พิมเสน
ชื่อเครื่องยา | พิมเสน |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา | พิมเสนเกล็ด พิมเสนตรังกานู พรมเสน |
ได้จาก | สารสกัดจากเนื้อไม้พืชสกุล Dryobalanops. สารสกัดจากใบพิมเสนต้น ใบหนาด |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา | พืชสกุล Dryobalanops, พิมเสนต้น, หนาดหลวง |
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) | |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Dryobalanops aromatica Gaertn. (วงศ์ Dipterocarpaceae), หนาดหลวง Blumea balsamifera DC. (วงศ์ Compositae), พิมเสนต้น Pogostemon cablin (Blanco) Benth (วงศ์ Lamiaceae) |
ชื่อพ้อง | - |
ชื่อวงศ์ | - |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
พิมเสนเป็นเกล็ดเล็กๆ สีขาวขุ่น เนื้อแน่นกว่าการบูร ระเหิดได้ช้ากว่าการบูร ติดไฟให้แสงจ้าและมีควันมาก ไม่มีขี้เถ้า พิมเสนบริสุทธิ์จะเป็นผลึกรูปแผ่นหกเหลี่ยม มีจุดหลอมเหลว 208 องศาเซลเซียส ละลายได้ยากในน้ำ ละลายได้ดีในตัวทำละลายชนิดขั้วต่ำ พิมเสนมีกลิ่นหอมเย็น ฉุน รสหอม เย็นปากคอ สมัยก่อนใส่ในหมากพลูเคี้ยว
เครื่องยา พิมเสน
เครื่องยา พิมเสน
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ไม่มีข้อมูล
สรรพคุณ:
ตำรายาแผนโบราณ: ใช้พิมเสนเป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด หัวใจอ่อน บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ทำให้เรอ ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้บาดแผลสด แผลเรื้อรัง แผลกามโรค แผลเนื้อร้าย ผสมในตำรับยาหอม เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ มีสรรพคุณโดยรวมคือแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย
การกลั่นใบและยอดอ่อนของหนาดด้วยไอน้ำ จะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากิน แก้ปวดท้อง ท้องร่วง หรือใช้ขับลม ใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของพิมเสน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ระบุ “ตำรับยาทรงนัตถุ์” เข้าเครื่องยา 17 สิ่ง ใช้ปริมาณเท่าๆกัน รวมทั้ง พิมเสนด้วย ผสมกัน บดเป็นผงละเอียด ใช้นัตถุ์แก้ลมทั้งหลาย ตลอดจนโรคที่เกิดในศีรษะ ตา และจมูก อีกขนานหนึ่งเข้าเครื่องยา 15 สิ่ง รวมทั้งพิมเสนด้วย บดเป็นผงละเอียด ห่อผ้าบาง ทำเป็นยาดม แก้ปวดหัว วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา นอกจากนี้พิมเสนยังใช้เป็นส่วนผสมใน “ตำรับยาสีผึ้งบี้พระเส้น” ใช้ถูนวดเส้นที่แข็งให้หย่อนได้ และในตำรับ “สีผึ้งขาวแก้พิษแสบร้อนให้เย็น”
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี:
borneol
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
ถ้าใช้เกินขนาดอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ความจำสับสน
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/