำหนูใส่ในกล่องทดสอบ พบว่า AIMF และ TM สามารถลดความวิตกกังวลของหนูได้ (Sonavane, et al, 2002)

ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

      ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง ของสารกลุ่มนีโอลิกแนน erythro-(7S,8R)-7-acetoxy-3,4,3`,5`-tetramethoxy-8-O-4`-neolignan (EATN) ที่แยกได้จากเมล็ดจันทน์เทศต่อเกล็ดเลือดของคน ผลการทดสอบพบว่า สาร EATN มีฤทธิ์ในการยับยั้ง thrombin (thrombin ทำหน้าที่เปลี่ยน fibrinogen ไปเป็น fibrin ซึ่งจะมีบทบาทในการสร้างลิ่มเลือดในขั้นตอนการแข็งตัวของเลือด) และ platelet activating factor (PAF) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.2±0.4 และ 3.4±0.3 µM ตามลำดับ นอกจากนั้นยังยับยั้งการหลั่ง ATP, serotonin และ thromboxane B2 ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย thrombin โดยผ่านกลไกการเพิ่มระดับ cyclic AMP (cAMP) ส่งผลต่อการยับยั้ง Ca2+ ที่จะเคลื่อนที่เข้าไปภายในเซลล์ และลดการกระตุ้นการรวมตัวของเกล็ดเลือดตามมา โดยสรุปสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากจันทน์เทศสามารถนำไปศึกษาเชิงลึกถึงกลไกการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเพื่อนำไปพัฒนายาที่ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ต่อไป (Kang, et al., 2013)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล
           
การศึกษาทางพิษวิทยา:
           1. การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 12,500 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)

           2. การศึกษาการเกิดพิษของ myristicin ที่พบในผลจันทน์เทศพบว่ามีรายงานการเกิดอาการประสาทหลอนอาการผิดปกติทางระบบประสาท ขนาดที่ทำให้เกิดพิษ คือผงจันทน์เทศ 5 กรัม เทียบเท่ากับสาร myristicin1-2 กรัม อาการจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับขนาดยาดังกล่าวภายใน 3-6 ชั่วโมง และอาการคงอยู่ถึง 72 ชั่วโมง และหากได้รับในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งพบว่าการเกิดพิษดังกล่าวเกิดจากสารที่ได้จากระบวนการเมตาบอลิซึม คือ 3-methoxy-4,5- methylendioxyamphetamine (MMDA)(Rahman, et al., 2015)

           3. การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ จากลูกจันทน์เทศ (สกัดใน 70% ethanol : distilled water ) ในขนาด 2, 3, 4, 5 และ 6 g/kg ทางปาก พบว่า มีค่า LD50 เท่ากับ 5.1 g/kg หนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 4 g/kg ขึ้นไป จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไป 72 ชั่วโมง โดยจะมีอาการเคลื่อนไหวได้ช้า เดินเซ ปวดศีรษะ ส่วนหนูถีบจักรที่ได้รับสารอัลคาลอยด์ตั้งแต่ 3 g/kg ลงไป ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติแต่อย่างใด (Hayfaa, et al, 2013)

           4. การบริโภค myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม ทำให้คนแสดงอาการผิดปกติด้านระบบประสาท  เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ประสามหลอน การบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้ การกินลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หัวใจเต้นผิดปกติ ปากแห้ง ชัก อาจถึงตายได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท  ฉะนั้นการใช้เครื่องยานี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
           5. น้ำมันจันทน์เทศจากลูกจันทน์ มีสาร safrole เป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นพิษต่อตับได้ จึงควรระวังในการใช้ไม่ให้มีสาร safrole เกิน 1% เพราะทำให้เกิดพิษได้
           6. หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจาก myristicin สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S-transferase ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอก

 

เอกสารอ้างอิง:

1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.

2. Cao G-Y, Xu W, Yang X-W, Gonzalez FJ, Li F. New neolignans from the seeds of Myristica fragrans that inhibit nitric oxide production. Food Chemistry. 2015;173:231–237.

3. Cao G-Y, Yang X-W, Xu W, Li F. New inhibitors of nitric oxide production from the seeds of Myristica fragrans. Food and Chemical Toxicology. 2013;62:167–171.

4. Cuong TD, Hung TM, Na MK, Ha DT, Kim JC, Lee D, et al. Inhibitory effect on NO production of phenolic compounds from Myristica fragrans. Bioorg Med Chem Lett. 2011;21:6884-6887.

5. HayfaaA Al-S, Sahar AAM A-S, Awatif M AI-S. Evaluation of analgesic activity and toxicity of alkaloids in Myristica fragrans seeds in mice. Journal of Pain Research. 2013;6:611-615. 

ุ6. Kang JW, Min B-S, Lee J-H. Anti-platelet activity of erythro-(7S, 8R)-7-acetoxy-3, 4, 3′, 5′-tetramethoxy-8-O-4′-neolignan from Myristica fragrans. Phyto Res. 2013;27:1694-1699.

7. Oyedemi TO, Lawal TO, Adeniyi BA.Effect of Myristica fragrans Houtt. seed (Nutmeg) on Helicobacter pylori  induced gastritis in albino rats: in vitro and in vivo studies. Int J Biol Chem Sci. 2014; 8(4):1355-1367.

8. Rahman NAA, Fazilah A, Effarizah ME.Toxicity of Nutmeg (Myristicin): A Review. International on advanced science engineering information technology.2015;5(3):61-64.

9. Sonavane GS, Sarveiya VP, Kasture VS, Kasture SB. Anxiogenic activity of Myristica fragrans seeds. Pharmacology Biochemistry and Behavior. 2002;71:239–244.

10. Zhang WK, Tao S-S, Li T-T, Li Y-S, Li X-J, Tang H-B, et al. Nutmeg oil alleviates chronic inflammatory pain through inhibition of COX-2 expression and substance P release in vivo. Food & nutrition research. 2016;60:1-10.

 

ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ         : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 213
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่