กานพลู
ชื่อเครื่องยา | กานพลู |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | ดอกตูม (ดอกที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่บาน) |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | กานพลู (Clove) |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | จันจี่ (เหนือ) ดอกจันทร์ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry) |
ชื่อพ้อง | Caryophyllus aromaticus L., Caryophyllus hortensis Noronha, Caryophyllus silvestris Teijsm. ex Hassk., Eugenia caryophyllata Thunb., Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison, Jambosa caryophyllus (Thunb.) Nied., Myrtus caryophyllus |
ชื่อวงศ์ | Myrtaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ดอกตูม ความยาว 1-2 เซนติเมตร สีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลดำ ส่วนล่างของดอก (hypantium) มีลักษณะแข็ง ทรงกระบอก ที่มีความแบนทั้ง 4 ด้าน มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 อัน รูปสามเหลี่ยม อยู่สลับหว่างกับกลีบดอก 4 กลีบ ลักษณะเป็นแผ่นบางรวมอยู่ตรงกลาง ข้างในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก และเกสรตัวเมีย 1 อัน ผงยามีสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นเฉพาะ หอมแรง เป็นยาร้อน มีรสเผ็ดร้อน ฝาด ทำให้ลิ้นชา
เครื่องยา กานพลู
เครื่องยา กานพลู
เครื่องยา กานพลู
เครื่องยา กานพลู
เครื่องยา กานพลู
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ข้อมูลจาก WHO กำหนดปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมในดอกที่บานแล้ว ผลและก้านดอก ไม่เกิน 4% w/w และดอกตูมที่เสียแล้วไม่เกิน 2% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.5% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 15% w/w เภสัชตำรับอินเดีย ระบุว่าปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 3% w/w ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่น้อยกว่า 9% w/w เภสัชตำรับของญี่ปุ่นกำหนดให้มีปริมาณสาร eugenol ไม่น้อยกว่า 12.8 % w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ดอก รสเผ็ด กระจายเสมหะ แก้เสมหะเหนียว แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก แก้หืด เป็นยาทำให้ร้อนเมื่อถูกผิวหนังทำให้ชา เป็นยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้ปวดท้อง มวนในลำไส้ แก้ลม แก้เหน็บชา แก้พิษโลหิต พิษน้ำเหลือง ขับน้ำคาวปลา ทำอุจจาระให้ปกติ แก้ธาตุทั้ง 4 พิการ แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แก้ท้องเสีย ขับผายลม กดลมให้ลงสู่เบื้องต่ำ แก้สะอึก แก้ซางต่างๆ ขับระดู น้ำมันกานพลู (Clove oil) เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน โดยใช้สำสีชุบนำมาอุดที่ฟัน ระงับการกระตุก ตะคริว ขับผายลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ผสมยากลั้วคอ แต่งกลิ่นอาหาร แต่กลิ่นสบู่ ยาสีฟัน ดับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้า ไล่ยุง
ตำรายาไทย: มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน ”พิกัดตรีพิษจักร” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร 3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ”พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม 3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา มีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของดอกกานพลู ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
1. แก้อาการ ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
ในผู้ใหญ่- ดอกตูม 4-6 ดอกใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก ต้มน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ ถ้าบดเป็นผง 0.12-0.6 กรัม ชงน้ำสุกดื่ม
เด็กอ่อน- ใช้ดอกแห้ง 1 ดอก ทุบแช่ไว้ในน้ำเดือด 1 กระติก (ความจุราวครึ่งลิตร) สำหรับชงนมใส่ขวดให้เด็กดูด แก้ท้องอืด
2. แก้ปวดฟัน
ใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มลงในรูที่ปวดฟัน และใช้แก้โรครำมะนาด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้ม หรืออุดที่ปวดฟัน
3. ระงับกลิ่นปาก
ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นลง
องค์ประกอบทางเคมี:
กานพลูมีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 14-23 ของน้ำหนักแห้ง มีองค์ประกอบหลักเป็นสารชื่อ “ยูจีนอล” (eugenol) ปัจจุบันนำมาใช้ทางทันตกรรม และใช้แก้ปวดฟัน
น้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสาร eugenol (60-95%), eugenol acetate (2-27%), alpha- และ beta-caryophyllene (5-10%), caryophyllene epoxide, benzyl alcohol, benzaldehyde, 1,8-cineol, humulene, humulene epoxide, carvacrol, thymol, cinnamaldehyde, trans-isoeugenol, eugenol, dehydrodieugenol และ trans-coniferyl aldehyde สารกลุ่ม flavonoids: quercetin, kaempferol, biflorin, rhamnocitrin, myricetin, rhamnetin, eugeniin สารกลุ่ม tannins: gallotannic acid 13%, gallic acid, ellagic acid, protocatechuic acid สารกลุ่ม terpenoids: oleanolic acid, crategolic acid สารอื่นๆ: polysaccharides, 5,7-dihydroxy-2-methylchromone 8-O- beta-D-glucopyranoside, vanillin, chromone ชื่อ eugenin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ระงับปวด
ศึกษาฤทธิ์ระงับอาการปวดของสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู โดยฉีดสารสกัดเอทาในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร สายพันธุ์ Swiss albino ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดกรดอะซิติกเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง (writhing) ซึ่งแสดงถึงอาการเจ็บปวด ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู สามารถระงับอาการปวดได้ร้อยละ 75, 66 และ 65 ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน piroxicam เมื่อฉีดให้หนูในขนาด 20 mg/kg ระงับอาการปวดได้ ร้อยละ 74 จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของดอกกานพลูในขนาดความเข้มข้น 50 mg/kg มีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้ดีที่สุด (Tanko, et al., 2008)
การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของ eugenol ในดอกกานพลู ทำการทดลองโดยให้ eugenol ขนาด 50, 75, 100 มก./กก. แก่หนูถีบจักร ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยกรดอะซีติก พบว่าสามารถลดอาการปวด (writhing) ของหนูได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดโดยป้อน eugenol ที่ความเข้มขัน 1-10 มก./กก. แก่หนู พบว่าการระงับปวดจะขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับ และมีฤทธิ์ระงับปวดอย่างน้อย 30 นาที และการศึกษาพบว่าฤทธิ์ระงับปวดที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องมาจาก eugenol มีฤทธิ์ในการยับยั้ง transient receptor potential vanilloid 1 (TRPV1) receptorsและ voltage-activated Na+ and Ca2+channels ซึ่งทั้งสองชนิดเกี่ยวข้องกับอาการปวดที่เกิดขึ้น (Kamatou, et al., 2012)
ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดไมเกรน
ทดสอบฤทธิ์บรรเทาอาการปวดไมเกรน ของน้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกกานพลูแห้ง และสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู ในสัตว์ทดลอง ฤทธิ์บรรเทาปวดทดสอบด้วยวิธี Tail flick test และ Hot plate test ฤทธิ์ในการทำให้นอนหลับ และผ่อนคลายทดสอบด้วยวิธี Sleeping time และ Muscle relaxant activity ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยวิธีลดการบวมของใบหูหนู (EPP-induced rat ear edema) และการลดการบวมของอุ้งเท้าหนู ด้วยวิธี Carrageenan-induced rat paw edema ผลการทดลองพบว่าน้ำมันดอกกานพลูขนาด 5% w/wใน Gel base และสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี Tail flick test (นำหางหนูวางบนแผ่นรวมแสง แล้วจับเวลาเพื่อดูการยกหางหนีจากความร้อน) และ Hot plate (นำหนูใส่ในบีกเกอร์ แล้ววางลงใน water bath ที่มีความร้อน สังเกตการยกเท้าขึ้นจากความร้อนของหนู) โดยใช้สาร serotonin และ capsaicin ในการเหนี่ยวนำให้เกิดความเจ็บปวดจากความร้อนที่มากกว่าปกติ โดยให้ serotonin ในขนาดความเข้มข้น 0.1 nmol/µl ในการเหนี่ยวนำ พบว่าสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้เช่นเดียวกับยา sumatriptan (ยารักษาไมเกรนกลุ่ม 5-HT agonist) ขนาด 100 mg/kg และเมื่อนำเซรั่มของสัตว์ทดลองมาวิเคราะห์หาระดับของสารสื่อประสาท serotonin (สารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอักเสบ เกิดอาการไมเกรนตามมา) โดยวิธี ELISA พบว่าสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 และ 750 mg/kg สามารถลดระดับของสารสื่อประสาท serotonin ที่บริเวณระบบประสาทส่วนปลายได้ เช่นเดียวกับยา sumatriptan ส่วนการใช้ capsaicin ในการเหนี่ยวนำ พบว่าสารสกัดดอกกานพลูขนาด 500 mg/kg สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้เช่นเดียวกับยา iIbuprofen ขนาด 100 mg/kg โดยที่ยา sumatriptan ไม่สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดที่เกิดจาก capsaicin ได้ ซึ่งอาจบอกได้ว่ากลไกของ sumatriptan และ capsaicin ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน น้ำมันดอกกานพลูทุกความเข้มข้น (1%, 7.5% และ 15% v/v) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถลดการบวมของใบหูของหนูได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี EPP-induced rat ear edema ในขณะที่สารสกัดจากดอกกานพลูขนาด 250, 500 และ 750 mg/kg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยสามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี carrageenan-induced rat paw edema นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการง่วง หลับ และคลายกล้ามเนื้อ เมื่อทำการทดสอบด้วยวิธี Sleeping time และ Muscle relaxant activity โดยสรุปน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดจากดอกกานพลูมีฤทธิ์ลดปวด ลดการอักเสบ และลดสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดไมเกรน และอาการข้างเคียง ซึ่งมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ในการรักษาในทางคลินิกได้ (กันยารัตน์, 2557)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู โดยฉีดสารสกัดเอทาในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg เข้าทางช่องท้องของหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ทั้งเพศผู้และเพศเมีย หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดฟอร์มาลีน เพื่อเหนี่ยวนำอาการบวมที่อุ้งเท้าหนู ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกกานพลู สามารถยับยั้งการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ร้อยละ 42, 45 และ 52 ตามลำดับ (p<0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม) สารมาตรฐาน diclofenacขนาด 25 mg/kg ลดการบวมได้ร้อยละ 11 จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของดอกกานพลูในขนาดความเข้มข้น 200 mg/kg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบดีที่สุด (Tanko, et al., 2008)
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
การศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสาร eugenol จากดอกกานพลู ทำการทดลองโดยให้ eugenol ขนาด 100 มก./กก. ทางปากแก่หนูแรท ก่อนได้รับยา indomethacin (ยาที่ใช้เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร) เป็นเวลา 60 นาที ซึ่งจากการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับ eugenol ในขนาด 100 มก./กก. ไม่พบการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Kamatou, et al., 2012)
การทดสอบฤทธิ์ของกานพลูต่อระบบทางเดินอาหาร โดยสกัดสารจากดอกกานพลูด้วยการต้ม ให้สารสกัดความเข้มข้น 300 และ 700 มก./กก. แก่หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหาร ด้วย ethanol (1 ml/rat), indomethacin (30 mg/kg) และ 70% ethanol in 150 mM HCl (1 ml/rat) ใช้ omeprazole 20 มก./กก., cimetidine มก./กก. และ misoprostol 0.2 มก./กก. เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดกานพลู สามารถลดจำนวนแผล และความกว้างของขนาดแผลในหนูทดลองที่ได้รับ ethanol (1 ml/rat) และ 70% ethanol ใน150 mM HCl (1 ml/rat) มีค่าดัชนีเท่ากับ 2.80 ± 3.51 และ 11.4 ± 3.79 ส่วนหนูทดลองที่ได้รับ indomethacin (30 มก./กก.) พบว่าสารสกัดกานพลูขนาด 700 มก./กก. ลดจำนวนแผล และความกว้างของขนาดแผล มีค่าดัชนีเท่ากับ 0.20 ± 0.11 นอกจากนี้ยังมีการทดสอบฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ในหลอดทดลอง โดยใช้ลำไส้กระต่าย เทียบกับ acetylcholine 5.5 x 10(-5) M ซึ่งสารสกัดกานพลูด้วยการต้ม ความเข้มข้น 200-6400 μg/ml มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้น้อยกว่า acetylcholine และเมื่อมีการให้สารสกัดกานพลูร่วมกับ atropine sulphate พบว่าจะมีฤทธิ์ในกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ลดลง (Perry LM, 2011)
ฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้
การทดสอบฤทธิ์ต้านการบีบตัวของลำไส้สัตว์ทดลองของน้ำมันกานพลู ทำในหลอดทดลอง ลำไส้ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบีบตัวโดยใช้สารหลายชนิด ได้แก่ acetylcholine (ใช้ลำไส้หนูแรทส่วน duodenum), barium chloride, histamine (ใช้ลำไส้ส่วน ileum ของหนูตะเภา) และ nicotine (ใช้ลำไส้กระต่ายส่วน jejunum)ซึ่งสามารถยับยั้งการบีบตัวของสำไส้ได้ 20-40%, 40-60%, >60% และ >60% ตามลำดับ (Perry LM, 2011)
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของกานพลู โดยการสกัดดอกกานพลูด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ น้ำ, petroleum ether และ diethyl ether ศึกษาผลการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรค 4 ชนิด คือ Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ซึ่งทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลฝีหนอง และโรคติดเชื้อหลายระบบในร่างกาย ทดสอบด้วยวิธี agar diffusion โดยใช้ paper disk และใช้ trypticase soy agar เป็นอาหาร จากการทดลองพบว่า สารสกัดน้ำ ไม่มีผลในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทั้ง 4 ชนิด ที่นำมาทดสอบ สารสกัด petroleum ether สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทุกชนิด สารสกัด diethyl ether สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้ทั้ง 4 ชนิด เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัด diethyl ether จากกานพลู เมื่อใช้เป็นตัวทำละลายมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียสูงกว่า เมื่อใช้ตัวทำละลายอื่นๆ (ไชยวุฒิ, 1981)
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
การศึกษาความสามารถในการยับยั้งการเจริญ และการสร้างสารอะฟลาทอกซินของเชื้อรา Aspergillus flavus โดยการทดสอบน้ำคั้นจากดอกกานพลู ผสมในอาหารแข็ง PDA ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 4, 6, 8, 10, 15, 20 และ 30% และในอาหารเหลว YES ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 10 และ 30% ทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา จากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโคโลนี เมื่อเลี้ยงเชื้อบนอาหารแข็ง และน้ำหนักแห้งของเส้นใยเมื่อเลี้ยงเชื้อในอาหารเหลว ผลการทดลองพบว่าทุกความเข้มข้นที่ทดสอบสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ และเมื่อความเข้มข้นมากขึ้นจะสามารถยับยั้งได้ดีขึ้น โดยที่น้ำคั้นจากกานพลูที่ความเข้มข้น 30% มีผลยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ดีที่สุด เมื่อเลี้ยงเชื้อด้วยอาหารทดสอบทั้งในอาหารแข็ง และอาหารเหลว โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 99.29% เมื่อทดสอบการยับยั้งการสร้างอะฟลาทอกซินของเชื้อรา พบว่าสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้นของสารสกัด 2% ประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา เท่ากับ 99.61% และมีปริมาณอะฟลาทอกซินที่ตรวจพบเท่ากับ 14.31 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร เมื่อใช้ความเข้มข้นของสารสกัด 20% ซึ่งปริมาณอะฟลาทอกซินที่วัดได้จะน้อยกว่าชุดควบคุมประมาณ 5.5 เท่า หรือมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการสร้างอะฟลาทอกซินได้เท่ากับ 81.65% (สุธัญญา, 2002)
การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราของสารสกัดกานพลูด้วยเอทานอล ตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี TLC องค์ประกอบหลักคือสาร eugenol และเมื่อนำสารสกัดไปทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อยีสต์ Candida albicans ทั้งหมด 28สายพันธุ์ และ C. neoformans ทั้งหมด 25 สายพันธุ์ โดยวิธี Broth microdilution method เปรียบเทียบกับสาร eugenol และยามาตรฐาน amphotericin B (AMB) พบว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ของสารสกัดจากกานพลู, eugenol และ AMB ต่อเชื้อ C. albicans เท่ากับ 17.41±8.64 mg/ml, 12.16±4.53 mg/ml และ 0.23±0.1mcg/ml ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (MFC) เท่ากับ 67.5±15.39 mg/ml, 15.4±6.47 mg/ml และ 0.47±0.21 mcg/ml ตามลำดับ และผลการยับยั้งการเจริญของเชื้อ C. neoformans ของสารสกัดกานพลู, eugenol และ AMB เท่ากับ 2.43±0.95 mg/ml, 6.28±3.4 mg/ml และ 0.28±0.15 mcg/ml ตามลำดับ ค่า MFC เท่ากับ 22.22±12.71 mg/ml, 10.06±4.9 mg/ml และ 0.51±0.25 mcg/ml ตามลำดับ ซึ่งผลดังกล่าวแสดงว่าสารสกัดจากกานพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ C.neoformans ได้ดีกว่าสาร eugenol อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.005) แต่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ C.albicans ได้น้อยกว่าสาร eugenol อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.005) AMB เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคจากการติดเชื้อยีสต์ ที่มีฤทธิ์ดี ซึ่ง AMB และ eugenol พบว่าออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ส่วนสารสกัดจากกานพลูมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา (โศภิต, 2000)
ฤทธิ์ระงับความรู้สึก
ทดสอบฤทธิ์ระงับความรู้สึกของสารสกัดเอทานอลจากดอก และใบกานพลู ที่ระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน คือ 50 100 150 และ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร เปรียบเทียบกับสารมาตราฐานยูจีนอล 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ใช้ปลาดุกอุยเทศที่มีความยาว 7-10 เซนติเมตร น้ำหนัก 8-12 กรัม โดยศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของปลาดุกอุยเทศ บันทึกระยะเวลาที่แสดงอาการในการเคลื่อนไหวช้า นิ่ง สลบ และทำการฟื้นปลาให้ว่ายน้ำปกติ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดอกกานพลู 4 ขนาด และยูจีนอล มีฤทธิ์ต่อการสงบนิ่งปลาดุกอุยเทศแตกต่างกันอย่างมีนัยสาคัญทางสถิติ โดยใช้เวลา 20.17 ± 0.970 นาที 13.33 ± 0.516 นาที 4.67 ± 0.516 นาที 3.33 ± 0.258 นาที และ 2.12 ± 0.576 นาที ตามลำดับ การฟื้นปลาใช้ระยะเวลา 67.50 ± 0.880 นาที 48.67 ± 0.931 นาที 67.50 ± 1.696 นาที 112.50 ± 1.754 นาที และ 3.16 ± 0.685 นาที ตามลำดับ สารสกัดใบกานพลู 4 ขนาด และยูจีนอล มีฤทธิ์ต่อการสงบนิ่งปลาดุกอุยเทศใช้เวลา 37.83 ± 0.585 นาที 22.33 ± 0.931 นาที 20.83 ± 0.585 นาที 17.17 ± 0.585 นาที และ 2.12 ± 0.576 นาที ตามลำดับ และสามารถฟื้นปลาได้ในเวลา 2.806 ± 1.204 นาที 3.557 ± 0.914 นาที 56.33 ± 1.125 นาที 70.83 ± 0.917 นาที และ 3.16 ± 0.685 นาที ตามลำดับ สารสกัดกานพลูที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ระงับความรู้สึกปลาดุกอุยเทศ คือสารสกัดจากดอกที่ระดับความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งใช้ระยะเวลา 20.17 ± 0.970 นาที ส่วนสารสกัดจากใบที่ระดับความเข้มข้น 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ใช้ระยะเวลา 22.33 ± 0.931 นาที โดยสรุปการหาความเข้มข้นที่เหมาะสมในการระงับความรู้สึกของปลาด้วยสารสกัดจากดอกและใบกานพลู ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพักปลาในระหว่างที่ปลาเข้าสู่อาการสงบนิ่ง (sedation) เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการเกิดแผล และความเครียดของปลาระหว่างการขนส่ง หรือนำไปพัฒนางานวิจัยด้านอื่นๆ ได้ต่อไป (สุริยเมธินท์, 2560)
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชา
การศึกษาฤทธิ์ทำให้ผิวหนังชาของสารสกัดของกานพลูเทียบกับยาชา benzocaine ในอาสาสมัคร 73 คน โดยอาสาสมัครกลุ่มที่ 1ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของสารสกัดกานพลู ปริมาณ 2 กรัม (40% ผงกานพลูผสมกับ 60% glycerine) กลุ่มที่ 2 ได้รับเจลที่มีส่วนผสมของ 20% benzocaine ปริมาณ 2 กรัม ทาบนเยื่อบุกระพุ้งแก้ม กลุ่มที่ 3 ได้รับยาหลอก เมื่อเวลาผ่านไป 5 นาที จึงทำการทดสอบฤทธิ์ โดยการแทงเข็มบริเวณที่ทา แล้ววัดระดับความปวด (pain score) ผลการเปรียบเทียบระหว่างสารสกัดกานพลู และ benzocaine พบว่าสามารถลดการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p=0.005) และให้ผลไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้พบว่า สารสกัดกานพลูสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้ ขณะใช้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด และอาจเพิ่มระดับของยากันชัก phenytoin ในเลือดได้ (Perry LM, 2011)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 16,667 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ แต่เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันของสาร eugenol จากดอกกานพลู ทำการศึกษาในหนูแรท สายพันธุ์ Sprague-Dawley แบ่งหนูทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่ม 1,2,3 ได้รับสาร eugenol ความเข้มข้น 2.58, 1.37, 0.77 มก./ล. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มควบคุม ทำการทดลองโดยการพ่นสารทดสอบให้หนูทดลองสูดดมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วติดตามอาการของหนูเป็นเวลา 14 วัน ผลการทดสอบไม่พบการตายของหนู ส่วนอาการ และพฤติกรรม พบว่าหนูทดลองมีน้ำลายไหลระดับปานกลาง มีอาการกระวนกระวาย และหายใจลำบาก แต่อาการเหล่านี้หายเองได้ภายในเวลา 1 วัน แต่เมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำแก่หนูแรท ในขนาดเข้มข้น 6.25 โมล/ลิตร พบว่าหนูทดลองมีอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด และเลือดออกที่ปอด (Kamatou, et al., 2012)
ข้อควรระวัง:
ไม่ควรใช้ดอกกานพลูในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับไต และผู้ป่วยเบาหวาน
ปฏิกิริยาระหว่างยา:
กานพลูในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, aspirin, heparin เป็นต้น ระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; เช่น ibuprofen), ระวังการใช้ร่วมกับสมุนไพรหรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาลดน้ำตาลในเลือด (insulin, metformin) (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. กันยารัตน์ ศึกษากิจ. ฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันและสารสกัดจากดอกกานพลูในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนและอาการข้างเคียงในสัตว์ทดลอง [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหา
บัณฑิต]. ปทุมธานี. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี. 2557.
3. ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์. การศึกษาผลของเครื่องเทศบางอย่างต่อการเจริญของแบคทีเรียบางชนิด.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการสอนชีววิทยามหาวิทยาลัยเชียงใหม่.1981.
4. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
5. สุธัญญา พรหมสมบูรณ์, จินตนา เพชรมณีโชติ, ประพฤติ พรหมสมบูรณ์. การใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรในการยับยั้งการเจริญและการสร้างสารอะฟลาทอกซินของเชื้อรา. รายงานการวิจัยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลคณะเกษตรศาสตร์บางพระ. 2002.
6. สุริยเมธินท์ วงศ์เผ่าสกุล, สุพรรณ โพธิ์ศรี, สุทธวรรณ สุพรรณ, นพรัตน์ พุทธกาล. ผลของสารสกัดดอกและใบกานพลูต่อการระงับความรู้สึกของปลาดุกอุยเทศ. Sci &Tech RMUTT J. 2560; 7(1): 24-33.
7. โศภิต ธิราช. การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่มีผลในการยับยั้งเชื้อรา. โครงการพิเศษปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2000.
8. Kamatou GP, Vermaak I, Viljoen AM. Eugenol-From the Remote Maluku Islands to the International Market Place: A Review of a Remarkable and Versatile Molecule. Molecules 2012:17;6953-6981.
9. Perry LM. Assessment report on Syzygium aromaticum (L.). European Medicines Agency;London. 2011.
10. Tanko Y, Mohammed A, Okasha MA, Umah A, Magaji RA. Anti-nociceptive and anti-inflammatory activities of ethanol extract of Syzygium aromaticum flower bud in wistar rats and mice. Afr JTrad CAM. 2008;5(2):209-212.
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ: phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/