ตะไคร้แกง
ชื่อเครื่องยา | ตะไคร้แกง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | ตะไคร้บ้าน |
ได้จาก | เหง้าและลำต้น |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | ตะไคร้แกง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | คาหอม (แม่ฮ่องสอน) จะไคร (เหนือ) เซิดเกรย (เขมร สุรินทร์) ตะไคร้ (ภาคกลาง) ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หัวสิงไค (เขมร ปราจีนบุรี) เหลอะเกรย (เขมร สุรินทร์) ไคร (คาบสมุทร) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Cymbopogon citratus (DC.) Stapf |
ชื่อพ้อง | Andropogon ceriferus Hack. Andropogon citratus DC. Andropogon fragrans C.Cordem. Andropogon roxburghii |
ชื่อวงศ์ | Graminae (Poaceae) |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ลำต้นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง ตามปล้องมักมีไขปกคุลม เหง้า มีข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวล หรือสีขาวปนม่วง รสปร่า มีกลิ่นหอมเฉพาะ
เครื่องยา ตะไคร้แกง
ตะไคร้แกงสด
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ต้น รสหอมปร่า ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต เหง้า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือน ขับระดูขาว ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของลำต้นตะไคร้แกงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ทั้งต้น ลดไข้ โดยนำมาต้มจนเดือดประมาณ 10 นาที ยกลงดื่มครั้งละครึ่งแก้วสามเวลา ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนังโดยต้มกับน้ำและนำมาอาบ
ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: ใช้รักษาอาการบวมในเด็ก วัยกลางคน และคนชรา โดยในตำรับประกอบด้วยตะไคร้ และสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด นำไปต้มอาบ
ทางสุคนธบำบัดน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้บ้าน ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว มีชีวิตชีวา ทำให้กระปรี้กระเปร่า คลายเครียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร บรรเทาอาการปวดโรคข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
รักษาอาการขัดเบา
เหง้าและลำต้นสด หรือแห้ง 1 กำมือ หรือน้ำหนักสด 40-60 กรัม แห้ง 20-30 กรัม ทุบต้มกับน้ำพอควร แบ่งดื่ม 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ถ้วยชา (75 มิลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือจะหั่นตะไคร้ คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอเหลือง ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร
รักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด
ใช้เหง้าและลำต้นสด 1 กำมือ น้ำหนัก 40-60 กรัม ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เดือด 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ ครั้งละ 1/2 แก้ว วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
องค์ประกอบทางเคมี:
พบสาร citral 80% นอกจากนี้ยังพบ geranial, nerol, geraniol, myrcene, limonene, eugenol, linalool, menthol, nerolidol, camphor, farnesol, citronellol, citronellal, farnesol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์แก้ปวด
ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยจากใบของตะไคร้สดที่กลั่นด้วยไอน้ำ ในหนูถีบจักรเพศผู้ สายพันธุ์ Swiss ใช้การทดสอบฤทธิ์ลดปวด 3 วิธี ได้แก่ Hot plate test, Acetic acid-induced writhings และ Formalin test การทดสอบด้วยวิธี hot-plateโดยจับเวลาที่หนูถีบจักร สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อน โดยการป้อน หรือฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง และจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ที่เวลา 30, 60 และ 90 นาที หลังได้รับสารทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ได้รับการฉีดน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ที่ขนาด 50 และ 100 มก./กก. สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ ที่เวลา 60 นาที เท่ากับ 50 และ 80% ตามลำดับ หนูที่ได้รับสารทดสอบโดยการกินสามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้ 40 และ 52% ตามลำดับ (ที่เวลา และความเข้มข้นเดียวกับวิธีฉีด) สารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูที่เวลา 60 และ 90 นาที สามารถเพิ่มระยะเวลาที่หนูทนอยู่บนแผ่นความร้อนได้เท่ากับ 62 และ 48% ตามลำดับ พบว่าฤทธิ์ระงับปวดถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid
การทดสอบด้วยวิธี acetic acid-induced writhing โดยป้อนสารทดสอบทางปาก หรือฉีดเข้าทางช่องท้องแก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 1 ชั่วโมง (วิธีกิน) จึงเหนี่ยวนำให้หนูเจ็บปวดโดยการฉีดกรดอะซิติก 0.6 % เข้าทางช่องท้อง ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้สามารถลดการหดตัวของกล้ามเนื้อท้องของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อให้โดยวิธีการฉีดในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดการเจ็บปวดได้ 87.7% (สารมาตรฐาน indomethacin โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 2 mg/kg ยับยั้งได้ 96%)
การทดสอบด้วยวิธี formalin test ทำโดยการฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าทางช่องท้อง (50, 100, 200มก./กก. หรือป้อนทางปาก (50, 100 มก./กก.) ในหนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที (วิธีฉีด) หรือ 60 นาที (วิธีกิน) จึงฉีด formalin 1% เข้าทางใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (ซึ่งแสดงถึงความเจ็บปวด) ใน 2 ช่วง คือ first phase (0-5 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน (acute pain) อีกช่วงหนึ่งคือ second phase (20 นาที หลังจากฉีด formalin) ซึ่งแสดงถึงการอักเสบ (inflammation phase) พบว่าเมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยในขนาด 50 มก./กก. และสารมาตรฐาน meperidine ขนาด 5มก./กก. สามารถลดการเจ็บปวดในระยะ second phase ได้ 70 และ 76% ตามลำดับ โดยฤทธิ์ระงับปวด ถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน (opioid antagonist) แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพรในตำรับ น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioid โดยสรุปน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้แกงมีฤทธิ์แก้ปวดโดยมีกลไกผ่านระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย (Viana, et al., 2000)
ฤทธิ์ต้านจุลชีพ
ฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านด้วยเอทานอล, น้ำเย็น และน้ำร้อน ทดสอบด้วยวิธี disc-diffusion ต่อเชื้อ 3 ชนิด ได้แก่เชื้อแบคทีเรีย Staphyococcus aureus, Escherıchıa coli และเชื้อรา Candida albicans ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดจากใบตะไคร้บ้านสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ทั้ง 3 ชนิด โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus และ E. coli ได้ดีที่สุด คือสารสกัดเอทานอล โดยมีค่าเฉลี่ยบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (inhibition zone) เท่ากับ 16±1.75 และ 12± 0.00 มิลลิเมตร ตามลำดับ สารสกัดใบตะไคร้บ้านด้วยน้ำเย็นยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้ดีที่สุด โดยมีค่า inhibition zone เท่ากับ 10± 0.58 มิลลิเมตร (ยามาตรฐานสำหรับเชื้อ S. aureus, E. coli และ C. albicans ได้แก่ gentamycin, olfloxacin และ clotrimazole ตามลำดับ มีค่าเฉลี่ย inhibition zone เท่ากับ >30, >30 และ 35 มิลลิเมตร ตามลำดับ (Okigbo and Mmeka, 2008)
ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ที่ได้จากน้ำมันหอมระเหย ทดสอบด้วยวิธี disk diffusion โดยใช้เชื้อรา จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ Candida albicans ATCC 10231, Candida albicans ATCC 18804, Candida albicans CI-I (clinical isolate), Candida albicans CI-II, Candida krusei ATCC 6258, Candida glabrata ATCC 2001, Candida tropicalis ATCC 750 และ Candida parapsilosis ATCC 22019 ซึ่งเชื้อราเหล่านี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง ช่องปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด รวมทั้งการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย ในขนาด 4 μL ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อราทุกชนิด โดยมีค่าบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (>20 มิลลิเมตร) ซึ่งมากกว่าสารมาตรฐาน nystatin (0.3 mg/mL, 20.0 μL) ในเชื้อทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ ยกเว้นเชื้อ C. krusei ต้องใช้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ และสาร citral ในปริมาณ 8 μL การหาปริมาณสาร citral ในน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ด้วยวิธี gas chromatography พบว่ามีปริมาณเท่ากับ 76% และปริมาณ citral ที่คาดว่าจะมีอยู่ในน้ำมันหอมระเหย 4 μL และ 8 μL เท่ากับ 2.70 และ 5.41 mg ตามลำดับ (Silva, et al., 2008)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ทดสอบในสัตว์ทดลอง เมื่อให้ในขนาด 20 เท่า ของขนาดที่ใช้เป็นอาหารในคน ไม่พบอาการพิษ
ระวังการใช้ในคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) เนื่องจาก citral จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น
เอกสารอ้างอิง:
1. Okigbo RN, Mmeka EC. Antimicrobial effects of three tropical plant extracts on Staphylococcus aureus, Escherichia coli and Candida albicans. Afr J Trad CAM. 2008;5(3):226-229.
2. Silva CB, Guterres SS, Weisheimer V, Schapoval EES. Antifungal activity of the lemon grass oil and citral against Candida spp. The Brazilian Journal of Infectious Diseases. 2008;12(1):63-66.
3. Viana GSB, Vale TG, Pinho RSN, Matos FJA. Antinociceptive effect of the essential oil from Cymbopogon citratus in mice. J Ethnopharmacology. 2000;70:323-327.
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/