ชะเอมเทศ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชะเอมเทศ

ชื่อเครื่องยา ชะเอมเทศ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ราก และลำต้นใต้ดิน
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ชะเอมเทศ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ชะเอมจีน (ทั่วไป), กำเช้า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycyrrhiza glabra L.
ชื่อพ้อง Glycyrrhiza brachycarpa Boiss., G. glandulifera Waldst. & Kit., G. hirsuta Pall., G. pallida Boiss. & Noe, G. pallida Boiss., G. violacea
ชื่อวงศ์ Leguminosae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          รากเรียวยาวรูปกระสวย ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร อาจยาวได้ถึง 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-20 เซนติเมตร เปลือกหุ้มรากด้านนอกสีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลแก่ เนื้อเปลือกหยาบ มีเส้นใยมาก เนื้อในรากมีสีเหลืองอ่อน ผิวเรียบเป็นเส้นใย รสหวานชุ่ม ออกขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

 

 

เครื่องยา ชะเอมเทศ

 

 

เครื่องยา ชะเอมเทศ

 

 

เครื่องยา ชะเอมเทศ

 

ลักษณะวิสัย ต้นชะเอมเทศ

 

ต้นชะเอมเทศ

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          ปริมาณความชื้นไม่เกิน 12% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณสาร glycyrrhizic acid ไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสาร glycyramarin ไม่น้อยกว่า 1% w/w (ช้อกำหนดเภสัชตำรับจีน)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย  เนื้อในราก และเหง้า รสหวานขมชุ่ม ทำให้ชุ่มคอ แก้คอแห้ง แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ขับเสมหะ แต่งกลิ่น แต่งรสหวาน ใช้ผสมในยาบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ ยาอม ยาจิบ แก้ไอต่างๆ หรือผสมในยาที่รับประทานยาก มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ขับลม แก้พิษ แก้คัน บำรุงปอด แก้เบื่ออาหาร แก้ปวดท้อง แก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น แก้ไข้ สงบประสาท บำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญ ขับเลือดเน่า แก้กำเดา รากสดรักษาอาการเจ็บคอ เป็นแผลเรื้อรัง ระบบการย่อยอาหารไม่ดี หรืออาหารเป็นพิษ เปลือกราก รสหวานร้อน เป็นยาระบายท้องเด็กอ่อน (เปลือกหุ้มราก ทำให้ระคายคอ คลื่นเหียน)

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้รากชะเอมเทศในตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของรากชะเอมเทศร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:        

          รากชะเอมแห้ง 5-15 กรัม/วัน ซึ่งเทียบเท่ากับสารกลีเซอไรซิน 200-800 มิลลิกรัม/วัน ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์

 

องค์ประกอบทางเคมี:               -

          สารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ซาโปนิน ได้แก่ glycyrrhizin, 24-hydroxyglycyrrhizin 2-12% ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า นอกจากนี้ยังพบสารฟลาโวนอยด์สีเหลือง ได้แก่ iso-quiritin, liquiritin

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะติดของเชื้อ Helicobacter pylori  ที่เยื่อเมือกของกระเพาะอาหาร

      ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกาะติดของเชื้อ Helicobacter pylori type I strain G27 ที่เยื่อเมือกของกระเพาะอาหารในหลอดทดลอง ของสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศ ต่อการเกาะติดของเชื้อ H. pylori ที่เยื่อเมือกของกระเพาะอาหารในคน ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้  ทดสอบด้วยวิธี agar diffusion assay (in situ adhesion assay with FITC-labelled bacteria) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากรากชะเอมเทศในขนาดความเข้มข้น 1 mg/mL สามารถยับยั้งการเกาะติดของเชื้อ H. pylori  ที่เนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารคนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (การเกาะติดของเชื้อในกลุ่มควบคุมเท่ากับ 100%, positive control เท่ากับ 20% และสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศเท่ากับ 40%) สัมพันธ์กับผลการศึกษาสารโพลิแซคคาไรด์ที่ได้จากรากชะเอมเทศ (ประกอบด้วย carbohydrates 81% และ  protein 19%) ที่สามารถยับยั้งการเกาะติดของเชื้อ H. pylori  ที่เนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารคนได้ 40% โดยสรุปสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศมีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่ปกป้องเยื่อเมือกที่กระเพาะอาหารต่อการเกาะติดของเชื้อ H. pylori  ได้ (Wittschier, et al., 2009)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC25923 ที่เจริญแบบอิสระ และแบบไบโอฟิล์ม (การเจริญของเชื้อแบคทีเรียแบบไบโอฟิล์ม แบคทีเรียจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกิดชั้นป้องกันที่แข็งแรง และสร้างสารออกมาภายนอก ทำให้ถูกทำลายได้ยาก และมีความต้านทานต่อยา หรือสารยับยั้งมากกว่าเชื้อที่เจริญแบบอิสระ)    ทดสอบสารสกัดเอทานอลจากรากชะเอมเทศ ใช้วิธี disc diffusion method จากนั้นหาค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC)  และฆ่าเชื้อ (MBC) ด้วยวิธี macrobroth dilution เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน vancomycin ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศขนาด 100 mg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (inhibition zone) เท่ากับ 15.41±1.16 mm ในขณะที่ยา vancomycin (0.03 mg/ml) มี inhibition zone เท่ากับ 10.43±0.23 mm ค่า MIC และ MBC ของสารสกัดรากชะเอมเทศต่อเชื้อ S. aureus ที่เจริญแบบอิสระ เท่ากับ 0.78 และ 1.56 mg/ml ตามลำดับ ค่า MIC ของสารสกัดรากชะเอมเทศต่อเชื้อ S. aureus ที่เจริญแบบไบโอฟิล์มเท่ากับ 0.78 mg/ml ขึ้นไป และในการศึกษาการทำลายเชื้อ S. aureus ที่เจริญแบบไบโอฟิล์มไปแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศ และยา vancomycin ไม่สามารถกำจัดเชื้อในไบโอฟิล์มได้ทั้งหมด แต่สารสกัดของชะเอมเทศในขนาดความเข้มข้น 50 mg/ml  มีผลที่ใกล้เคียงกับการใช้ยา vancomycin ในขนาดความเข้มข้น 0.03 mg/ml (สุทธิพลินทร์ และคณะ, 2557) โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากรากชะเอมเทศ สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus (เชื้อที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่บาดแผล ฝี หนอง เป็นต้น) ทั้งที่เจริญแบบอิสระ และแบบไบโอฟิล์มได้ สามารถนำไปพัฒนายายับยั้งเชื้อก่อโรคโดยเฉพาะที่มีคุณสมบัติสร้างไบโอฟิล์มได้ เนื่องจากเชื้อก่อโรคส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบไบโอฟิล์มมากกว่าแบบอิสระ ซึ่งมีความสามารถในการทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าแบบอิสระ

ฤทธิ์ต้านเชื้อรา

       ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรากลุ่ม Candida ในหลอดทดลองของสารสกัด 80% เมทานอลจากราก และเหง้าของชะเอมเทศต่อเชื้อ Candida 4 ชนิด ได้แก่ Candida albicans, C. glabrata, C. para-psilosis  และ C. tropicalisจำนวนรวม 19 สายพันธุ์ (เชื้อ Candida เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่ช่องคลอด, ทางเดินปัสสาวะ,ช่องปาก และการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น) ทดสอบด้วยวิธี disc diffusion จากนั้นหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ (MFC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งเชื้อ C. tropicalis ได้ดีที่สุด รองลงมาคือ C. glabrata, C.  parapsilosis  และ C.  albicans ตามลำดับ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (inhibition zone) เท่ากับ 10–13, 12, 10–12 และ 10–12 mm ตามลำดับ ผลการหาค่า MIC และ MFC พบว่าสารสกัดยับยั้งเชื้อ C. glabrata D1 ได้ดีที่สุด มีค่า MICและ MFC อยู่ระหว่างช่วง 0.1875- 0.375 และ  0.375 mg/mL ตามลำดับ  ผลต่อเชื้อ C. tropicalis AG1 และ T2.2 มีค่า MIC และ MFC เท่ากับ 0.375 และ 0.75 mg/mL ตามลำดับ และผลต่อเชื้อ C.  parapsilosis ATCC22019 มีค่า MIC เท่ากับ 1.5 mg/mL แต่ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ สารสกัดไม่มีผลยับยั้งเชื้อรา C. albicans  นอกจากนี้สารสกัดชะเอมเทศยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อที่เจริญแบบไบโอฟิล์ม (Biofilm) ซึ่งเป็นโครงสร้างยึดเกาะกับพื้นผิว สร้างโดยกลุ่มของเชื้อที่อาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งมีสารต่าง ๆ หลายชนิด ทำหน้าที่เป็นชั้นปกป้องเชื้อที่อาศัยอยู่ภายใน รวมทั้งสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อที่อยู่ภายในไบโอฟิล์ม และจากผลการศึกษาพบว่าสารสกัดรากชะเอมเทศ สามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ C. glabrata  และ C. tropicalis ได้ โดยค่า MFC ของสารสกัดชะเอมเทศ ในการยับยั้งเชื้อ C. glabrata สายพันธุ์ ATCC2001 D1 และ 513100 ต่อเชื้อเดี่ยวเท่ากับ 1.5, 0.375 และ 0.75mg/mL ตามลำดับ ต่อเขื้อที่สร้างไบโอฟิล์มเท่ากับ 3 mg/mL ทั้ง 3 สายพันธุ์ ค่า MFC ของสารสกัดชะเอมเทศ ในการยับยั้งเชื้อ C. tropicalis สายพันธุ์ ATCC750 ต่อเชื้อเดี่ยวเท่ากับ 1.5 mg/mL ต่อเขื้อที่สร้างไบโอฟิล์มเท่ากับ 3 mg/mL (Martins, et al., 2016) โดยสรุปสารสกัด 80% เมทานอลจากราก และเหง้าของชะเอมเทศ สามารถยับยั้งเชื้อราแคนดิดาหลายสายพันธุ์ได้ทั้งชนิดเชื้ออิสระ และเชื้อที่สร้างไบโอฟิล์ม

 

การศึกษาทางคลินิก:                -

 

อาการไม่พึงประสงค์:

       การรับประทานตำรับยาที่ผสมชะเอมเทศในปริมาณสูง ติดต่อกันนาน อาจทำให้ความดันโลหิตสูงชึ้น เนื่องจากการสะสมน้ำในร่างกาย มีอาการบวมที่มือและเท้า เนื่องจากโซเดียมถูกขับได้น้อยลง แต่โพแทสเซียมถูกขับออกมากขึ้น และไม่ควรใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide หรือยากระตุ้นหัวใจ กลุ่ม cardiac glycoside เพราะจะทำให้โพแทสเซียมถูกขับออกมากขึ้น  (รุ่งระวี และคณะ, 2557)

      ในรายที่ใช้เกินขนาดคือ มากกว่า 50 กรัม/วัน และใช้ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ จะทำให้หน้า และเท้าบวม ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ น้ำหนักตัวเพิ่ม กล้ามเนื้อไม่มีแรง เพราะร่างกายสูญเสียโปแตสเซียม บางรายหัวใจหยุดเต้น (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, 2543)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

          พิษเฉียบพลัน สารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศเมื่อป้อนให้หนูขาว และหนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 16 กรัม/กิโลกรัม นน.ตัว เมื่อฉีดเข้าทางหน้าท้อง และฉีดใต้ผิวหนัง มีค่า LD50 เท่ากับ 1.5 และ 4.2 กรัม/กิโลกรัม นน.ตัว ตามลำดับ (สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, 2543)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน, เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร, อำพล บุญเปล่ง, อุบลวรรณ บุญเปล่ง. 2557. สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน. หจก. สามลดา:กรุงเทพมหานคร.

2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2543. คู่มือสมุนไพร ฉบับย่อ (1). นิวไทยมิตรการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร.

3. สุทธิพลินทร์ สุวรรณกุล, สุทธิมาศ หยวกหยง, กรรณิการ์ มาลี, พัชราวลี นันบุญตา, ภัทรวุฒิ บุรีรักษ์. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดชะเอมเทศต่อเชื้อ Staphylococcus aureus ที่เจริญแบบอิสระและแบบไบโอฟิล์ม. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2557;22(1):80-90

4. Martins N, Ferreira ICFR, Henriques M, Silva S. In vitro anti-Candida activity of Glycyrrhiza glabra L. Industrial Crops and Products. 2016;83:81-85.

5.Wittschier N, Faller G, Hensel A. Aqueous extracts and polysaccharides from liquorice roots (Glycyrrhiza glabra L.) inhibit adhesion of Helicobacter pylori  to human gastric mucosa. Journal ethnopharmacology. 2009;125:218-223.

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 3
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่