เถาวัลย์เปรียง
ชื่อเครื่องยา | เถาวัลย์เปรียง |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | เถาวัลย์เปรียงขาว |
ได้จาก | เถา |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | เถาวัลย์เปรียง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | เครือเขาหนัง เถาตาปลา เครือตาปลา(นครราชสีมา) ย่านเหมาะ(นครศรีธรรมราช) พานไสน(ชุมพร) เครือตับปลา |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Derris scandens (Roxb.) Benth |
ชื่อพ้อง | Brachypterum scandens (Roxb.) Wight, Brachypterum scandens Benth., Brachypterum timorense Benth., Dalbergia scandens Roxb., Dalbergia timoriensis DC., Deguelia timoriensis (DC.) Taub., Derris timoriensis (DC.) Pittier, Galedupa frutescens Blanco, Millettia litoralis |
ชื่อวงศ์ | Papilionaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เถาแก่เป็นไม้เนื้อแข็ง เปลือกนอกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแกมสีเทา เปลือกเถาอาจมีร่องหรือคลื่นตามยาว มีช่องอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เถาเหนียว เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้สีออกน้ำตาลอ่อนๆ เห็นรอยวงปีไม่ชัดเจน เนื้อไม้มีรูพรุนตรงกลาง รสเฝื่อน เอียน
เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง
เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง
เครื่องยา เถาวัลย์เปรียง
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8%, ปริมาณเถ้าที่ละลายในกรด ไม่เกิน 1%, ปริมาณความชื้น ไม่เกิน 7%, ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำ ไม่ต่ำกว่า 14%, ปริมาณสารสกัดด้วย 50% เอทานอล ไม่ต่ำกว่า 14%, ปริมาณสารสกัดด้วย 95% เอทานอล ไม่ต่ำกว่า 6%, ดัชนีการเกิดฟองไม่น้อยกว่า 200
สรรพคุณ:
ตำรายาพื้นบ้าน: ใช้เถา ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้หวัด ใช้เถาคั่วไฟให้หอมชงน้ำกินแก้ปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เมื่อยขบในร่างกาย แก้กระษัยเหน็บชา ต้มรับประทานถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย แก้เส้นเอ็นขอด ถ่ายเสมหะ ไม่ถ่ายอุจจาระ เหมาะที่จะใช้ในโรคบิด ไอ หวัด ใช้ในเด็กได้ดี แก้ปวด แก้ไข้ ทำให้เส้นเอ็นอ่อนลง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ บางตำรากล่าวว่าทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยใช้เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากสูตรยาอบสมุนไพรหลัก เมื่อต้องการอบเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้เถาวัลย์เปรียงในตำรับ “ยาผสมเถาวัลย์เปรียง” มีส่วนประกอบของเถาวัลย์เปรียงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เถาวัลย์เปรียงจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ระบุรูปแบบและขนาดวิธีใช้ยาดังนี้
1. บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ผงจากเถาของเถาวัลย์เปรียง รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
2. บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาการปวดจากข้อเข้าเสื่อม
สารสกัดจากเถาด้วย 50%เอทานอล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารทันที
ข้อห้ามใช้:
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
คำเตือน:
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยแผลเพปติก เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์คล้ายยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้
อาการไม่พึงประสงค์ :
ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง ใจสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อุจจาระเหลว
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่ม isoflavone glycoside ได้แก่ eturunagarone, 4,4’-di-O-methylscandenin, lupinisol A, 5,7,4’-trihydroxy-6,8-diprenylisoflavone, 5,7,4’-trihydroxy-6,3’-diprenylisoflavone, erysenegalensein E, derrisisoflavone A-F, scandinone, lupiniisoflavone G, lupalbigenin, derrisscandenoside A-E, 7,8-dihydroxy-4’-methoxy isoflavone, 8-hydroxy-4’,7-dimethoxy isoflavone-8-O-b-glucopyranoside, 7-hydroxy-4’,8-dimethoxy isoflavone-7-O-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-beta-glucopyranoside, diadzein-7-O-[α-rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, derrisscanosides A-B, genistein-7-O-[α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside
สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ 3-aryl-4-hydroxycoumarins สารกลุ่มสเตียรอยด์ได้แก่ lupeol, taraxerol, b-sitosterol สารอื่นๆ เช่น 4-hydroxy-3-methoxy benzoic acid, 4-hydroxy-3,5-dimethoxy benzoic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านอักเสบ
สารสกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยน้ำ นำมาทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบในหลอดทดลองโดยวัดการลดลงของเอนไซม์ myeloperoxidase(MPO) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในแกรนูลซึ่งอยู่ภายในเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ในระหว่างที่มีการอักเสบ MPO จะเคลื่อนที่ออกมา ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำลดการหลั่ง myeloperoxidase ได้ 88% โดยใช้ peritoneal leukocytes ของหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบด้วย calcium ionophore และสารสกัดน้ำมีผลยับยั้งการสังเคราะห์สารอิโคซานอยด์ (eicosanoid) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ leukotriene B4 สารสกัดน้ำยังลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูขาว สายพันธุ์ Sprague–Dawley เมื่อใช้คาราจีแนนเหนี่ยวนำการบวม โดยพบว่าสารสกัดน้ำขนาด 100 และ 500 mg/kg เมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องหนู สามารถลดการบวมได้ 82 และ 91% ตามลำดับ (Laupattarakasem, et al., 2003)
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-1
สกัดลำต้นเถาวัลย์เปรียงด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ 50% เอทานอล,เฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, บิวทานอล และน้ำ และแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดน้ำ 2 ชนิด คือ piscidic acid และ genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside นำมาศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ผลการศึกษาพบว่าสารสกัด 50% เอทานอล, สารสกัดน้ำ, สาร genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside และยามาตรฐาน aspirin สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) ทำให้การสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ พรอสตาแกลนดินลดลง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.11, 4.15, 4.0 และ 4-5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ โดยสารสกัดน้ำ และเอทานอลของลำต้นเถาวัลย์เปรียงไม่มีผลยับยั้งเอนไซม์ COX-2 แต่ aspirin ยับยั้งเอนไซม์ COX-2 โดยมีค่า IC50 = 9-10 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสารสกัดน้ำ สองชนิดคือ สารกลุ่มกรดฟีนอลิค คือ สาร piscidic acid ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ทำให้หลับ กล่อมประสาท และระงับอาการไอ สารอีกชนิดเป็นสารกลุ่มไอโซฟลาโวนกลัยโคไซด์คือ genistein 7-O-α-rhamnosyl (1→6)-β-glucopyranoside ซึ่งมีรายงานว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารทั้งสองชนิดยังเป็นองค์ประกอบหลักในสารสกัด 50%เอทานอล (ประไพ และคณะ, 2556)
ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
การทดสอบในหลอดทดลอง ของสารสกัด 50 % เอทานอลจากลำต้นเถาวัลย์เปรียง โดยใช้เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนนิวเคลียส (peripheral blood mononuclear cells, PBMC) ที่ได้จากอาสาสมัครปกติ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี พบว่าใน PBMC ที่ได้จากอาสาสมัครปกติ สารสกัดมีผลเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ที่ความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มล. ถึง 5 ไมโครกรัม/มล. และผลนี้ลดลงเมื่อความเข้มข้นเพิ่มเป็น 100 ไมโครกรัม/มล. สารสกัดเพิ่มการทำงานของ natural killer (NK) cells ในคนปกติ ที่ความเข้มข้น 10 นาโนกรัม/มล. ถึง 10 ไมโครกรัม/มล. เมื่อทดสอบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี สารสกัดเพิ่มการทำงานของ natural killer (NK) cells ที่ความเข้มข้น 10 ไมโครกรัม/มล (NK cell จัดเป็นเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟไซต์ มีหน้าที่ทำลายเซลล์อื่นๆทั้งหมดที่มันไม่รู้จักว่าเป็นเซลล์ปกติของร่างกาย) นอกจากนั้นยังมีผลกระตุ้นการหลั่ง interleukin-2 (IL-2) จาก PBMC ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นจากระบบภูมิคุ้มกัน (Sriwanthana and Chavalittumrong, 2001)
การศึกษาทางคลินิก:
ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง
การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงเปรียบเทียบกับยามาตรฐานไดโคลฟีแนค (diclofenac) ในการรักษาผู้ป่วยอาการปวดหลังส่วนล่าง 2 กลุ่ม ที่โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว กลุ่มหนึ่งจำนวน 37 ราย รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงบรรจุแคปซูล ขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน และอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 33 ราย รับประทานยาไดโคลฟีแนคชนิดเม็ด ขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาแสดงว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 ของการรักษา แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีรวมทั้งผลข้างเคียงใด ๆ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาไดโคลฟีแนคนั้นตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีระดับอาการปวดลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ 3 และวันที่ 7 ผลการศึกษานี้บ่งชี้ชัดว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงที่ให้รับประทานในขนาดวันละ 600 มิลลิกรัม นาน 7 วัน สามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยายาไดโคลฟีแนค ขนาดวันละ 75 มิลลิกรัม (ยุทธพงษ์ และคณะ, 2550)
ฤทธิ์ลดอาการข้อเข่าอักเสบ
ในการศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาที่เตรียมได้จากเถาวัลย์เปรียงที่ใช้ยืนยันการรักษาโรคข้อเข่าอักเสบ และเป็นการศึกษาไปข้างหน้า ใช้รูปแบบ double blind randomized control trial study ดำเนินการที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในผู้ป่วย 178 คนที่มาตรวจรักษาด้วยอาการปวดเข่าของโรคข้อเข่าอักเสบ ผู้ป่วยถูกสุ่มให้รับยามาตรฐานไอบิวโพรเฟน (Ibuprofen) ขนาด 400 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ขนาด 250 มิลลิกรัม ต่อแคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลานาน 7 วัน ผู้ป่วยได้รับการประเมินผลการรักษาภายหลังการรักษา 3 วัน และ 8 วัน โดยประเมินอาการทั้งหมดด้วย Visual Analogue Scale (VAS) ความสม่ำเสมอของการรับประทานยาที่ได้รับ ผลข้างเคียงของการรักษา การเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา และผลต่อเคมีในเลือด และความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการรักษาที่ได้รับ ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติพรรณนา Two way repeated measure ANOVA, student’s t-test และ non-parametric test ที่เหมาะสม ผู้ป่วย 88 คน ถูกสุ่มให้ได้รับยาไอบิวโพรเฟน และ 90 คนถูกสุ่มให้ได้รับยาแคบซูลเถาวัลย์เปรียง ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยร้อยละ 77.3 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 73.3 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง กินยาอย่างสม่ำเสมอ อาการของผู้ป่วยและความรุนแรงเฉลี่ยของการปวด การรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวนผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นหรืออาการหายไปภายหลังการรักษาด้วยไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลข้างเคียงของการรักษาพบร้อยละ 39.77 ในกลุ่มไอบิวโพรเฟน และร้อยละ 35.55 ในกลุ่มยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตวิทยา และเคมีในเลือดหลังการรักษาในทั้งสองกลุ่ม และความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอบิวโพรเฟนหรือยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียง ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าการรับประทานยาจากสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ติดต่อกัน 7 วันมีประสิทธิผลและความปลอดภัยในการรักษาอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าอักเสบ ไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยยาไอบิวโพรเฟน (ศิษฎิคม และคณะ, 2555)
ฤทธิ์แก้ปวด
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเถาวัลย์เปรียงในการลดอาการปวด ผลการวิจัยพบงานวิจัย3 ฉบับที่สอดคล้องกับเกณฑ์คัดเข้าทั้งหมด และทั้งหมดใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยได้คะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป เมื่อประเมินตามเกณฑ์ของ Jadad และคณะ แต่ละการศึกษามีขนาดตัวอย่างตั้งแต่ 70-178 คน การศึกษาทั้งหมดเป็นการศึกษาในประเทศไทย โดยศึกษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและปวดหลังส่วนล่าง ผลการวิจัยพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิภาพ ในด้านการลดอาการปวดไม่แตกต่างจากยากลุ่ม NSAIDs (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย = 0.01; 95%CI=-0.13, 0.14) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีค่าทางห้องปฏิบัติการไม่แตกต่างกัน ในด้านการเกิดอาการไม่พึงประสงค์พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสาคัญทางสถิติ (RR= -0.84; 95%CI=0.63,1.11) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุดในทั้งสองกลุ่ม คือการระคายเคืองทางเดินอาหาร รองลงมาคือ อาการมึนงง และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากทั้งสามการศึกษา การศึกษานี้เป็นข้อมูลสนับสนุนว่าเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยากลุ่ม NSAIDs ในการลดอาการปวด ซึ่งสามารถนาไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้ (วิระพล และคณะ, 2558)
การศึกษาแบบ meta analysis เพื่อประเมินผลด้านความปลอดภัย และผลทางด้านคลินิกของการใช้สารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง ในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเทียบกับยาในกลุ่ม NSAIDs ผลการศึกษาพบว่าจากงานวิจัยที่รวบรวมมาทั้งหมด 42 ฉบับ คัดเลือกมา 4 การศึกษา มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 414 ราย จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง เมื่อให้โดยการรับประทานสามารถลดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อได้ไม่ต่างจากยาในกลุ่ม NSAID ที่ระยะเวลาใดๆ (3, 7, 14 วัน และอื่นๆ) เปรียบเทียบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยผลข้างเคียงหลักที่เกิดขึ้นเป็นอาการในระบบทางเดินอาหาร (Puttarak, et al., 2016)
ฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน
การวิจัยเป็นแบบสุ่มควบคุม ในการศึกษานี้มีอาสาสมัคร 47 ราย เป็นชาย 19 ราย หญิง 28 ราย อายุระหว่าง 21-44 ปี อาสาสมัครทั้งหมดไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ และมีผลการตรวจเลือด HBS Ag, anti-hepatitis C antibody และ Anti-HIV ½ เดือน เป็นลบ ไม่ได้กินยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ยาหรืออาหารเสริมสุขภาพอื่นๆ ในช่วงการศึกษา อาสาสมัครที่เป็นหญิงไม่มีครรภ์ หรือให้นมบุตรตลอดการศึกษา อาสาสมัครทั้งหมด รับประทานยาเถาวัลย์เปรียงครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหาร วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 2 เดือน และได้รับการสอบถามอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดทุก 2 สัปดาห์ จนครบ 2 เดือน หลังจากหยุดกินยา 1 เดือน ได้รับการตรวจทางโลหิตวิทยา คือ CBC, ปริมาณเม็ดเลือดแดง, ปริมาณเกล็ดเลือด ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครทุกรายไม่มีอาการข้างเคียงในช่วงกินยา ค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีบางค่าที่เปลี่ยนแปลงจากก่อนได้รับสารสกัดอยู่ในเกณฑ์ค่าปกติ นอกจากนี้พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในอาสาสมัครที่มีปริมาณของ IL-2 และ gamma-IFN ในซีรั่มเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษานี้แสดงว่าการรับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 มก. ต่อวัน มีความปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกันนาน 2 เดือน และอาจมีส่วนช่วยควบคุม และหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของ ร่างกายดูจากผลการหลั่งของ IL-2 และ gamma-IFN ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่ช่วยควบคุม และเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (บุษราวรรณ และคณะ, 2552)
การศึกษาทางพิษวิทยา:
เถามีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงควรระวังถ้าจะรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดลำต้นด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดหยาบของเถาวัลย์เปรียง ศึกษาพิษเรื้อรัง (6 เดือน) ของสารสกัดด้วย 50% เอทานอล ของเถาวัลย์เปรียง ในหนูขาว สายพันธุ์วิสตาร์ 4 กลุ่ม ๆ ละ 20 ตัวต่อเพศ กลุ่มควบคุมได้รับน้ำ 10 มล./น้ำหนักตัว 1 กก./ วัน ขณะที่หนูอีกสามกลุ่ม ได้รับสารสกัดในขนาด 6, 60 และ 600 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน หรือเทียบเท่าผงเถาวัลย์เปรียงแห้ง 0.03, 0.3 และ 3 กรัม /น้ำหนักตัว 1 กก./วัน หรือ 1, 10 และ 100 เท่า ของขนาดใช้ในคนต่อวัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดของเถาวัลย์เปรียงไม่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีของซีรั่ม หรือจุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายในที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัด และไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่สามารถสรุปได้ว่าเนื่องมาจากความเป็นพิษของสารสกัด (Chavalittumrong, et al., 1999)
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, ปราณี ชวลิตธำรง, บุญญานี ศุภผล, ประไพ วงศ์สินคงมั่น, รุ่งเรือง กิจผาติ. การศึกษาประสิทธิผลการเพิ่มภูมิคุ้มกันของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสุขภาพดี. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2552;7(1):54-62.
3. ประไพ วงศ์สินคงมั่น, จารีย์ บันสิทธิ์, สมชาย แสนหลวงอินทร์, ธนวัฒน์ ทองจีน, อุทัย โสธนะพันธุ์. องค์ประกองทางเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-1 ของสารสกัดเถาวัลย์เปรียง. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก. 2556;11(3): 267-279.
4. ยุทธพงษ์ ศรีมงคล, ไพจิตร์ วราชิต, ปราณี ชวลิตธำรง, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, รัตใจ ไพเราะ, จันธิดา อินเทพ และคณะ. การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับไดโคลฟีแนคเป็นยาบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2550;5(1):17-23.
5. วิระพล ภิมาลย์, วนิดา ไทรชมภู, บรรลือ สังข์ทอง และกฤษณี สระมุณี. การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และการวิเคราะห์อภิมานประสิทธิภาพในการลดอาการปวดของเถาวัลย์เปรียง.วารสารเภสัชกรรมไทย. 2558;7(1):54-62.
6. ศิษฎิคม เบ็ญจขันธ์,ศิวาภรณ์ พุทธิวงศ์, นุชจรินทร์ บุญทัน, มัณฑนา วิจิตร, สุนทร วาปี, สุดธิมา การสมบัติ. การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียงกับ Ibuprofen ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2555;10(2):115-123.
7. Chavalittumrong P, Chivapa S, Chuthaputti A, Rattanajarasroj S, Punyamong S. Chronic toxicity study of crude extract of Derris scandens Benth. Songklanakarin Journal of Science and Technology. 1999;21(4):425-433.
8. Laupattarakasem P, Houghton PJ, Hoult JRS, Itharat A. An evaluation of the activity related to inflammation of four plants used in Thailand to treat arthritis. J Ethnopharmacology. 2003;85: 207-215.
9. Puttarak P, Sawangjit R, Chaiyakunapruk N. Efficacy and safety of Derris scandens (Roxb.) Benth. for musculoskeletal pain treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. J Ethnopharmacology. 2016;194: 316-323.
10. Sriwanthana B, Chavalittumrong P. In vitro effect of Derris scandens on normal lymphocyte proliferation and its activities on natural killer cells in normals and HIV-1 infected patients. J Ethnopharmacology. 2001;76:125-129.
ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/
ข้อมูลตำรับยาผสมเถาวัลย์เปรียง : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/