มะกรูด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มะกรูด

ชื่อเครื่องยา มะกรูด
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ผิวผลชั้นนอก ผล น้ำจากผล
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา มะกรูด
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ใต้) มะหูด (หนองคาย) มะขูด มะขุน (เหนือ) มะขู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) โกร้ยเชียด (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
ชื่อพ้อง Citrus auraria Michel, Citrus balincolong (Yu.Tanaka) Yu.Tanaka, Citrus boholensis (Wester) Yu.Tanaka, Citrus celebica Koord., Citrus combara Raf., Citrus hyalopulpa Yu.Tanaka, Citrus kerrii (Swingle) Yu.Tanaka, Citrus kerrii (Swingle) Tanaka, Citrus latipes Hook.f. & Thomson ex Hook.f., Citrus macroptera Montrouz., Citrus micrantha Wester, Citrus papeda Miq., Citrus papuana F.M.Bailey, Citrus southwickii Wester, Citrus torosa Blanco, Citrus tuberoides J.W.Benn., Citrus ventricosa Michel, Citrus vitiensis Yu.Tanaka, Citrus westeri Yu.Tanaka, Fortunella sagittifolia K.M.Feng & P.Y.Mao, Papeda rumphii
ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-7 ซม. ผิวขรุขระมีจุกที่หัวและท้ายของผล ผลสดเปลือกฉ่ำน้ำ มีต่อมน้ำมันมาก ผิวขรุขระ เมื่อสุกมีสีเหลือง มีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด ผิวมะกรูด มีรสปร่าหอมร้อน รสขม น้ำในผลรสเปรี้ยว

 

เครื่องยา ผิวมะกรูด

 

เครื่องยา ผิวมะกรูด

 

เครื่องยา ผิวมะกรูด

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 12% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 2% v/w  ปริมาณสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มไม่น้อยกว่า 8% w/w  สารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 11% w/w  สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 23% w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ผิว มีรสปร่าหอม ร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น ขับระดู ขับผายลม เป็นยาบำรุงหัวใจ ผล ดองเป็นยาฟอกเลือดในสตรี ช่วยขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ลักปิดลักเปิด น้ำมันจากผิวช่วยป้องกันรังแค และทำให้เส้นผมดกดำเป็นเงางาม ผล รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิตระดู ขับระดู ขับลมในลำไส้ ถอนพิษผิดสำแดง ผล ปิ้งไฟให้สุก ผ่าครึ่งลูก เอาถูฟอกสระผม ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม นิ่มสลวย แก้คัน แก้รังแค แก้ชันนะตุ ทำให้ผมสะอาดแพทย์ตามชนบทใช้ผลเอาไส้ออก ใส่มหาหิงคุ์แทน สุมไฟให้เกรียม บดกวาดปากลิ้นเด็กอ่อน ขับขี้เทา ขับลม แก้ปวดท้องในเด็ก หรือใช้ผลสดนำมาผิงไฟให้เกรียม แล้วละลายให้เข้ากับน้ำผึ้ง ใช้ทาลิ้นให้เด็กที่เกิดใหม่ ยาพื้นบ้านบางถิ่นใช้น้ำมันมะกรูดดองยาที่เรียกว่า “ยาดองเปรี้ยวเค็ม” ที่ใช้กินเป็นยาฟอกโลหิตในสตรี น้ำผลมะกรูด มีรสเปรี้ยว แก้เสมหะในลำคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิตระดู ขับลมในลำไส้ และใช้ถนอมยาไม่ให้บูดเน่า แก้อาการท้องอืด ช่วยเจริญอาหาร ใช้สระผมกันรังแค  เนื้อของผล แก้ปวดศีรษะ
           ตำรายาไทย: ผิวมะกรูดจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม
           ในตำราพระโอสถพระนารายณ์: ระบุตำรับ “น้ำมันมหาจักร” เตรียมได้ง่าย ใช้เครื่องยาน้อยสิ่ง หาซื้อได้ง่าย ในตำรับให้ใช้น้ำมันงา 1 ทะนาน (ขนาดทะนาน 600) มะกรูดสด 30 ลูก ปอกเอาแต่ผิว เตรียมโดยเอาน้ำมันงาตั้งไฟให้ร้อน เอาผิวมะกรูดใส่ลง ทอดจนเหลืองเกรียมดีแล้วให้ยกน้ำมันลง กรองเอากากออก ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาเครื่องยาอีก 7 สิ่ง บดให้เป็นผงละเอียด ใส่ลงในน้ำมันที่ได้ เครื่องยาที่ใช้มี เทียนทั้ง 5 (เทียนตาตั๊กแตน เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนแดง และเทียนดำ) หนักสิ่งละ 2 สลึง ดีปลีหนัก 1 บาท และการบูรหนัก 2 บาท สรรพคุณ ใช้ยอนหู แก้ลม แก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคันก็ได้ ทาแก้เมื่อยขบ และใส่บาดแผล ที่มีอาการปวด ที่เกิดจากเสี้ยน จากหนาม จากหอกดาบ ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ จะไม่เป็นหนอง
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผิวมะกรูด ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” มีส่วนประกอบของผิวมะกรูด อยู่ใน ”เปลือกส้ม 8 ประการ” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง  ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของผิวมะกรูด ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอด ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของผิวผลมะกรูดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้เสมหะ
                   ฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนแกง เติมการบูร หรือพิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือดแช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1-2 ครั้ง ถ้ายังไม่ทุเลากินติดต่อกัน 2-3 วัน
           2. สระผม ให้ดกดำ เงางาม รักษาชันนะตุ  
                   ให้ผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น เมื่อสระผมเสร็จแล้ว เอามะกรูดมาสระซ้ำโดยยีไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรดจะทำให้ผมสะอาด แล้วล้างเอาสมุนไพรออกให้หมด หรือใช้ผลเผาไฟ นำมาผ่าซีกใช้สระผม

องค์ประกอบทางเคมี:
           ผิวมะกรูดมีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 4 มีองค์ประกอบหลักเป็น “เบตาไพนีน” (beta-pinene) ประมาณร้อยละ 30 , “ลิโมนีน” (limonene)  ประมาณร้อยละ 29, beta-phellandrene, citronellal นอกจากนี้ยังพบ linalool, borneol, camphor, sabinene, germacrene D, aviprin ใช้น้ำมันแต่งกลิ่นเครื่องหอม ยาสระผม สบู่ 

           สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ umbelliferone, bergamottin,  oxypeucedanin, psoralen, N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO)       น้ำจากผลพบกรด citric

        

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       สาร coumarins 2 ชนิดที่ได้จากผลมะกรูด ได้แก่ bergamottin และ N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ (NO) ในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) และ interferon-g (IFN- g)  โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 14.0 µM และ 7.9 µM ตามลำดับ (Murakami, et al, 1999)

      สารคูมาริน 3 ชนิด ได้แก่ bergamottin, oxypeucedanin และ psoralen สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนู ที่ถูกกระตุ้นด้วยลิโปพอลิแซ็กคาร์ไรด์ (LPS) และอินเตอร์เฟอรอน (interferon) (Tangyuenyongwatanaand Gritsanapan, 2014)

ฤทธิ์ปกป้องหัวใจ และตับ

      ทดสอบฤทธิ์ปกป้องหัวใจ และตับ ของสารสกัด 70% เอทานอลจากผิวผลมะกรูด ในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague Dawley โดยใช้ doxorubicinขนาด 4.67 mg/kg ในการเหนี่ยวนำให้เกิดพิษต่อหัวใจ และตับ โดยฉีดเข้าทางช่องท้องของหนู ร่วมกับการป้อนสารสกัดเอทานอลจากผิวผลมะกรูดขนาด 500 หรือ 1,000mg/kg ในหนูแต่ละกลุ่ม ต่อเนื่องเป็นเวลา 11 วัน แล้วจึงเก็บเลือด และนำหัวใจ และตับแยกออกมาวิเคราะห์ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูด ขนาด 500 mg/kg ทำให้โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการฟื้นฟู แต่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจำนวนมากยังคงมีอยู่  ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูดขนาด 1,000 mg/kg โครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจมีการฟื้นฟูเช่นกัน แต่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง แต่สารสกัดทั้งสองขนาดไม่สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับได้ และจากการตรวจวัดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ alanine aminotransferase (ALT) และ aspartate aminotransferase (AST) พบว่าสารสกัดทั้งสองขนาดไม่สามารถทำให้ระดับเอนไซม์ตับลดลงได้  โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากผิวผลมะกรูดสามารถปกป้องเนื้อเยื่อหัวใจจากเกิดพิษของ doxorubicin ได้ โดยลดการอักเสบ การบวมของเนื้อเยื่อ แต่ไม่สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับได้ เนื่องจากระดับเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นจากการได้รับยา doxorubicin คือเอนไซม์ AST ไม่ลดลง ส่วนระดับเอนไซม์ ALT ไม่เปลี่ยนแปลง (Putri, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคที่แยกได้จากสุนัข

       การศึกษาฤทธิ์ของน้ำมะกรูด และน้ำมะนาวต่อเชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ โคแอคกุเลสที่เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อโรคผิวหนังอักเสบในสุนัข จำนวน 15 ไอโซเลต (isolates) โดยมี S. aureus ATCC 25923 สายพันธุ์มาตรฐานเป็นเชื้อควบคุม ทำการทดสอบควบคู่ไปด้วยโดยวิธีเจือจางในอาหารเหลว ใน 96 wellU-shape plate ผลการทดสอบพบว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูด มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อในกลุ่มนี้ อยู่ที่1.60 % (v/v) และ 1.34-1.74 % (v/v) ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อนี้ อยู่ที่ 1.87-3.33 % (v/v) และ 3.10 % (v/v) ตามลำดับ จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดมีฤทธิ์ในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลสจากการทดสอบในหลอดทดลอง  (โคแอคกุเลส เป็นน้ำย่อยที่เชื้อกลุ่มสแตปฟิโลคอคไคสร้างขึ้น ทำให้พลาสมาของคนหรือสัตว์ เกิดการตกตะกอน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ใช้กำหนดว่าเชื้อสเตรนใดที่เป็นตัวก่อโรค) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพิจารณาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทางการค้า ที่ใช้สำหรับสัตว์ต่อไป เพื่อลดการติดเชื้อทางผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ควรมีการทดลองในการใช้กับสัตว์โดยตรงก่อน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการยับยั้งเชื้อ และผลต่อตัวสัตว์ (พิทยา และคณะ, 2551)

 

การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล


การศึกษาทางพิษวิทยา:

ฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน

       เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากผิวมะกรูด ให้กับหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ที่ตั้งครรภ์ ขนาด 1 และ 2.5 ก./กก. วันละ 2 ครั้ง พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน  42.5 ±14.8 และ 86.1±8.1% ตามลำดับ สารสกัดผิวมะกรูดด้วยคลอโรฟอร์มเมื่อป้อนให้กับหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 1.0 ก./กก. วันละ 2 ครั้ง เช่นกัน พบว่าออกฤทธิ์แรงกว่าสารสกัดเอทานอล โดยยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนได้ 62.2±14.5% ส่วนผลในการทำให้แท้งพบว่า สารสกัดเอทานอล และสารสกัดคลอโรฟอร์ม ในขนาด 1.0 ก./กก. มีผลทำให้แท้ง 86.3±9.6 และ 91.9±5.5% ตามลำดับ (Piyachaturawat, et al, 1985)

พิษเฉียบพลัน

      สารสกัดผิวมะกรูดด้วยเอทานอล  เมื่อป้อนให้หนูกินเพื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 100  ก./กก. (Piyachaturawat, et al, 1985)

ฤทธิ์เสริมการเกิดมะเร็งตับ

     จากการทบทวนงานวิจัยพบว่ามะกรูดมีฤทธิ์ต้านฤทธิ์ของสารเสริมการเกิดมะเร็ง (tumor promoter) ในการทดลองแบบ tumor promoter-induced Epstein-Barr virus activation ได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาฤทธิ์ของมะกรูดต่อการเกิดมะเร็งตับของหนูขาว สายพันธุ์ F344 ที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 2-amino-3,8-dimethylimidazo [4,5-ƒ] quinoxaline (MeIQx) ในการทดลองแบบ medium-term bioassay ผลการวิจัยพบว่ามะกรูดมีฤทธิ์เสริมฤทธิ์ของ MelQx ในการทําให้เกิดมะเร็งตับ (preneoplastic liver foci) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (ดนัย และคณะ, 2543)

 

ข้อควรระวัง:
           การใช้น้ำมันหอมระเหยกับผิวหนังในปริมาณที่มาก  ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงเนื่องจากน้ำมันที่ได้จากการบีบผิวผล อาจทำให้เกิดพิษเมื่อสัมผัสกับแสงได้ และเกิดมีสารสีเกินที่ผิวหนัง บริเวณใบหน้า และลำคอ เพราะมีสารกลุ่มคูมาริน แต่น้ำมันจากผิวผลที่ได้จากการกลั่นไม่มีสารนี้

 

เอกสารอ้างอิง:

1. ดนัย ทิวาเวช, Hirose M, Futokuchi M, วิทยา  ธรรมวิทย์, Ito N, Shirai T. ฤทธิ์เสริมการเกิดมะเร็งตับของข่า กระชายและมะกรูดในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 2-amino-3,8-dimethylimidazo [4,5-ƒ] quinoxaline (MeIQx). ประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2543.

2. พิทยา ภาภิรมย์, อรุณี บุตรตาสี, วชิราภรณ์ กัมปนาวราวรรณ. ฤทธิ์ของน้ำมะนาว และน้ำมะกรูดต่อเชื้อสแตปฟิโลคอคไค ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบโคแอคกุเลส ที่แยกได้จากสุนัข. วารสารวิจัย มข. 2551;13(7): 866-872.

3. Murakami A, Gao G, Kim OK, Omura M, Yano M, Ito C, et al. Identification of coumarins from the fruit of Citrus hystrix DC as inhibitors of nitric oxide generation in mouse macrophage RAW 264.7 cells. J Agric food chem. 1999;47:333-339.

4. Piyachaturawat P, Glinsukon T, Chanjarunee A. Antifertility effect of Citrus hystrix DC. J Ethnopharmacology. 1985;13: 105-110. 

5. Putri H, Nagadi S, Larasati YA, Wulandari N, Hermawan A. Cardioprotective and hepatoprotective effects of Citrus hystrix peels extract on rats model. Asian Pac J Trop Biomed. 2013; 3(5):371-375.

6. Tangyuenyongwatana P, Gritsanapan W. Prasaplai: An essential Thai traditional formulation for primary dysmenorrhea treatment. TANG. 2014;4(2):10-11.

 

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล:  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 215
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่