คนทา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คนทา

ชื่อเครื่องยา คนทา
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ราก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา คนทา
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) กะลันทา โกทา ขี้ตำตา จี้ สีเตาะ สีฟัน สีฟันคนตาย สีฟันคนทา หนามจี้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr.
ชื่อพ้อง Anisifolium pubescens (Wall.) Kuntze, Feroniella puberula Yu.Tanaka, Feroniella pubescens (Wall. ex Hook. f.) Tanaka, Feroniella pubescens (Wall. ex Hook.f.) Yu.Tanaka, Harrisonia citrinaecarpa Elmer, Lasiolepis multijuga Benn., Lasiolepis paucijuga Benn. & R. Br., Limonia pubescens Wall. ex Hook.f., Paliurus dubius Blanco, Paliurus perforatus Blanco
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          เปลือกนอกไม่เรียบ สีเทาอมน้ำตาล เนื้อรากสีออกเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน

 

 

           

เครื่องยา รากคนทา

 

เครื่องยา รากคนทา

 

เครื่องยา รากคนทา

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

         ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 9.0% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน   4.0% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัด ethanol ไม่ต่ำกว่า 3.0% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่ต่ำกว่า 4.0% w/w(Department of Medical Sciences, 2018)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ราก รสขมเฝื่อนฝาดเย็น แก้ท้องร่วง บิด ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวลมทุกชนิด แก้ไข้เส้น ไข้เหนือและไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ เป็นส่วนประกอบในยาแก้ไข้เบญจโลกวิเชียร รากอ่อนและต้น แก้ท้องร่วง แก้บิด

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้คนทาในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากคนทาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:         -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          นำรากของต้นคนทามาสกัดด้วยเมทานอล แล้วนำมาสกัดต่อด้วยเฮกเซน และคลอโรฟอร์ม นำสิ่งสกัดในแต่ละส่วนมาทำการแยกโดยวิธีคอลัมน์โครมาโทรกราฟี และควิกคอลัมน์โครมาโทรกราฟี สามารถแยกสารได้ 4 ชนิด คือ heteropeucenin-7-methyl ether, perforaticacid, ของผสมสเตอรอยด์พวก beta-sitosterol, stigmasterol, campesterol และของผสมของ beta–sitosteryl-3-Oglucopyranoside,stigmasteryl-3-O-glucopyranoside, chloresteryl-3-O-glucopyranoside นอกจากนี้ยังได้รายงานการวิเคราะห์สิ่งสกัดในชั้นนํ้า พบพวกเกลือคลอไรด์, นํ้าตาล และกรดแอมิโน (ผกามาศ, 2533)

          การแยกและหาสูตรโครงสร้างของสารประกอบจากรากคนทา พบ 2-hydroxymethyl-3-methylalloptaeroxylin และสารประกอบอื่น ๆ อีกแปดชนิด คือ heteropeucenin-7-methylether, perforarotic acid,lupeol, คูมารินที่ไม่มีหมู่แทนที่ 5-hydroxy-6,7-dimethoxycoumarin, ของผสมของแอลกอฮอล์โซ่ตรง (C31-C35), ของผสมสเตียรอยด์ (betasitosterol,campesterol และ stigmasterol) และของผสมของสเตียรอยด์กลัยโคไซด์ (beta-sitosteryl-3-O-glucopyranoside,chloresteryl-3-O-glucopyranoside, stigmasteryl-3-O-glucopyranoside) (มนิดา, 2535)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

          ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากรากคนทา แบ่งเป็นการทดสอบในสัตว์ทดลองและทดสอบในหลอดทดลอง การศึกษาในสัตว์ทดลอง ทำการศึกษาฤทธิ์ลดการบวมเฉียบพลันที่อุ้งเท้าหนูขาว หลังจากฉีด carrageenan ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง โดยใช้หนูเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ให้สารสกัดคนทาในขนาด 5-400 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin 5 mg/kg การทดสอบในหลอดทดลอง ดูผลการแสดงออกของ mRNA expression ของสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ TNF- α, IL-6 และ IL-1β ศึกษาในเซลล์แมคโครฟาจ J774A.1 ของหนู ที่ถูกเหนี่ยวนำการอักเสบด้วย Lipopolysaccharide (LPS)  โดยให้สารสกัดจากรากคนทาในขนาด12.5-50 μg/ml วิเคราะห์ผลด้วยเครื่อง real-time RT-PCR ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 50, 100,200 และ 400 mg/kg สามารถลดการอักเสบได้ที่เวลา 2 ชม. หลังฉีดคาราจีแนน โดยลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ 28.49, 31.18, 47.85 และ 65.05% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Indomethacin ขนาด 5 mg/kg ลดการบวมได้ 37.10% และผลลดการแสดงออกของ mRNA ของสารในกระบวนการอักเสบ หรือ proinflammatory cytokines พบว่าสารสกัดขนาด 50 μg/ml สามารถยับยั้ง TNF-α และ IL-1β ได้เท่ากับ 49.83±3.77 และ 47.27±3.77% ตามลำดับ แต่การยับยั้ง IL-6 จะใช้สารสกัดขนาด 12.5 และ 25 μg/mlยับยั้งได้ 43.93±5.65% เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน dexamethasone ขนาด 10 μM ยับยั้ง TNF-α, IL-1β และ IL-6 mRNA expression ได้เท่ากับ 30.06±4.09%, 77.96±2.09% และ 89.44±0.54% ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลจากรากคนทามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยลดการแสดงออกของไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (Somsil, et al., 2012)

          สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลและรากคนทา คือ harperfolide ออกฤทธิ์แรงในการต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) เมื่อทดสอบโดยใช้เซลล์แมคโครฟาจของหนูที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วย LPS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.51±2.10 µM โดยมีผลลดการแสดงออกของ iNOS protein ที่ทำหน้าที่สร้างสารในกระบวนการอักเสบ คือไนตริกออกไซด์ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin  ค่า IC50 เท่ากับ 28.42±3.51 µM (Choodej, et al., 2013)

          สารสกัดรากคนทาด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO)  ในหลอดทดลอง ทำการทดสอบโดยใช้ LPS กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจของหนู โดยสารสกัดขนาด 50 μg/ml ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 23.14 μg/ml  ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone ผลการทดสอบสารสกัดจากรากคนทาในการลดการแสดงออกของ mRNA ของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่ง COX-2 เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้าง  prostaglandin ในกระบวนการอักเสบ พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 50 μg/ml  ลดการแสดงออกของ COX-2 ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) และสารสกัดที่ความเข้มข้น 25 และ 50 μg/ml  ลดการแสดงออกของ iNOS ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) โดยสรุปสารสกัดรากคนทาด้วยเอทานอลมีผลลดการอักเสบ และลดไข้ได้ เนื่องจากสามารถยับยั้ง iNOS และ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดไข้ ได้แก่ NO และ PGE2 ตามลำดับ (Somsill, et al., 2010)

 

การศึกษาทางคลินิก:             -

อาการไม่พึงประสงค์:            -

การศึกษาทางพิษวิทยา:        -

 

เอกสารอ้างอิง:

1. ผกามาศ เหล่าทองสาร. องค์ประกอบทางเคมีของรากคนทา (Harrisonia perforata Merr.).  [วิทยานิพนธ์]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.

2. มนิดา สถิตมั่นในธรรม.การแยก และหาสูตรโครงสร้างของสารประกอบจากรากคนทา. [วิทยานิพนธ์]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.

3. Choodej S, Sommit D, Pudhom K. Rearranged limonoids and chromones from Harrisonia perforata and their anti-inflammatory activity. Bioorganic & medicinal chemistry letters. 2013;23:3896-3900.

4. Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand. 2018. Thai Herbal Compendium on physico-chemical specifications volume II. MiraCulous Company Limited:Pathumtani.

5. Somsill P, Itthipanichpong C, Ruangrungsi N, Limpanasithikul W. Inhibitory effect of Harrisonia perforata root extract on macrophage activation. Thai J Pharmacol. 2010;32(1):168-171.

6. Somsil P, RuangrungsiN, Limpanasitikula W, Itthipanichpong C. In vivo and in vitro anti-inflammatory activity of Harrisonia perforata root extract. Phcog J. 2012;4(32):38-44.

 

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา: phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ข้อมูลตำรับยาห้าราก            phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 25
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่