ห้าราก
ชื่อสมุนไพร | ห้าราก |
สูตรตำรับ |
ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากไม้เท้ายายม่อม หนักสิ่งละ 20 กรัม |
ข้อบ่งใช้ |
บรรเทาอาการไข้ |
ขนาดและวิธีใช้ |
ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 – 1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ |
ข้อห้ามใช้ |
- |
ข้อควรระวัง |
- ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก - หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ - ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน |
อาการไม่พึงประสงค์ |
- |
ข้อมูลเพิ่มเติม |
- |
องค์ประกอบทางเคมี |
- |
การศึกษาทางเภสัชวิทยา |
ฤทธิ์ลดไข้ การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ของตำรับยาห้าราก และสมุนไพรเดี่ยวของตำรับ ด้วยวิธีการเหนี่ยวนำให้หนูขาวเป็นไข้ด้วย lipopolysaccharide (LPS) ขนาด 50 ไมโครกรัม/กก.เข้าทางกล้ามเนื้อ หลังจากป้อน 2% Tween 80, แอสไพรินขนาด 300 มก./กก. หรือสารสกัดเอทานอลตำรับยา และสมุนไพรเดี่ยวทั้ง 5 ชนิด ขนาด 25, 50, 100, 200 และ 400 มก./กก. ไปแล้ว 1 ชม. วัดอุณหภูมิของหนูทางทวารหนักก่อนให้ และหลังฉีด LPS ทุกชั่วโมง เป็นเวลา 7 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากตำรับยา และสมุนไพรเดี่ยว ทุกขนาดที่ใช้สามารถลดอุณหภูมิของหนูที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 หรือ 2 หลังจากฉีด LPS และสารสกัดจากตำรับยาห้าราก ขนาด 400 มก./กก. มีประสิทธิภาพในการลดไข้สูงสุด (Jongchanapong, et al., 2010) การศึกษาฤทธิ์ลดไข้โดยใช้หนูขาวเพศผู้วัดอุณหภูมิกายทางทวารหนักจนได้ค่าคงที่ เป็นอุณหภูมิกายชั่วโมงที่ 0 (To) ซึ่งเป็นเวลาเริ่มต้นของการทดลอง จากนั้นฉีด Baker’s yeast เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ เข้าในช่องท้องขนาด 0.135 มก/กก (ใน NSS) จากนั้นแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5-8 ตัว ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ป้อนน้ำเกลือ กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแอสไพริน กลุ่มที่ 3 ป้อนยาห้ารากขนาด 100 มก/กก กลุ่มที่ 4 ป้อนยาห้ารากขนาด 200 มก/กก และกลุ่มที่ 5ป้อนยาห้ารากขนาด 400 มก/กก วัดอุณหภูมิต่อไปทุก 1 ชั่วโมง จนถึงชั่วโมงที่ 8 หลังให้ยาห้าราก จากนั้นเปรียบเทียบอุณหภูมิกาย ณ ชั่วโมงต่างๆ กับอุณหภูมิกายเริ่มต้น To เพื่อประเมินฤทธิ์ผลการลดไข้ จากนั้นศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของสมุนไพรแต่ละชนิดในขนาดที่ประกอบเป็นขนาดของยาห้ารากที่ลดไข้ได้อย่างชัดเจน เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ของสมุนไพรแต่ละชนิด ผลการศึกษาพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือร่วมกับ Baker’s yeast (กลุ่มควบคุม) มีระดับอุณหภูมิกายสูงตลอดการทดลอง ส่วนหนูที่ได้รับยาห้าราก ขนาด 100,200 และ 400 มก./กก ร่วมกับ Baker’s yeast มีอุณหภูมิกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยเฉพาะยาห้ารากขนาด 200 มก/กก สามารถลดอุณหภูมิกายของหนูขาวได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาห้ารากในขนาดอื่นๆ การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของเครื่องยาสมุนไพรแต่ละชนิดในขนาด 40 มก/กก (ขนาดของสมุนไพรแต่ละชนิดที่ประกอบเป็นยาห้าราก 200 มก/กก) พบว่ารากย่านาง รากมะเดื่อชุมพร รากคนทา และรากชิงชี่ สามารถลดอุณหภูมิกายของหนูขาวได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิกายของหนูขาวได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 หลังจากได้รับยา และยังแสดงผลต่อเนื่องไปอีก 7 ชั่วโมง ส่วนรากไม้เท้ายายม่อมนั้นลดอุณหภูมิกายของหนูขาวได้ในชั่วโมงที่ 7 และ 8 หลังจากได้รับยา หรือชั่วโมงที่ 5 และ 6 หลังการฉีดยีสต์จากการศึกษาสรุปได้ว่า ยาเบญจโลกวิเชียรสามารถลดอุณหภูมิกายของหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดไข้โดย Baker’s yeast ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเครื่องยา 5 ชนิดในตำรับ ยกเว้นรากไม้เท้ายายม่อม มีผลลดอุณหภูมิกายของหนูขาวตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 หลังได้รับยา (อำภา และคณะ, 2551) ฤทธิ์ต้านเชื้อไข้มาลาเรีย การทดสอบในหลอดทดลอง ต่อเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum โดยตรวจวัดด้วยเครื่อง flow cytometer การทดสอบความเป็นพิษใช้ peripheral blood mononuclear cells ด้วยวิธีทดสอบ WST-assay โดยการหาค่า safety index หรือ SI (SI = TC50 cytotoxicity/IC50 antiplasmodial activity) พบว่าตำรับยาห้ารากที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทนออกฤทธิ์ในระดับดี โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.58±0.39 มคก./มล. (SI = 5.60) สารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ในระดับปานกลาง ค่า IC50 เท่ากับ 8.84±1.03 มคก./มล. ส่วนผลการทดสอบต่อเชื้อ P. falciparum ชนิดที่ดื้อต่อยา chloroquine (ยาป้องกันและรักษามาลาเรีย) พบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทนออกฤทธิ์ยับยั้งได้ในระดับปานกลาง ค่า IC50 เท่ากับ 6.72±1.46 มคก./มล. (Nutmakul, et al., 2016) ตำรับยาห้าราก ที่ใช้ส่วนผสมเป็นลำต้นทั้งหมดแทนราก พบว่าสารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทน ออกฤทธิ์ในระดับดี ต่อเชื้อ Plasmodium falciparum โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.02±1.57 มคก./มล. (SI = 6.32) สารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์ปานกลาง ค่า IC50 เท่ากับ 8.30±3.26 มคก./มล. ส่วนผลการทดสอบต่อเชื้อ P. falciparum ชนิดที่ดื้อต่อยา chloroquine พบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทนออกฤทธิ์ยับยั้งได้ในระดับปานกลาง ค่า IC50 เท่ากับ 6.58±1.92 มคก./มล. ทั้งการทดสอบตำรับที่ใช้ราก และตำรับที่ใช้ลำต้น ในตัวทำละลายทั้งหมดข้างต้น มีค่า SI อยู่ระหว่าง 3.55–19.74 จากผลการทดสอบตำรับยาที่ใช้รากกับตำรับที่ใช้ลำต้นเป็นส่วนประกอบในตำรับพบว่าออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกัน จึงสามารถใช้ส่วนลำต้นทดแทนรากได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืช (Nutmakul, et al., 2016) ฤทธิ์ลดปวด ฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก และสมุนไพรเดี่ยวของตำรับ ในขนาดต่างๆ ด้วยวิธี hot-plate (ใช้อุณหภูมิ) โดยจับเวลาที่หนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ (hot-plate latencies) ก่อนให้น้ำเกลือทางช่องท้อง หรือให้มอร์ฟีนขนาด 10 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง โดยการป้อนสารทดสอบ ในขนาด 25, 50, 100, 200 และ 400 มก./กก. และจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ที่เวลา 15, 30, 45, 60, 90, 120 และ 240 นาที หลังได้รับสารทดสอบ พบว่าเกือบทุกขนาดของสารสกัดรากชิงชี่ คนทา ย่านาง และมะเดื่อชุมพร มีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนสารสกัดตำรับยาห้าราก และรากเท้ายายม่อม ในขนาด 400 มก./กก. เท่านั้นที่มีฤทธิ์ระงับปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าฤทธิ์ระงับปวดของชิงชี่ ขนาด 200 มก./กก. และคนทา, ย่านาง, เท้ายายม่อม และมะเดื่อชุมพร ขนาด 400 มก./กก. ถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับน่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid (Jongchanapong, et al., 2010) การทดสอบด้วยวิธี tail-flick ทำการจับเวลาที่หนูถีบจักรทนต่อรังสีความร้อนได้โดยไม่กระดกหางหนี (tail-flick latencies) ก่อนให้น้ำเกลือทางช่องท้อง มอร์ฟีนขนาด 10 มก./กก. ทางช่องท้อง หรือ 2% tween 80 โดยการป้อนสารสกัดตำรับยาห้าราก และสุมนไพรเดี่ยว ในขนาด 25-400 มก./กก. โดยการป้อน และทำการทดสอบหลังได้รับสารทดสอบอีก 7 ครั้ง ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดตำรับยา และสมุนไพรเดี่ยว ได้แก่ เท้ายายม่อม คนทา ย่านาง และมะเดื่อชุมพร มีฤทธิ์ระงับปวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ชิงชี่ทุกขนาดที่ให้ไม่มีฤทธิ์ระงับปวดในการทดสอบนี้ (Jongchanapong, et al., 2010) การทดสอบฤทธิ์ระงับปวดโดยเหนี่ยวนำให้หนูถีบจักรเกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ด้วยกรดอะซิติก จะทำการฉีดกรดอะซิติก 0.6% ในขนาด 10 มล./กก. เข้าทางช่องท้องของสัตว์ทดลองที่เวลา 30 นาที หลังจากป้อน 2% Tween 80 หรือยามาตรฐานอินโดเมทาซิน ขนาด 10 มก./กก. หรือสารสกัดตำรับยาห้าราก และสมุนไพรเดี่ยวของตำรับ ขนาด 25-400 มก./กก. แล้วนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดการบิดงอลำตัวเป็นเวลา 30 นาที พบว่าเกือบทุกขนาดของสารสกัดพืชเดี่ยว และตำรับยา สามารถลดจำนวนครั้งของการบิดงอลำตัวของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (Jongchanapong, et al., 2010) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสารสกัดจากตำรับยา ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 40.36±1.99 มคก./มล. (ยามาตราฐาน Indomethacin มีค่า IC50 เท่ากับ 20.32±3.23 มคก./มล.) (Juckmeta and Itharat, 2012) การทดสอบยาจากสมุนไพรตำรับอายุรเวทศิริราชห้าราก ในหลอดทดลองในเซลล์ พบว่าที่ความเข้มข้น 1 และ 10 มคก./มล. มีผลต้านการอักเสบของเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วย IL-1β ผ่านการยับยั้ง cox-2 ในขั้นตอนก่อนการแปลรหัสโปรตีน (pretranslation level) (พินภัทร, 2553) ฤทธิ์ต้านภูมิแพ้ การทดสอบในหลอดทดลอง สารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก เมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านภูมิแพ้ โดยวัดการยับยั้งการหลั่ง β–hexosaminidase ตัวชี้วัดการเกิดภูมิแพ้ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่หลั่งมาจาก RBL-2H3 basophilic leukemia cell line ของหนู พบว่ามีค่าการยับยั้งโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 39.8±1.3 มคก./มล. เมื่อทำการแยกสารบริสุทธิ์จากตำรับยา พบสารต้านภูมิแพ้ 2 ชนิด ที่ออกฤทธิ์ต้านการแพ้ได้ดีกว่าสารสกัดรวมของตำรับ ได้แก่ pectolinarigenin และ O-methylalloptaeroxylin สารทั้งสองมีค่า IC50 เท่ากับ 6.3±0.7 มคก./มล. และ 14.2±0.9 มคก./มล. ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐานคลอเฟนิรามีน (IC50 เท่ากับ 16.2±2.5 มคก./มล.) จึงมีความน่าสนใจเนื่องจากตำรับยาจากสมุนไพรไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนยาแผนปัจจุบัน (Juckmeta, et al., 2014) ผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด การทดสอบยาจากสมุนไพรตำรับอายุรเวทศิริราชห้าราก ในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่า 32 ชั่วโมง หลังการกินยาในขนาด 1,500 มก. สามครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง พบว่าไม่มีผลต่อการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย ADP หรือ adrenaline ภายใน 1 สัปดาห์หลังกินยา และมีผลลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วยคอลลาเจนเพียงเล็กน้อย (พินภัทร, 2553) ฤทธิ์ต้านอนุมุลอิสระ การทดสอบในหลอดทดลอง สารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH (2, 2-diphenyl-1-picrylhydrazyl) ซึ่งเป็น chemical free radical ได้ในระดับปานกลาง โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 40.93±1.25 มคก./มล. (สารมาตราฐาน BHT มีค่า EC50 เท่ากับ 12.75±0.46 มคก./มล.) (Juckmeta and Itharat, 2012) การทดสอบสารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก และสมุนไพรเดี่ยวในตำรับ ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก, สารสกัดเอทานอลคนทา, สารสกัดเอทานอลย่านาง, สารสกัดน้ำมะเดื่อชุมพร, สารสกัดเอทานอลมะเดื่อชุมพร, สารสกัดเอทานอลเท้ายายม่อม และสารสกัดน้ำคนทา มีค่า EC50 เท่ากับ 83.53, 71.46, 83.64, 93.15, 111.87, 249.10 และ 404.64 มคก./มล. (สารมาตราฐาน quercetin และ BHT ค่า EC50 เท่ากับ 0.45 และ 3.47 มคก./มล. ตามลำดับ) (Singharachai, et al, 2011) ฤทธิ์ต้านอนุมุลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส การศึกษาผลของสารสกัดจากตำรับยาอายุรเวทศิริราชห้าราก ซึ่งมีการนำมาใช้เพื่อลดการเข้มขึ้นของสีผิว โดยศึกษาบทบาทต่อการต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการยับยั้งการเข้มขึ้นของเม็ดสี ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและปริมาณของสารประกอบphenolic ในสารสกัดของตำรับยา และองค์ประกอบทั้ง 5โดยวิธี Folin- Ciocalteau และ DPPH ตามลำดับ และศึกษาฤทธิ์การยับยั้งเอ็นไซม์ไทโรซิเนสในหลอดทดลองโดยใช้ mushroom tyrosinase นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาบทบาทของการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเม็ดสีที่เหนี่ยวนำโดยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอ โดยใช้เซลล์ melanomaและทำการประเมินพิษของสารสกัดต่อเซลล์โดยวิธี MTT, ศึกษาผลของสมุนไพรต่อภาวะ oxidative stress ของเซลล์ นอกจากนี้ได้ศึกษาผลต่อการทำงานของเอ็นไซม์ที่มีผลต่อการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase และ glutathione peroxidase รวมทั้งศึกษาปริมาณของ glutathione ภายในเซลล์ โดยใช้ caffeic acid เป็นสารมาตรฐาน จากผลการศึกษาพบว่า สารสกัดจากตำรับยาห้ารากและองค์ประกอบ มีความสามารถกำจัด DPPH radical และประกอบไปด้วย phenolic compound แต่เมื่อทำการศึกษาผลต่อ mushroom tyrosinase พบว่ามีเพียงสารสกัดจากตำรับ, มะเดื่อชุมพร, ย่านาง และ caffeic acid ที่สามารถยับยั้ง mushroom tyrosinase ได้ เมื่อทำการศึกษาความสามารถในการยับยั้งผลของรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอ ต่อการเพิ่มขึ้นของเม็ดสีพบว่า ทั้งสารสกัดจากตำรับ และ caffeic acid ไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเอ็นไซม์ไทโรซิเนส และปริมาณของเมลานินภายในเซลล์ แต่สารสกัดจากตำรับยา และ caffeic acid สามารถป้องกันการลดลงของปริมาณของ glutathione และการทำงานของเอ็นไซม์ catalase และ glutathione peroxidase รวมถึงยัง สามารถลดภาวะ oxidative stress ในเซลล์ melanoma ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอ จากการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดจากตำรับยาห้าราก และ caffeic acid มีความสามารถในการปรับปรุงระบบการต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ อันเนื่องมาจากองค์ประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระในตำรับยา ทำให้สามารถป้องกันการเกิดภาวะ oxidatives stress ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอได้ (กมลรัตน์, 2553) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำของตำรับยาห้าราก และสมุนไพรในตำรับ โดยใช้วิธี disc diffusion พบว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับ, สารสกัดเอทานอลของย่านาง และสารสกัดน้ำของชิงชี่ และยามาตรฐาน gentamicin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Streptococcus pyogenes โดยมี clear zone เท่ากับ 13.0±1.4, 16.3±0.6, 14.7±0.6 และ 16.0±1.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Nuaeissara, et al., 2011) ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง จากการสัมภาษณ์แพทย์แผนไทยพบว่า ยาห้ารากนิยมนำไปใช้เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลของตำรับยาห้าราก ต่อเชื้อแบคทีเรีย 3 ชนิด ได้แก่ S. aureus, B. subtilis และ E. coli และเชื้อรา C. albicans โดยใช้วิธี disc diffusion และศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด (COR-L23), มะเร็งเต้านม (MCF-7) และเซลล์ปอดปกติ (MRC-5) โดยใช้วิธีทดสอบ SRB assay จากการศึกษาพบว่ารากย่านางออกฤทธิ์สูงสุดในการยับยั้ง S. aureus, B. subtilis, E. coli และ C. albicans (โดยมี clear zone เท่ากับ 11.12, 13.8, 9.5 และ 20.5 มิลลิเมตร ตามลำดับ) รากคนทา และรากชิงชี่ มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียเฉพาะแบคทีเรียแกรมบวก ซึ่งรากย่านาง และรากคนทานั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) สูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 7.9 และ 27.7 มคก./มล. ตามลำดับ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด (CORL-23) ที่ค่า IC50 เท่ากับ 5.5 และ 32.07 มคก./มล. ตามลำดับ แต่ไม่พบฤทธิ์ทำลายเซลล์ปอดปกติ (MRC-5) โดยพบว่าค่า IC50 > 50 มคก./มล. จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า รากย่านางมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งจากผลการศึกษานั้นเป็นข้อมูลสนับสนุนในแพทย์แผนไทยซึ่งนำพืชไปใช้เป็นยาแก้ไข้ (Itharat, et al., 2010)
|
การศึกษาทางคลินิก |
ฤทธิ์ต้านการแพ้ที่ผิวหนัง การศึกษาตำรับยาห้ารากพบว่ามีการนำมาใช้แก้แพ้ ในกรณีมีผดผื่นคันตามผิวหนัง โดยการนำผงยามาละลายกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่มีอาการคัน จึงได้มีการศึกษาฤทธิ์ก่อการแพ้แบบปฏิกิริยาอิมมูนโดยดูผลการยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ β-hexosaminidase (คือเอนไซม์ที่ปลดปล่อยออกมาจาก mast cell เมื่อเกิดการแพ้แบบทันทีทันใดภายหลังได้รับแอนติเจน) และทดสอบการก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง ด้วยการปิดสารทดสอบบนผิวหนัง ผลการทดสอบความปลอดภัยต่อผิวหนังในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 10 คน เป็นเพศชาย 4 คน เพศหญิง 6 คน อายุระหว่าง 21-28 ปี อายุเฉลี่ย (mean ± SDI) เท่ากับ 24.9 ± 2.024 ปี ทดสอบความปลอดภัยต่อผิวหนังด้วยวิธีการปิดสารทดสอบ พบว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับยา ที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 และ 20 ไม่พบปฏิกิริยาการระคายเคืองในสารสกัดตำรับยา และสมุนไพรเดี่ยวทุกชนิด ผลการทดสอบการก่อการแพ้แบบปฏิกิริยาอิมมูน สารสกัดตำรับยาห้าราก ให้ผลเป็นลบในอาสาสมัครทุกคน พบผลการทดสอบเป็นบวกในรากคนทา (ความถี่ 3/10) และรากชิงชี่ (ความถี่ 1/10) ให้ผลบวกไม่ชัดเจนในรากมะเดื่อชุมพร (ความถี่ 2/10) รากเท้ายายม่อม และรากย่านาง (ความถี่ชนิดละ 1/10) ผลการทดสอบของชุดสารทดสอบมาตรฐานสำเร็จรูป (TRUE test®) ไม่พบการระคายเคือง แต่พบการแพ้แบบปฏิกิริยาอิมมูน สารที่ให้ผลการทดสอบเป็นบวกคือ thiomersal (ความถี่ 5/10), nickel sulphate (ความถี่ 3/10) และ colophony, cobalt chloride, mercaptobenzothiazole และ thiuram mix (ความถี่ชนิดละ 1/10) สารที่ให้ผลบวกไม่ชัดเจน คือ quaternium-15 (ความถี่ 2/10) neomycin sulphate, wool alcohol, carba mix, fragrance mix, thiomersal, ethylenediamine dihydrochloride (ความถี่ชนิดละ 1/10) โดยสรุปสารสกัดตำรับยาห้าราก และสารสกัดสมุนไพรเดี่ยว ที่เป็นส่วนประกอบของตํารับ มีฤทธิ์ต้านการแพ้แบบปฏิกิริยาอิมมูน ไม่พบปฏิกิริยาการก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังคน จึงมีความปลอดภัยในการใช้เตรียมยาใช้ภายนอกกับผิวหนัง ยกเว้นรากคนทามีโอกาสก่อการแพ้แบบปฏิกิริยาอิมมูนสูง เพราะให้ผลบวกโดยมีความถี่กับโลหะนิกเกิล (3/10) ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคผิวหนังอักเสบชนิดผื่นแพ้สัมผัส จึงไม่เหมาะสมในการใช้เฉพาะที่กับผิวหนัง (Suwannarat, et al, 2012) |
การศึกษาทางพิษวิทยา |
การทดสอบยาจากสมุนไพรตำรับอายุรเวทศิริราชห้าราก (300, 1000, 3000 มก./กก.) เป็นเวลา 14 วัน ในหนูขาววิสตาร์ ไม่พบความเป็นพิษของอวัยวะ (พินภัทร, 2553) การศึกษาความปลอดภัยของตำรับยาห้าราก และสมุนไพรแต่ละชนิดในตำรับ โดยการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ ด้วยวิธีทดสอบการตายของไรทะเล (Artemia salina L.) ทดสอบการก่อกลายพันธุ์ด้วยการทดสอบเอมส์ (Ames mutagenicity assay) โดยใช้ Salmonella typhimurium และการก่อให้เกิดความเสียหายต่อดีเอ็นเอด้วยวิธีโคเมต ตามลำดับ สารตัวอย่างโดยส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นพิษต่อไรทะเล ยกเว้นสารสกัดเอทานอลจากรากย่านาง และคนทา ซึ่งมีค่า LC50 เท่ากับ 44 และ 600 มคก./มล. ตามลำดับ (LC50 > 1000 มคก./มล., ไม่เป็นพิษ) และไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์โดยตรง แต่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ทางอ้อมหลังจากการเกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชัน ดังนั้นผู้บริโภคควรพิจารณาถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาตำรับนี้ร่วมกับ nitrite ซึ่งเจือปนอยู่ในอาหารแต่อย่างไรก็ตาม สารสกัดจากตำรับยาห้าราก และสารสกัดจากรากสมุนไพรแต่ละชนิด แสดงฤทธิ์ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ต่อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยา ของอมิโนพัยรีนทำปฏิกิริยากับไนไตรท และมีเพียงสารสกัดด้วยน้ำ และเอทานอลจากรากชิงชี่ และสารสกัดด้วยน้ำจากรากย่านางที่แสดงฤทธิ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อดีเอ็นเอในระดับสูง เทียบเท่ากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งถูกใช้เป็นตัวควบคุมบวก ในกรณีของการทดสอบฤทธิ์ต่อการแบ่งตัวของเซลล์ พบว่าสารสกัดตัวอย่างเกือบทั้งหมดมีค่าความเข้มข้นที่ทำให้เกิดเซลล์ตายร้อยละ 50 (LD50) มากกว่า 2,000 มคก/มล ในขณะที่ สารสกัดจากตำรับห้าราก แสดงค่า LD50 มากกว่า 20,000 มคก/มล จึงเป็นหลักฐานที่สนับสนุนข้อมูลทางด้านความปลอดภัย (Singharachai, et al, 2011) |
เอกสารอ้างอิง |
1. กมลรัตน์ กองตาพันธุ์. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากตำรับยาห้ารากและคาเฟอิก แอซิด ต่อการยับยั้งผลของรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอ ในการกระตุ้นการเข้มขึ้นของเม็ดสีผิว [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล; 2553. 2. พินภัทร ไตรภัทร. รายงานวิจัยเรื่องการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรตำรับห้ารากอายุรเวทศิริราช ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเกล็ดเลือด. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2553. 3. อำภา คนซื่อ, ชยันต์ พิเชียรสุนทร, จินตนา สัตยาศัย, ประภาวดี พัวไพโรจน์, ศุภชัย ติยวรนันท์. การศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของยาเบญจโลกวิเชียรในสัตว์ทดลอง.วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก. 2551;6(2):41. 4. Itharat A, Reuangnoo S, Panthong S, et al. Antimicrobial and cytotoxic activities of five Thai plants used as antipyretic drug. Planta Med. 2010;76(12):1215-1219. 5. Jongchanapong A, Singharachai C, Palanuvej C, Ruangrungsi N, Towiwat P. Antipyretic and antinociceptive effects of Ben-cha-lo-ka-wi-chian remedy. J Health Res. 2010;24(1):15-22. 6. Juckmeta T, Itharat A. Anti-inflammatory and antioxidant activities of Thai traditional remedy called “Ya-ha-rak”. J Health Res. 2012;26(4):205-210. 7. Juckmeta T, Thongdeeying P, Itharat A. Inhibitory Effect on β-Hexosaminidase Release from RBL-2H3 Cells of Extracts and Some Pure Constituents of Benchalokawichian, a Thai Herbal Remedy, Used for Allergic Disorders. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2014;2014:1-8. 8. Nutmakul T, Pattanapanyasat K, Soonthornchareonnon N, Shiomi K, Mori M, Prathanturarug S. Antiplasmodial activities of a Thai traditional antipyretic formulation, Bencha-Loga-Wichian: A comparative study between the roots and their substitutes, the stems. J Ethnopharmacology. 2016;193:125-132. 9. Nuaeissara S, Kondo S, Itharat A. Antimicrobial Activity of the Extracts fromBenchalokawichian Remedy and Its Components. J Med Assoc Thai. 2011;94(Suppl.7): S172-S177. 10. Singharachai C, Palanuvej C, Kiyohara H. Yamada H, Ruangrungsi N. Safety evaluation of Thai traditional medicine remedy: Ben-cha-lo-ka-wi-chian. J Health Res. 2011;25(2):83-90. 11. Suwannarat W, Achariyakul M, Itharat A, Somboon Kiettinun. A clinical study phase I on safety of Thai medicinal formula “Benjalokawichien (Ha-Rak)” and each plant component extract. Thammasat Medical Journal. 2012;12(4): 767-776. |
ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ