พริกไทย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พริกไทย

ชื่อสมุนไพร พริกไทย
ชื่ออื่นๆ พริกน้อย (เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum L.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์ Piperaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้เถาเนื้อแข็ง อายุหลายปี ข้อโป่งนูนมีรากฝอยตามข้อเถาเพื่อใช้ยึดเกาะ เถายาว 2-4 เมตร มีข้อปล้องเห็นได้ชัด ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ ใบออกตามข้อหรือยอดเถา ใบรูปไข่ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-11 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร โคนมนหรือเบี้ยวไม่เท่ากัน ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ผิวเรียบมัน เนื้อใบหนา ท้องใบอาจพบสารเคลือบใบสีขาวปกคลุม เส้นใบนูน หลังใบสีเขียวเข้ม  ดอกออกเป็นช่อตรงข้ามกับใบที่ข้อเถา ไม่มีก้านดอก ออกบนช่อแกน ยาว 7-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 50-150 ดอก ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ 2 อัน ดอกลักษณะกลม ไม่มีกลีบรองดอกและกลีบดอก เริ่มบานจากส่วนโคนไปปลายช่อ ช่อดอกขณะอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อดอกจะห้อยลงดิน ดอกจะบานหมดทั้งช่อในเวลา 5-7 วัน ผล เป็นผลสด รูปกลม ขนาด 0.3-0.5 เซนติเมตร ออกเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีแดง เมื่อแห้งสีดำและมีผิวย่น ภายในผลหนึ่งๆจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีขาวนวล แข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เมล็ดมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด หากนำผลสุกมาแช่น้ำ เพื่อล่อนเปลือกชั้นนอกออกและนำมาผึ่งให้แห้ง จะได้ “พริกไทยล่อนหรือพริกไทยขาว” ส่วน”พริกไทยดำ” ได้จากกการนำผลที่โตเต็มที่แต่ยังไม่สุกมาทำให้แห้งทั้งผล ทั้งพริกไทยขาวและพริกไทยดำใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นรสอาหาร

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ผล

 

 

ผลอ่อน

 

 

ผลแก่

 


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ผล รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร โดยกระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้นทำให้กระเพาะอาหารหลังน้ำย่อยเพิ่มขึ้น แก้ลมอัมพฤกษ์ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้เสมหะ แก้มุตกิด ระงับอาการปวดท้อง แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรคและกระตุ้นประสาท ใบ รสเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียดแน่น แก้ปวดมวนท้อง บำรุงธาตุ แก้นอนไม่หลับ แก้เสมหะ ดอก รสร้อน แก้ตาแดงเนื่องจากความดันโลหิตสูง ราก รสร้อน บำรุงธาตุ แก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร เถา ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะ ผล เถา ราก และใบ มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้กระเพาะเย็นชื้น แก้ปวดท้อง แก้อาหารเป็นพิษ แก้อาเจียนเป็นน้ำ แก้ท้องเสีย แก้ปวด แก้หลอดลมอักเสบเนื่องจากลมขึ้น แก้หืดหอบ ไอเย็น ช่วยละลายเสมหะ ขับเหงื่อ และขับปัสสาวะ


องค์ประกอบทางเคมี
             พริกไทยดำมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 2-4 และมีอัลคาลอยด์หลักคือ piperine, piperidine, piperettine, piperyline, piperolein, A, B, piperanine น้ำมันระเหยง่ายมีองค์ประกอบ เช่น thujene, pinene, camphene, sabinene, myrcene, limonene, phellandrene, chavicine, caryophyllene, bisabolene, farnesene, curcumene, humulene, sabinene, linalool พริกไทยดำมีปริมาณน้ำมันระเหยง่ายสูงกว่าพริกไทยล่อน

              การวิเคราะห์ปริมาณนิโคติน ในสารสกัดเอทานอลจากใบพริกไทย โดยวิธี high performance liquid chromatography พบว่าสารสกัดพริกไทยมีปริมาณนิโคติน เท่ากับ 0.013±0.00 mg เปรียบเทียบกับสารสกัดหญ้าดอกขาวที่มีปริมาณนิโคตินสูงสุดในการศึกษาครั้งนี้ คือ 1.154±0.38 mg โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากใบพริกไทย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสารประกอบฟีนอลิค ซึ่งจะช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อเมื่อได้รับควันบุหรี่ และมีสารนิโคติน จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการนำไปใช้ช่วยลดอาการถอนนิโคติน สำหรับบำบัดการติดบุหรี่ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง และประสิทธิภาพในการช่วยเลิกสูบบุหรี่ต่อไป (ชานนท์ และอนุรักษ์, 2559)

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา:

 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ของสารสกัดเอทานอลจากใบพริกไทย ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhy-drazyl) assay เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน L- ascorbic acid ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดพริกไทย และสารมาตราฐาน L-ascorbic acid สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 144.44 และ 9.65 μg/mL ตามลำดับ การหาปริมาณสารฟีนอลรวมด้วยวิธี Folin-Ciocalteu colorimetric method เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน gallic acid พบว่าสารสกัดพริกไทยมีปริมาณสารฟีนอลรวมเท่ากับ 42.83±2.53 mg GAE/g DW (ชานนท์ และอนุรักษ์, 2559)

  เอกสารอ้างอิง:
  ชานนท์ นัยจิตร, อนุรักษ์ เชื้อมั่ง. การประเมินฤทธิ์ต้านอนุมุลอิสระ สารประกอบรวมฟีนอล และนิโคตินของสมุนไพรไทย 15 ชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 
  2559;24(2):351-361.

ข้อมูลเครื่องยา                          : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/(พริกไทยดำ)

ข้อมูลเครื่องยา                          : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/(พริกไทยล่อน)

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               :  phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล         :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 57
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่