ฝิ่นต้น

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฝิ่นต้น

ชื่อเครื่องยา ฝิ่นต้น
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เปลือกต้น
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ฝิ่นต้น
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) มะละกอฝรั่ง (กรุงเทพฯ), มะหุ่งแดง (เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha multifida L.
ชื่อพ้อง Adenoropium multifidum (L.) Pohl, Jatropha janipha Blanco, Manihot multifida
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          เปลือกต้นมีผิวด้านนอกของค่อนข้างเรียบ หรือมีรอยขรุขระเล็กน้อย ผิวเปลือกด้านนอกสีเทา เนื้อในเปลือกสีขาว เปลือกบาง และมีน้ำยางที่แห้งแล้วสีแดง

 

                                  

                                                                                                 เครื่องยา เปลือกฝิ่นต้น

 

                              

                                                                                  เครื่องยา เปลือกฝิ่นต้น

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:                 -

         

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย  เปลือกต้น รสขมร้อนฝาดเมา แก้ลมและโลหิต แก้ปวดเส้นเอ็น คุมธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิดปวดเบ่ง แก้ลงแดง แก้อาเจียน แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ยาง รสเมาเบื่อ ทำให้คลื่นไส้อาเจียน

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ฝิ่นต้นในตำรับ “ยาตรีเกสรมาศ” มีส่วนประกอบเปลือกต้นของฝิ่นต้นร่วมกับเกสรบัวหลวง และผลมะตูมอ่อน มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย  นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:         -

องค์ประกอบทางเคมี:               -

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น,  และสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl)  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตท และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือก, vitexin และ isovitexin สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 17.23, 40.57, 54.37 และ 87.27 µg/ml (p<0.05) ตามลำดับ สรุปได้ว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตทที่ได้จากเปลือกออกฤทธิ์สูงสุดในการจับอนุมูลอิสระ DPPH (Hirota, et al., 2012)

     การทดสอบสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant capacity) ด้วยวิธี phosphomolybdenum spectrophotometric methodโดยดูความสามารถในการรีดิวส์ phosphomolybdic acid เป็น phosphomolybdenumในสภาวะกรด เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนสีเขียว (เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนซึ่งเป็นความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระ) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากใบ และสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากเปลือก มีสมบัติในการรีดิวส์ ได้ 103.29 และ 86.18% ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี (Hirota, et al., 2012)

ฤทธิ์ห้ามเลือด (hemostatic activity)

        การทดสอบความสามารถในการห้ามเลือดในหลอดทดลอง ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น ทดสอบจากการวัดระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัว (blood coagulation time) โดยใช้เลือดจากอาสาสมัครจำนวน 500 µl แต่ละหลอดทดสอบ เติมน้ำยางจำนวน 4 หลอด ปริมาณแต่ละหลอดเท่ากับ 10, 25, 50 และ 100 µl ตามลำดับ ทดสอบเป็นเวลา 1 นาที (ที่ 37°C) ผลการทดสอบพบว่าระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัวเท่ากับ 240, 220, 225 และ 110 วินาที ตามลำดับ  เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดที่ไม่ใส่น้ำยาง ใช้เวลาในการแข็งตัวของเลือดเท่ากับ 260 วินาที สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่นต้นช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น โดยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำยางที่ใช้ (Dougnon, et al., 2012)

      การทดสอบความสามารถในการตกตะกอนน้ำนม (test of milk precipitation) ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น (เป็นการทดสอบการตกตะกอนโปรตีนของสารทดสอบกลุ่มแทนนิน หรือฟลาโวนอยด์บางชนิด ที่มีสมบัติฝาดสมาน (astringent) เนื่องจากขบวนการแข็งตัวของเลือด จะเกิดการตกตะกอนของโปรตีนในเลือด (plasma) ทำให้เลือดมีความหนืดข้น ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดหยุดไหล วิธีทดสอบโดยเติมน้ำยาง ปริมาณ 1 ml และนม 100 µl ทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยาเป็นเวลา 3 นาที ผลการทดสอบพบว่ามีการตกตะกอนโปรตีนภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที (Dougnon, et al., 2012)

     การหาปริมาณโปรตีนรวมในเลือด (Total protein of blood sample)  เป็นการวัดปริมาณโปรตีนในเลือด ภายหลังการเติมน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น เพื่อยืนยันว่ามีการตกตะกอนของพลาสมาโปรตีนในขบวนการแข็งตัวของเลือด ทำการทดสอบด้วยการเจือจางน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้นด้วยเซรั่มของมนุษย์ในระดับความเจือจาง 0-50% จากนั้นนำไปทดสอบหาปริมาณโปรตีน ด้วยวิธี biuret method ผลการทดสอบพบว่าน้ำยางทำให้ปริมาณโปรตีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 โดยหลอดทดลองที่มีน้ำยางเจือจาง 15, 20, 25, 40 และ 50% มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 52.28, 46.62, 25.62, 25.52 และ 25.58 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดควบคุม มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 77.7 สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่นต้น ทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนในเลือด ในขบวนการแข็งตัวของเลือดได้ (Dougnon, et al., 2012)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

      การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตท และเมทานอล จากเนื้อไม้, เปลือกไม้, เนื้อราก และเปลือกราก ของฝิ่นต้น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่นำมาทดสอบจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ Gardnerella vaginalis, Neisseria gonorrhoeae, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และCandida albicans ตรวจสอบด้วยวิธี broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของฝิ่นต้นสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ โดยมีค่า MIC ระหว่าง 0.78–12.5 µg/ml  โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ G. vaginalis และ N. gonorrhoeae ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้น และสารสกัดเฮกเซนจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 และ 0.78 µg/ml ตามลำดับ สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ E. coli ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเนื้อราก และสารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. mirabilis ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกต้น และสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้น โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. aeruginosa ได้สูงสุดคือ สารสกัดเมทานอลจากเนื้อไม้, เปลือกต้น, สารสกัดเฮกเซน และสารสกัดเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตต และเมทานอลของเนื้อราก, สารสกัดเฮกเซนของเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.78 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซน และเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก, สารสกัดเมทานอลจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.12 µg/ml เท่ากัน (Aiyelaagbe, et al., 2008)

 

การศึกษาทางคลินิก:                -

อาการไม่พึงประสงค์:               -

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

การทดสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล

        การทดสอบความเป็นพิษในหลอดทดลองของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น และสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin ตรวจสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล (brine shrimps lethality test (BST) โดยใช้ควินิดีนซัลเฟต (quinidine sulfate) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากเปลือก มีค่า LC50 (ความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง) เท่ากับ 57.59 µg/ml ซึ่งใกล้เคียงกับควินิดีนซัลเฟต (LC50เท่ากับ 50.1 µg/ml) ส่วนสารสกัดที่ได้จากใบมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือก โดยค่า LC50 ของสารสกัดจากใบด้วยคลอโรฟอร์ม มีค่า LC50 เท่ากับ  252.96 µg/mlสำหรับ vitexin และ isovitexinไม่เป็นพิษต่อไรทะเล (Hirota, et al., 2012)

การทดสอบการแตกของเม็ดเลือดแดง

      การทดสอบการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ด้วยวิธี blood agar plates method ใช้กระดาษกรองเป็นแผ่น disc สำหรับหยดสารทดสอบ โดยใช้สารสกัด 1,000 µg ต่อ disc เพื่อให้สารทดสอบซึมจากกระดาษลงไปยังเพลท หรือจานที่มีเม็ดเลือดแดงของแกะ แล้วบ่มเพาะที่ 36°C เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (Hirota, et al., 2012)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Aiyelaagbe OO, Oguntuase BJ, Arimah BD, Adeniyi BA. The antimicrobial activity of Jatropha multifida extracts and chromatographic fractions against sexually transmitted Infections. J Med Sci. 2008;8(2):143-147.

2. Dougnon TV, Klotoé JR, Edorh PA, Sègbo J, Atègbo JM, Sodipo OA, et al. In vitro hemostatic activity screening of sap of Jatropha multifida L. (Euphorbiaceae) used in traditional medicine at Cotonou (Benin). J Phys Pharm Adv. 2012;2(6):227-234.

3. Hirota BCK, Miyazaki CMS, Mercali CA, Verdan MC, Kalegari M, Gemin C, et al. C-glycosyl flavones and a comparative study of the antioxidant, hemolytic and toxic potential of Jatropha multifida leaves and bark. International Journal of Phytomedicine. 2012;4(1):1-5.

 

ข้อมูลตำรับยาตรีเกสรมาศ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่