เกสรบัวหลวง
ชื่อเครื่องยา | เกสรบัวหลวง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | |
ได้จาก | เกสรตัวผู้แห้งของดอกบัวหลวง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | บัวหลวง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | โช้ค (เขมร บุรีรัมย์) บัว อุบล (กลาง) บัวหลวง (กลาง) ปทุม (กลาง) สัตตบงกช (กลาง) สัตตบุษย์ (กลาง) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Nelumbo nucifera Gaertn. |
ชื่อพ้อง | Nelumbo caspica (Fisch.) Schipcz., Nelumbo komarovii Grossh., Nelumbo speciosa Willd., Nymphaea nelumbo L. |
ชื่อวงศ์ | Nelumbonaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา :
ได้จากเกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด เครื่องยาเกสรบัวหลวง พบว่ามีลักษณะภายนอกคือ เกสรมีลักษณะเป็นเส้นบางๆ ตรงกลางเห็นเป็นร่องลึกลงไป ขนาดความยาว 0.6-2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลเหลือง ส่วนก้านชูเกสรตัวผู้ เป็นรูปทรงกระบอกยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร สีม่วงอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะ รสฝาด
เครื่องยา เกสรบัวหลวง
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี :
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10%,ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1%, ปริมาณสารสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน แอลกอฮอล์ และน้ำ เท่ากับ 7, 9, 7, 17 % w/w ตามลำดับ และพบองค์ประกอบหลักคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์
สรรพคุณ :
ตำรายาไทย: เกสรบัวหลวง ใช้บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงกำลัง คุมธาตุ แก้ล้ม แก้ไข้
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม” สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส), "ตำรับยาตรีเกสรมาศ" ปรากฎการใช้เกสรบัวหลวง ร่วมกับเปลือกฝิ่นต้น และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย นอกจากนี้ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน
ตำรายาจีน: ใช้แก้ปัสสาวะบ่อย แก้น้ำกามเคลื่อน (ฝันเปียก) แก้ตกขาว ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เลือดกำเดาไหล และแก้อาการท้องเสีย
รูปแบบและขนาดยาที่ใช้ :
เมื่อใช้บำรุงหัวใจ เกสรปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ
1. เกสรบัวหลวงสด หรือแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง
2. เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผงครั้งละ 0.5 -1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มหรือใช้ในขนาด 3-5 กรัม
องค์ประกอบทางเคมี :
เกสรบัว มีฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside และมีรายงานพบแอลคาลอยด์ด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา :
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบในเกสรมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้เมื่อทดสอบด้วยวิธีทางเคมี มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 42.05 ug/ml (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2551)
การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมทานอล และสารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเฮกเซน:อะซิโตน:เมทานอล:โทลูอีน (10:7:6:7) ที่ได้จากเกสรบัวหลวง 4 ชนิด ได้แก่ บัวหลวงปทุม (ดอกตูมสีชมพูทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว), บัวหลวงสัตตบงกช (ดอกตูมทรงป้อมสีชมพู), บัวหลวงบุณฑริก (ดอกตูมสีขาวทรงแหลม รูปไข่ ปลายเรียว) และบัวหลวงสัตตบุตย์ (ดอกตูมทรงป้อมสีขาว) ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด คือ สัตตบงกช, สัตตบุษย์, บุณฑริก และปทุม สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 31.60±3.40, 40.90±1.50, 62.22±4.00 และ 68.30±6.30 g/mL ตามลำดับ สารสกัดด้วยตัวทำละลายผสมของเกสรบัวหลวง 4 ชนิด มีค่า IC50 เท่ากับ 1.29±0.02, 1.83±0.07, 2.23±0.05 และ 2.21±0.06 mg/mL ตามลำดับ สรุปได้ว่าบัวหลวงสัตตบงกชมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยสารสกัดเมทานอลออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดผสม 40 เท่า (p<0.05, ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%) (Phonkot, et al., 2008)
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน
เกสรตัวผู้ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง rat lens aldose reductase (RLAR) และ advance glycation end products (AGE) โดยมีค่า IC50 48.30 และ 125.48 ug/ml ตามลำดับ ซึ่งการยับยั้ง RLAR และ AGE มีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน (Jung, 2008)
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตสที่เลนส์ตา
สารสกัดเมทานอลของเกสรตัวผู้บัวหลวงพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ที่เลนส์ตาของหนูแรทได้ จึงอาจช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่ตาในผู้ป่วยเบาหวานได้ (เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริมาณกลูโคสในกระแสเลือดสูง มักพบอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะที่ตา เป็นบริเวณที่มีปริมาณกลูโคสสะสมมาก ทําให้เอนไซมอัลโดสรีดักเทส เปลี่ยนกลูโคสเป็นสารซอร์บิทอลที่บริเวณเลนส์ตา และเรตินา ซึ่งซอร์บิทอลเป็นสารที่ไม่สามารถแพร่ผ่านเซลเมมเบรนได้จึงสะสมอยู่ภายในเลนส์ตาทำให้เกิดต้อกระจกได้) การทดสอบใช้สารสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตต และบิวทานอล ซึ่งสามารถแยกฟลาโวนอยด์จากสารสกัดเอทิลอะซิเตตได้ 13 ชนิด ได้แก่ kaempferol (1), glycosides (2-9), myricetin 3',5'-dimethylether 3-O-beta-d-glucopyranoside (10), quercetin 3-O-beta-d-glucopyranoside (11) และ isorhamnetin glycosides (12, 13) สารที่ไม่ใช่ฟลาโวนอยด์ 4 ชนิด ได้แก่ adenine (14), myo-inositol (15), arbutin (16) และ beta-sitosterol glucopyranoside (17) นำมาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์แอลโดสรีดักเตส พบว่าโครงสร้าง 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside ในring C ของฟลาโวนอยด์, kaempferol 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (5) และ isorhamnetin 3-O-alpha-l-rhamnopyranosyl-(1-->6)-beta-d-glucopyranoside (13) มีค่า IC50 เท่ากับ 5.6 และ 9.0 ไมโครโมล่าร์ ตามลำดับ(Lim, et al., 2006)
การศึกษาทางพิษวิทยา :
สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม โดยการป้อน หรือฉีดใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษ (นพมาศ และนงลักษณ์, 2551)
การศึกษาความเป็นพิษในหนูทดลองโดยให้สารสกัดเอทานอลจากเกสรบัวหลวงโดยป้อนให้แก่หนูทดลอง การทดสอบพิษเฉียบพลัน ป้อนสารสกัด ในขนาด 5000 mg/kg ครั้งเดียว สังเกตผลภายใน 24 ชั่วโมง และติดตามอีก 14 วัน ผลการทดสอบ ไม่พบอาการพิษ ไม่พบการตายของหนู และ การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง ป้อนสารสกัด ขนาด 50, 100 และ 200 mg/kg/day เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษที่เกิดขึ้นกับหนูทดลอง น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นเมื่อให้ยาในขนาด 200 mg/kg/day แก่หนูเพศเมีย ในวันที่ 90 พบว่าน้ำหนักหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะภายใน (Kunanusorna, et al., 2011)
ข้อควรระวัง:
เกสรบัวหลวงอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน (โดยเฉพาะคนที่แพ้เกสรดอกไม้)
เอกสารอ้างอิง:
1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร 2549. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.
2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2551.
3. Jung HA, Jung YJ, Yoon NY, Jeong DM, Bae HJ, Kim D-W, Na DH, Choi JS. Inhibitory effects of Nelumbo nucifera leaves on rat lens aldose reductase, advanced glycation endproducts formation, and oxidative stress. Food and Chemical Toxicology 2008:46: 3818–3826.
4. Kunanusorna P, Panthonga A, Pittayanurakb P, Wanauppathamkulc S, Nathasaend N, Reutrakul V. Acute and subchronic oral toxicity studies of Nelumbo nucifera stamens extract in rats. J Ethnopharmacology. 2011;134:789–795.
5. Lim SS, Jung YJ, Hyun SK, Lee YS, Choi JS. Rat lens aldose reductase inhibitory constituents of Nelumbo nucifera stamens. Phytother Res. 2006;20(10):825-830.
ุ6. Phonkot N, Wangsomnuk P, Aromdee C. Antioxidant activity and DNA fingerprint of four varieties of lotus stamens (Nelumbo nucifera Gaertn.). Songklanakarin J Sci Technol. 2008;30(1):55-58.
ข้อมูลตำรับยาเขียวหอม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาตรีเกสรมาศ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/