มะเดื่อชุมพร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะเดื่อชุมพร

ชื่อเครื่องยา มะเดื่อชุมพร
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ราก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะเดื่อชุมพร
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะเดื่ออุทุมพร เดื่อเกลี้ยง มะเดื่อ เดื่อน้ำ มะเดื่อดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa L.
ชื่อพ้อง Covellia glomerata (Roxb.) Miq., Ficus acidula King, Ficus chittagonga Miq., Ficus glomerata Roxb., Ficus glomerata var. chittagonga (Miq.) King, Ficus glomerata var. elongata King, Ficus glomerata var. miquelii King, Ficus glomerata var. mollis (Miq.) King, Ficus henrici King, Ficus lanceolata Buch.-Ham. ex Roxb., Ficus leucocarpa (Miq.) Miq., Ficus lucescens Blume, Ficus mollis (Miq.) Miq., Ficus racemosa var. elongata (King) M.F.Barrett, Ficus racemosa var. miquelii (King) Corner, Ficus racemosa var. mollis (Miq.) M.F.Barrett, Ficus racemosa var. racemosa, Ficus racemosa var. vesca (F.Muell. ex Miq.) M.F.Barrett, Ficus semicostata F.M.Bailey, Ficus trichocarpa f. glabrescens Engl., Ficus vesca F.Muell. ex Miq.
ชื่อวงศ์ Moraceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ มีตุ่มเล็กๆ กระจายทั่วไป มีร่องตื้นๆ ตามยาว เปลือกด้านในสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะคล้ายเสี้ยนไม้ เนื้อไม้ตัดตามขวางมีลายจางเป็นวงถี่ๆ ตรงกลางด้านในสุดสีขาวนวล มีลักษณะเนื้อไม้ไม่แข็ง น้ำหนักเบา

 

 

เครื่องยา รากมะเดื่อชุมพร

 

เครื่องยา รากมะเดื่อชุมพร

 

เครื่องยา รากมะเดื่อชุมพร

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 8.0% w/w ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 6.0% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณสารสกัด ethanol ไม่ต่ำกว่า 2.0% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่ต่ำกว่า 4.0% w/w (Department of Medical Sciences, 2018)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย ราก รสฝาดเย็น แก้ไข้ ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้ร้อนใน ระงับความร้อน กระทุ้งพิษไข้ กล่อมเสมหะ และโลหิต แก้ไข้หัวลม ไข้กาฬ ไข้พิษทุกชนิด แก้ท้องร่วง เป็นตัวยาในพิกัดยาเบญจโลกวิเชียร มีสรรพคุณแก้ไข้

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้มะเดื่อชุมพรในตำรับ “ยาห้าราก” มีส่วนประกอบของรากมะเดื่อชุมพรร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:       -

 

องค์ประกอบทางเคมี:

        สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเปลือกรากมะเดื่อชุมพร ได้แก่สาร isocoumarin (bergenin), triterpenes ได้แก่ polypodatetraene, α-amyrin acetate, gluanol acetate, lupeol acetate, b-amyrin acetate,   24,25-dihydroparkeol acetate, α-amyrin octacosanoate, lanostane derivative, lanost-20-en-3b-acetate),  สาร phytosteroids ได้แก่ (beta-sitosterol และ beta-sitosterol-beta-D-glucoside) และ long chain hydrocarbon (n-hexacosane) (Jain, et al., 2013)

        รากพบสาร cycloartenol, euphorbol, อนุพันธ์ hexacosanoate,  taraxerone, tinyatoxin (Joseph and Raj, 2010)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

 ฤทธิ์แก้ไข้

       ศึกษาฤทธิ์แก้ไข้ของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เปรียบเทียบกับยาแอสไพริน (acetylsalicylic acid) โดยใช้ lipopolysaccaride (LPS) และ brewer’s yeast ในการกระตุ้นให้หนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์มีไข้ (เมื่อให้ brewer’s yeast และ LPS อุณหภูมิที่ทวารหนักของหนูขาวจะเพิ่มขึ้น 2.24 °C และ 1.84°C ตามลำดับ) เมื่อฉีด LPS ในขนาด 50 μg/kg ที่กล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400  mg/kg หรือยาแอสไพริน 300 mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม วัดอุณหภูมิทวารหนักก่อนการทดลอง 1 ชั่วโมง และวัดอีกครั้งหลังจากที่หนูได้รับการฉีด LPS ไปแล้ว 7 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาดสามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยมีฤทธิ์ลดไข้ได้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน  และเมื่อฉีด 20% brewer’s yeast ขนาด 10 ml/kg ทางชั้นใต้ผิวหนังของหนู หลังจากนั้น 18 ชั่วโมงผ่านไป ป้อนสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรในขนาด 50-400  mg/kg  หรือยามาตรฐานแอสไพรินในหนูแต่ละกลุ่ม อุณหภูมิที่ทวารหนักจะถูกวัดหลังจากที่ให้สารสกัดรากมะเดื่อชุมพรไปแล้ว 7 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพรทุกขนาดสามารถลดอุณหภูมิทวารหนักของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ค่า p<0.05 และสารสกัดจากรากมะเดื่อชุมพรขนาด 200 และ 400 mg/kg  มีฤทธิ์ลดไข้เทียบเท่ากับยาแอสไพริน (Chomchuen, et al., 2010)

ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระและปกป้องรังสี

         การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทางเคมีในหลอดทดลองด้วยวิธีจับอนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl)  พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกราก แก่นราก และสารมาตรฐาน ascorbic acid  สามารถจับอนุมูลอิสระ DPPH ได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 5.80, 4.49 และ 5.27 μg/ml ตามลำดับ โดยแก่นรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และออกฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน  การทดสอบฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ด้วยวิธี FRAP เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์ Fe3+เป็น Fe 2+ซึ่งเป็นสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระในการให้อิเล็คตรอน พบว่าทุกความเข้มของสารสกัดแก่นราก (10-80 μg/ml) ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ascorbic acid (Jain, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลจากรากมะเดื่อชุมพร เพื่อประเมินฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิด และเชื้อรา 4 ชนิด ที่ความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธี disc diffusion โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุด ต่อเชื้อแบคทีเรีย   E. coli, B. subtilis, P. aeroginosa, E. cloacae เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 24.4, 7.2, 9.1 และ 16.1 มิลลิเมตร ตามลำดับ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยความเข้มข้นของสารสกัดที่เกิด clear zone สูงสุดต่อเชื้อรา P. chrysogenum, A. niger, T. rubrum และ C. albicans เท่ากับ 8 mg/disc มีความกว้างของ clear zone เท่ากับ 15.4, 8.2, 16.5 และ 14.2 มิลลิเมตร ตามลำดับ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดรากมะเดื่อชุมพรมีฤทธิ์ต้านจุลชีพซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้ (Goyal, 2012)

 

การศึกษาทางคลินิก:         -

อาการไม่พึงประสงค์:         -

การศึกษาทางพิษวิทยา:     -

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand. 2018. Thai Herbal Compendium on physico-chemical specifications volume II. MiraCulous Company Limited:Pathumtani.

2. Jain R, Rawat S, Jain SC. Phytochemicals and antioxidant evaluation of Ficus racemosa root bark. Journal of Pharmacy Research. 2013;6:615-619.

3. Joseph B, Raj SJ. Phytopharmacological properties of Ficus racemosa L. An overview. Int J Pharm Sci Rev Res. 2010;3(2):134-138.

4. Chomchuen S, Singharachai C, Ruangrungsi N, Towiwat P. Antipyretic effect of the ethanolic extract of Ficus racemosa root in rats. J Health Res. 2010;24(1):23-28.

5. Goyal PK. Antimicrobial activity of ethanolic root extract Of Ficus racemosa L. Int J Chem Tech Res. 2012;4(4):1765-1769.

 

ข้อมูลตำรับยาห้าราก phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 2
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่