กระชาย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระชาย

ชื่อเครื่องยา กระชาย
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เหง้า และราก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กระชาย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม) ละแอน (เหนือ) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) จี๊ปู ซีพู เป๊าะซอเร้าะ เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ขิงแดง ขิงกระชาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
ชื่อพ้อง Boesenbergia cochinchinensis ( Gagnep.) Loes., Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr., Curcuma rotunda L., Gastrochilus panduratus (Roxb.) Ridl., Gastrochilus rotundus (L.) Alston, Kaempferia cochinchinensis Gagnep., Kaempferia ovata Roscoe, Kaempferia pandurata Roxb.
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เหง้าสั้น (เรียก “กระโปกกระชาย”) มีรากสด แตกออกจากเหง้าเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว่าส่วนหัวและท้าย รูปทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม (เรียก “นมกระชาย”) กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีรสเผ็ดร้อน ขม กลิ่นหอมฉุน

 

เหง้ากระชาย

 

เหง้ากระชาย

 

เหง้ากระชาย

 

 

ต้น และดอก กระชาย  

 

                                                                                                                                                                                                                  ดอก กระชาย  

 

                                                                                                                                                     

                                                                                                                                                                                                                     ดอก กระชาย  

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

           น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าและราก เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว


สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: เหง้า  ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดเบ่ง รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น ราก(นมกระชาย) แก้กามตายด้าน ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงความกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า “โสมไทย” หัวและราก ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง แดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหวิว ขับปัสสาวะ หัวใช้เผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใส เป็นยาแก้บิด แก้โรคบังเกิดในปาก แก้มุตะกิต

            บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของเหง้ากระชายร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
           ตำรายาแผนโบราณของไทย: มีการใช้กระชายใน “พิกัดตรีกาลพิษ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้พิษตามกาลเวลา 3 อย่าง มีรากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน
           ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้เหง้า แก้โรคบิด โดยนำเหง้าย่างไฟให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส รับประทานทั้งน้ำและเนื้อ ครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น และใช้เหง้าแก้กลากเกลื้อน โดยนำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นแผล
           ตำรายาพื้นบ้านล้านนา: ใช้เหง้า รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน ท้องอืดเฟ้อ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง

              ใช้เหง้า หรือรากประมาณครึ่งกำมือ(น้ำหนักสด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ทุบพอแตกต้มกับน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ หรือปรุงอาหารรับประทาน
           2. แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย)
              ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

 

องค์ประกอบทางเคมี:
            น้ำมันระเหยง่าย 0.08% ประกอบด้วย 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin

            สารกลุ่ม flavonoid และ chromene ได้แก่ panduratin A (prenylated cyclohexenylchalcone), 6- dihydroxy -4 - methoxychalcone, pinostrobin, pinocembin (flavanone)  
 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส covid 19  (Corona virus disease 2019) 

           โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า severe acute respiratory syndrome corona virus-2 (SARS-CoV-2) เชื้อไวรัสนี้ติดต่อโดยผ่านการได้รับละอองฝอยจากการไอจามของผู้ที่มีเชื้อ หรือเอามือไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านการขยี้ตา แคะจมูก หรือจับปาก หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย  มีระยะฟักตัว 2-14 วัน ไวรัส SARS CoV-2 มีโปรตีนสไปค์ (spike) จับได้ดีกับโปรตีนตัวรับของ angiotensin-converting enzyme 2 (ACE-2 ) ของเซลล์โฮสต์ที่เยื่อบุทางเดินหายใจ เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอดจะทำให้เกิดการหลั่งไซโตไคน์กระตุ้นการอักเสบของปอด ทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อในวงกว้าง (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2564)

          ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2 ในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอล และสารบริสุทธิ์ panduratin A ที่แยกได้จากเหง้ากระชาย ทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเขื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ (Pre-entry) หรือการป้องกันการติดเชื้อ และการยับยั้งไวรัสภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว (Post-entry) โดยการทดสอบแบบ Pre-entry จะทำการบ่มเพาะสารสกัดกับเชื้อไวรัสก่อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปเติมลงในเซลล์ปกติ หลังจากนั้นอีก 48 ชั่วโมง จึงนำมาวิเคราะห์ผล สำหรับ post-entry จะทำให้เซลล์ปกติติดเชื้อไวรัสก่อนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงเติมสารสกัดหรือสารบริสุทธิ์ที่จะใช้ทดสอบ หลังจากนั้นอีก 48 ชั่วโมง จึงนำมาวิเคราะห์ผล (cell เพาะเลี้ยงที่ใช้ทดสอบมี 2 ชนิด คือ Vero E6 ได้จากเนื้อเยื่อไตของลิง และ Calu-3 เป็นเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมนุษย์, เชื้อ SARS-CoV-2 ได้จากการ swab บริเวณเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก  ของผู้ป่วย COVID 19 ในประเทศไทย) ใช้วิธีการทดสอบ 2 วิธีคือ High content imaging system หลักการคือใช้แอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับ nucleoprotein ของเชื้อ SARS-CoV-2 เมื่อสิ้นสุดปฏิกิริยาแล้วจะนำเซลล์ที่ติดเชื้อมาวิเคราะห์ด้วย fluorescence และแสดงผลเป็นภาพเซลล์ และคำนวณร้อยละของเซลล์ที่ติดเชื้อ วิธีที่สองคือ  Plaque inhibition assay โดยการย้อมสีเซลล์ ตรวจดูการติดสีย้อมของเซลล์ติดเชื้อ และนับปริมาณ  plaque  ซึ่งเป็นบริเวณของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส และไม่ติดสีย้อม แล้วคํานวณหาปริมาณไวรัสโดยมีหน่วยเป็น  Plaque Forming Unit /ml  (PFU/ml) และหาขนาดความเข้มข้นที่ยับยั้งการสร้าง plaque ได้ร้อยละ 50 (IC50) ตรวจสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyl tetrazolium bromide หรือ MTT assay และหาขนาดความเข้มข้นที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ ร้อยละ 50 (CC50)

          ผลการวิจัยสมุนไพรไทยจำนวน 122 ชนิด ทดสอบแบบ Post-entry ด้วยวิธี High content imaging system โดยใช้ Vero E6 cell พบว่ากระชายออกฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อ โดยสารสกัดเหง้ากระชาย และ panduratin A (สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้ากระชาย) มีค่าการยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 3.62 μg/ml และ 0.81 μM ตามลำดับ  (CC50 เท่ากับ 28.06 μg/ml และ 14.71 μM ตามลำดับ) ยามาตรฐาน hydroxychloroquine ค่า IC50 เท่ากับ 5.08 μM การทดสอบด้วยวิธี Plaque inhibition assay พบว่าค่าความเข้มข้นของสารสกัดกระชาย และ panduratin A ในการยับยั้งเชื้อได้อย่างสมบูรณ์ เท่ากับ 12.5 μg/ml และ 5 μM ตามลำดับ  การทดสอบแบบ Pre-entry พบว่าสารสกัดกระชาย และ panduratin A  มีค่า IC50 เท่ากับ 20.42 μg/ml และ 5.30 μM ตามลำดับ (CC50 เท่ากับ>100 μg/ml และ 43.47 μM ตามลำดับ)โดยขนาดความเข้มข้นสำหรับ Pre-entry สูงกว่า Post-entry ประมาณ 5 และ 6 เท่า ตามลำดับ ยามาตรฐาน hydroxychloroquine ค่า IC50 เท่ากับ 8.07 μM สำหรับสมุนไพรอีก 2 ชนิด ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ดี รองจากกระชายคือ ฟ้าทะลายโจร และขิง โดยเมื่อทดสอบแบบ Post-entry ด้วยวิธี High content imaging system โดยใช้ Vero E6cell พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจร และ andrographolide (สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากฟ้าทะลายโจร) มีค่า IC50 เท่ากับ 68.06 μg/ml และ 6.58 μM ตามลำดับ  (CC50 เท่ากับ >100 μg/ml และ 27.77 μM ตามลำดับ) สารสกัดเหง้าขิง และ gingerol (สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้าขิง) พบว่าค่า IC50 เท่ากับ 29.19 μg/ml และ >100 μM ตามลำดับ  (CC50 เท่ากับ 52.75 μg/ml และ >100 μM ตามลำดับ)

          ผลการทดสอบสาร panduratin A จากกระชาย เปรียบเทียบผลกับยามาตรฐาน remdesivir ทดสอบแบบ Post-entry โดยใช้ Vero E6 cell พบว่า panduratin A เมื่อทดสอบด้วยวิธี High content imaging system และ Plaque inhibition assay ตามลำดับ สามารถยับยั้งเชื้อได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.81 และ 0.078 μM ตามลำดับ ยา remdesivir มีค่า IC50 เท่ากับ 2.71 และ 2.65 μM ตามลำดับ ผลการทดสอบเมื่อใช้ Calu-3 ซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมนุษย์ พบว่า panduratin A สามารถยับยั้งเชื้อได้โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.04 และ 0.53 μM ตามลำดับ ยา remdesivir เท่ากับ 0.043 และ 0.086 μM ตามลำดับ 

         โดยสรุปสาร panduratin A จากเหง้ากระชาย ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม prenylated cyclohexenyl chalcone ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ SARS-CoV-2(COVID 19) ในหลอดทดลอง ทั้งการยับยั้งเขื้อไวรัสก่อนเข้าสู่เซลล์ (Pre-entry) หรือการป้องกันการติดเชื้อ และการยับยั้งไวรัสภายหลังจากไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว (Post-entry) หรือการรักษาภายหลังการติดเชื้อแล้ว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบได้ดี ที่มีรายงานในงานวิจัยหลายฉบับ ดังนั้นสาร panduratin A จากกระชาย จึงมีศักยภาพในการนำไปวิจัยต่อในสัตว์ทดลอง และมนุษย์ เพื่อนำมาใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้รักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ในการต้านไวรัส SARS-CoV-2 เนื่องจากป็นพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหาได้ง่าย ราคาไม่แพง (Kanjanasirirat, et al., 2020)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย IFN-γ และ LPS (lipopolysaccharide) พบว่า Boesenbergin A สามารถต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ความเข้มข้น 12.5 ถึง 50 μg/mL และไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ monocytic macrophage RAW 264.7 ของหนู ที่ความเข้มข้น 50 μg/mL เมื่อทดสอบด้วยวิธี วิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assay (Isa, et al., 2012)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

      การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย ทดสอบในเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (A549), เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (PC3), เซลล์มะเร็งตับ (HepG2), เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) และเซลล์ตับปกติ (WRL-68) โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assay พบว่ามีค่าการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 20.22±3.15, 10.69±2.64, 20.31±1.34, 94.10±1.19 และ 9.324±0.24 μg/mL ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน Paclitaxel มีค่า IC50 เท่ากับ 5.81±1.03, 0.08±0.03, 1.18±0.24, 0.06±0.02 และ 0.10±0.05 μg/mL ตามลำดับ แสดงว่าสาร Boesenbergin A จากรากกระชาย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด แต่ก็มีพิษต่อเซลล์ตับปกติสูงด้วย (Isa, et al., 2012)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคน ที่แยกได้จากรากกระชาย โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี ORAC assay (The oxygen radical absorbance capacity  assay) ซึ่งเป็นการวัดความสามารถของสารทดสอบในการยับยั้งอนุมูลเปอร์ออกซี (peroxy radicals) โดยใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน การรายงานผลเป็นความเข้มข้นเทียบเท่ากับ Trolox (สารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินอี) หรือ Trolox equivalents ผลการทดสอบพบว่า Boesenbergin A ขนาด 20 μg/mL และ quercetin ขนาด 5μg/mL ออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับ  Trolox 11.91±0.23 และ 160.32±2.75 μM ตามลำดับ  (Isa, et al., 2012)

 

การศึกษาทางคลินิก:

           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:
 

ทดสอบความเป็นพิษต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง

       ทดสอบความเป็นพิษต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยใช้น้ำคั้นจากเหง้ากระชายสด นำมาทดสอบด้วยวิธีไมโครนิวเคลียส (ไมโครนิวเคลียส (MN) มีลักษณะเป็นก้อนกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 μm มีขอบเขตชัดเจน และเรียบ เป็นตัวบ่งชี้การเกิดความเสียหายต่อโครโมโซม) การทดสอบไมโครนิวเคลียสเป็นการศึกษาในเซลล์ polychromatic erythrocytes (PCE) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่เจริญเต็มที่ และ normochromatic erythrocytes (NCE) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์กว่า ทดสอบในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยที่กลุ่มควบคุมจะได้รับน้ำกลั่น 1 ml ต่อวัน และกลุ่มทดลองได้รับน้ำกระชายคั้นขนาด 60, 120 หรือ 600 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน แล้วเก็บตัวอย่างเลือด และเซลล์ไขกระดูกไปทดสอบ ประเมินความเป็นพิษจากค่าอัตราส่วน PCE ต่อจำนวนเม็ดเลือดแดงทั้งหมด (total erythrocytes) ผลการทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นต่อเซลล์ PCE และ NCE ในไขกระดูก พบว่าหนูขาวที่ได้รับน้ำกระชายคั้นทุกกลุ่มมีจำนวน PCE MNPCE และ NCE ไม่มีความแตกต่างกับกลุ่มควบคุม แต่มีจำนวน MNNCE และ MNNCE/NCEมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) อย่างไรก็ตามค่าอัตราส่วนของ PCE ต่อ total erythrocytes (PCE/ total erythrocytes ratio) ที่ใช้บ่งชี้ความเป็นพิษของสารต่อเซลล์กลับไม่พบความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม อีกทั้งการทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นในเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือด พบว่า PCE, MNPCE, reticulocyte และ MN-reticulocyte ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ามีจานวนไมโครนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดลดลง เมื่อเทียบกับจำนวนไมโครนิวเคลียสในเซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีไมโครนิวเคลียสเหล่านี้ถูกกำจัดโดยการทำหน้าที่ของม้าม การศึกษานี้ยังพบว่ามีไมโครนิวเคลียสอยู่ใน reticulocyte ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไมโครนิวเคลียสที่รูปร่างกลม ที่มีขนาดใหญ่ หรือมีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว อาจเนื่องมาจากม้ามไม่สามารถกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีไมโครนิวเคลียสขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ และที่คงพบเซลล์ PCE ในเลือดก็ยังอยู่ในช่วงเกณฑ์ปกติที่สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 2 ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำกระชายคั้นไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงในไขกระดูก และในเลือดของหนูขาวเมื่อทดสอบด้วยวิธีไมโครนิวเคลียส แม้จะให้หนูในขนาดความเข้มข้นสูงถึง 600 mg/kg ต่อเนื่องกัน 30 วัน จึงใช้เป็นพืชสมุนไพรที่รับประทานสดในสภาวะปกติได้อย่างปลอดภัย (U-pathi and Sudwan, 2013)

การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง

      ศึกษาความเป็นพิษของสารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ สารพิโนเซมบริน (5, 7-dihydroxyflavanone)  และสารพิโนสโตรบิน (5-hydroxy-7-methoxy flavanone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ทดสอบในหนูขาวโดยให้สารพิโนเซมบริน และสารพิโนสโตรบิน แก่หนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ในขนาดความเข้มข้น 500 mg/kg ผลการศึกษาพบว่าสารทั้งสองชนิดไม่ก่อให้เกิดการตายในหนู และจากการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ไต อัณฑะ ต่อมไทมัส และค่าทางชีวเคมีของเลือด ได้แก่ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), ปริมาณโปรตีนรวม, อัตราส่วนของ albuminกับ globulin, ปริมาณยูเรีย ตลอดจนน้ำหนักตัวของหนู ไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Charoensin, et al., 2010)

การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

      จากการทดสอบฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม หรือการก่อกลายพันธุ์ ด้วยการให้สารพิโนเซมบริน และพิโนสโตรบินซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ในขนาด 1, 10  หรือ 100 mg/kg แก่หนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าสารทั้งสองชนิดดังกล่าว ไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการแตกหักของโครโมโซม  และไม่มีผลต่อดัชนีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ (mitotic index) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารพิโนเซมบริน และพิโนสโตรบินไม่มีความเป็นพิษในหนูขาว และไม่มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมในเซลล์ตับหนูขาวในช่วงความเข้มข้น 1-100 mg/kg (Charoensin, et al., 2010)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2564. คู่มือเภสัชกร:เพื่อให้คำแนะนำเรื่องวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. (หนังสือ e-book)

2. Charoensin S, Punvittayagul C, Pompimon W, Mevatee U, Wongpoomchai R. Toxicological and clastogenic evaluation of pinocembrin and pinostrobin isolated from Boesenbergia pandurata in wistar rats. Thai J Toxicology. 2010;25(1):29-40.

3. Isa NM, Abdelwahab SI, Mohan S, Abdul AB, Sukari MA, Taha MME, et al. In vitro anti-inflammatory, cytotoxic and antioxidant activities of boesenbergin A, a chalcone isolated from Boesenbergia rotunda (L.) (fingerroot). Braz J Med Biol Res. 2012;45(6):524-530.

4. Kanjanasirirat P, Suksatu A, Manopwisedjaroen S, Munyoo B, Tuchinda P, Jearawuttanakul K, Seemakhan S, Charoensutthivarakul S, Wongtrakoongate P, Rangkasenee N, Pitiporn S, Waranuch N, Chabang N, Khemawoot P, Sa-Ngiamsuntorn K, Pewkliang Y, Thongsri P, Chutipongtanate S, Hongeng S, Borwornpinyo S, Thitithanyanont A. High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component panduratin A as anti-SARS-CoV-2 agents. Scientific reports. 2020;10(1):19963.

5. U-pathi J, Sudwan P. Toxicity study of Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. juice by using micronucleus test in male wistar rat. Thai J Genet. 2013;S(1):187-191.

 

 

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 74
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่