พริกไทยล่อน

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พริกไทยล่อน

ชื่อเครื่องยา พริกไทยล่อน
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา พริกล่อน พริกไทยขาว
ได้จาก ผลสุกตากแห้งที่ร่อนเปลือกออกแล้ว
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา พริกไทย
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) พริกน้อย พริกขี้นก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum L.
ชื่อพ้อง -
ชื่อวงศ์ Piperaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           พริกไทยล่อนได้จากผลสุกของของพริกไทยเมื่อผลสุกแล้วจะเก็บเอามาใส่รวมกันไว้ในกระสอบ แช่น้ำไว้ อาจใช้ไม้ทุบเบาๆจนเปลือกนอกที่มีสีแสดแดงล่อนและหลุดออกหมด แล้วจึงเอาไปตากแดดให้แห้ง จะได้พริกล่อน เมล็ดมีสีค่อนข้างขาวนวล แข็ง ผิวเรียบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มม. กลิ่นหอมน้อยกว่าพริกไทยดำเนื่องจากกลิ่นอยู่ที่ผิวหรือเปลือกที่ล่อน ผงพริกไทล่อนมีสีเทา กลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน

 

เครื่องยา พริกไทยล่อน

 

เครื่องยา พริกไทยล่อน

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 14% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 4% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.5% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.8% v/w  ปริมาณสารอัลคาลอยด์ โดยคำนวณเทียบกับ piperine ไม่น้อยกว่า 5  % w/w  

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: กล่าวว่าพริกล่อนมีรสเผ็ดร้อนใช้เป็นยาขับลม ขับเหงื่อ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในยาอายุวัฒนะ
          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้พริกไทยล่อนในตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของเมล็ดพริกไทยล่อนร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา  ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของเมล็ดพริกไทยล่อนร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของพริกไทยล่อน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ลดอาการท้องอืดเฟ้อ  แน่นจุกเสียดและช่วยขับลม  ใช้ผลบดเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน  รับประทานครั้งละ  0.5-1  กรัม  หรือ  จะใช้ผงชงน้ำดื่ม  รับประทาน  3  เวลาหลังอาหาร       


องค์ประกอบทางเคมี:
           ในผลมีน้ำมันระเหยง่าย  0.8%  และพบสารอัลคาลอยด์ piperine และ piperettine เป็นองค์ประกอบหลักและอัลคาลอยด์อื่น ๆ ได้แก่  chavicine, piperyline, piperoleines A, B, C   piperanine                                                   

           วิเคราะห์องค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหย โดยวิธี Gas Chromatograph-Mass Spectrometer พบ beta-caryophyllene เป็นองค์ประกอบหลัก 16.0 % และ sabinene (12.6 %), limonene (11.9 %), torreyol (9.3 %) และ beta-bisabolene (7.4 %)  (Singh, et al., 2013)                                            


การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins ของพริกไทยล่อน น้ำมันหอมระเหยสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ สาร oleoresinsได้จากการสกัดเมล็ดพริกไทยล่อนด้วยเอทานอล และเฮกเซน ผลการศึกษาในตัวอย่างที่มี mustard oil 0.02 % และสารทดสอบน้ำมันหอมระเหยของพริกไทยล่อน โดยการวัด peroxide value ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของ mustard oilทุก 7 วัน จนครบ 28 วัน ผลการทดสอบพบว่า ทั้งน้ำมันหอมระเหย และ สาร oleoresins สามารถลดการเกิด peroxide ได้ เทียบเท่ากับ สารมารตรฐาน BHA และ BHT แต่ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าสารมาตรฐาน propyl gallate (PG)  การทดสอบ TBA method ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา lipid peroxidation พบว่าในระหว่างการเกิดออกซิเดชันของกรดไขมัน linoleic acid  สาร peroxides ที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสารโมเลกุลต่ำ คือ malondialdehyde  ซึ่งตรวจวัดได้โดยการเติมสาร thiobarbituric acid ทำปฏิกิริยากับ malonal aldehyde แล้วตรวจวัด  ผลการทดสอบพบว่าทั้งน้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins สามารถลดการเกิด lipid peroxidation ได้ดีกว่า สารมารตรฐาน BHA และ BHT แต่ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าสารมาตรฐาน propyl gallate ซึ่งแสดงถึงการยับยั้งในขั้นตอน secondary oxidation process  การทดสอบด้วยวิธี Ferric Thiocyanate method ซึ่งเป็นการวัดปริมาณ peroxide ที่เกิดขึ้นในช่วง initial stage ของปฏิกิริยาออกซิเดชัน ให้ผลเช่นเดียวกับวิธี TBA method การทดสอบฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH ด้วยวิธีทางเคมี พบว่าน้ำมันหอมระเหย สารมาตรฐาน BHT, BHA, PG มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 92.45, 41.2-73.4, 75.0-92.1 และ 89.3-98.7% ตามลำดับ  การทดสอบสมบัติการเป็น metal chelator ในการแย่งจับกับโลหะ ferrous ion (Fe2+) เป็นอีกกลไกหนึ่งในการต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากโลหะไอออนเป็นตัวการสำาคัญในการเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระต่างๆ หลายชนิด ผลทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหย สาร oleoresins และสารมาตรฐาน EDTA สามารถจับ Fe2+ ได้เท่ากับ 73.05, 58.8-68.9 และ 91.2% ตามลำดับ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยได้แก่ b-caryophyllene ส่วนองค์ประกอบหลักในสาร oleoresins คืออัลคาลอยด์ piperine (Singh, et al., 2013)

ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย

       น้ำมันหอมระเหย และสาร oleoresins ของพริกไทยล่อน น้ำมันหอมระเหยสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ สาร oleoresins ได้จากการสกัดเมล็ดพริกไทยล่อนด้วยเอทานอล และเฮกเซน ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อรา พบว่าน้ำมันหอมระเหยขนาด 10 μl ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อราที่ก่อโรคพืช Fusarium monoliforme ได้ถึง 85% ส่วนสาร oleoresins จากทั้งเอทานอล และเฮกเซน ออกฤทธิ์ปานกลาง ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ทั้งวิธี agar well และ disc diffusion พบว่าน้ำมันหอมระเหยออกฤทธิ์ดี ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Bacillus subtilis และ Staphyllococcus aureus แต่น้ำมันหอมระเหยและสาร oleoresins จากทั้งเอทานอล และเฮกเซน ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด คือ Escherichia coli, Pseudomaonas aeruginosa ได้น้อยกว่า (Singh, et al., 2013)

ฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก

       Piperine เป็น alkaloid หลักที่พบในพืชจําพวก พริกไทย (black pepper, white pepper), ดีปลี (Piper longum) และพวกพลูต่างๆ เป็นสารที่มีผลต่อการไหลเวียนของโลหิต และระบบการหายใจ การศึกษาผลของ piperine ต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก (uterine blood flow) ในสัตว์ทดลองโดยใช้หนูขาว ทั้งในสภาวะปกติที่ไม่ตั้งท้อง และในสภาวะที่ตั้งท้องในระยะเวลาต่างๆ กัน โดยใช้หลักการของการเปลี่ยนแปลงของคลื่นเหนือเสียง (ultrasonic pulse doppler flowmeter) เป็นตัววัดการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก ผลจากการวิจัยพบว่าเมื่อให้ piperine เข้าทางเส้นเลือดแดงในขนาดตั้งแต่ 0.5 ถึง 2.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวของหนูหนึ่งกิโลกรัม จะทําให้เกิดความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงยังมดลูกเพิ่มขึ้นชั่วขณะตามความดันเลือด การเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกนี้จะสัมพันธ์กับขนาดของ piperine ที่สัตว์ทดลองได้รับ และเมื่อให้ยาต่างๆ แก่สัตว์ทดลองพบว่า ยา phentolamine หรือ isoptin สามารถป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงที่เกิดจาก piperine ได้ ส่วนยา propranolol, atropine หรือ reserpine ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นจึงคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ของ piperine ที่ทําให้เกิดความดันโลหิตสูงน่าจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นผ่าน adrenergic receptor และการเพิ่มขึ้นของการขนส่งของแคลเซียม (Ca 2+) เข้าไปยังเซลล์  กลไกการออกฤทธิ์ของ piperine ต่อการขยายตัวของเส้นเลือดที่ไปยังมดลูกอาจเกิดจากฤทธิ์โดยตรงของ piperine ต่อผนังเส้นเลือด เนื่องจาก piperine มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณของเลือดที่ไปยังมดลูก ทั้งในหนูที่ไม่ตั้งท้อง และในหนูที่ตั้งท้อง (จงจินตน์, 1987)

ฤทธิ์ระงับปวด

     ศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของพริกไทยดัวยวิธี tail immersion method โดยจุ่มหางหนูถีบจักรลงในน้ำอุณหภูมิ 45±1ºC   แล้วจับเวลาที่หนูสามารถทนต่อความร้อนได้โดยไม่กระดกหางหนี (tail-flick latencies) ผลการศึกษาพบว่า สาร  piperine ที่แยกได้จากผลพริกไทย ขนาด 5 mg/kg และสารสกัดพริกไทยด้วยเอทานอล ขนาด 15 mg/kg สามารถออกฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) โดยจะออกฤทธิ์หลังจากให้สารทดสอบแล้ว 120 นาที และสารสกัดพริกไทยด้วยเฮกเซน ขนาด 10 mg/kg จะออกฤทธิ์หลังจากให้สารทดสอบแล้ว 60 นาที  (p<0.05)   การทดสอบวิธี analgesy-meter โดยการเพิ่มแรงกดไปที่เท้าของหนูขาว บันทึกพฤติกรรมที่ทำให้หนูทดลองนำขาออกจากเครื่องมือ ผลการศึกษาพบว่า piperine ขนาด 10 และ 15 mg/kg จะออกฤทธิ์สูงสุดหลังให้สารทดสอบที่เวลา 30 นาที และออกฤทธิ์ต่อจนกระทั่งครบ 60 นาที, สารสกัดเอทานอล และเฮกเซน ขนาด 10 mg/kg จะออกฤทธิ์สูงสุดหลังเวลาผ่านไป 120 นาที   การศึกษาด้วยวิธี hot plate method  โดยจับเวลาที่หนูสามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อนโดยไม่กระโดดหนี หรือยกเท้าขึ้นเลีย ผลการศึกษาพบว่า สาร  piperine ในขนาด 5 และ 10 mg/kg และสารสกัดเฮกเซน ออกฤทธิ์ลดปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยออกฤทธิ์ได้สูงสุดหลังเวลาให้สารทดสอบแล้ว 120 นาที    การทดสอบฤทธิ์ระงับปวดโดยเหนี่ยวนำให้หนูถีบจักรเกิดความเจ็บปวดจนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ด้วยกรดอะซิติก พบว่า สาร  piperine ขนาด 10 mg/kg และสารสกัดพริกไทยด้วยเอทานอล ขนาด 15 mg/kg สามารถออกฤทธิ์ต้านอาการเจ็บปวด โดยลดจำนวนครั้งในการเกิด writhing ของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญ (Tasleem, et al, 2014)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของพริกไทยโดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้รับ diclofenac sodium เป็นยามาตรฐาน ขนาด 10 mg/kg กลุ่มที่ 2 ได้รับ saline water เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 3 ได้รับสาร piperine ขนาด 5,10 และ 15 mg/kg กลุ่มที่ 4 ได้รับสารสกัดเฮกเซนจากพริกไทยขนาด 5,10 และ 15 mg/kg  กลุ่มที่ 5 ได้รับสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ขนาด 5,10 และ 15 mg/kg หลังจากนั้น จึงกระตุ้นให้เท้าหนูเกิดการบวมโดยฉีด carrageenan ปริมาณ 0.1 mL เข้าที่อุ้งเท้า แล้วเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยขนาดของเท้าหนูที่บวมขึ้น ที่เวลา 30, 60 และ 120  นาที พบว่า สาร piperine ทุกขนาด  มีฤทธิ์ยับยั้งการบวม ขนาดที่ออกฤทธิ์สูงสุดคือ 15 mg/kg ที่เวลา 120 นาที สารสกัดเฮกเซนจากพริกไทย และสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ขนาด 10 mg/kg ออกฤทธิ์สูงสุดที่เวลา 60 นาที เช่นกัน  สารทดสอบทุกชนิดออกฤทธิ์ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม แต่มีฤทธิ์น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน (Tasleem, et al, 2014)

     การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลจากพริกไทย ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่าสารสกัดเอทานอลของเมล็ดพริกไทย และสารบริสุทธิ์ piperine ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีหลักในพริกไทย มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 10.52±0.68 และ 11.48±1.58  มคก./มล. ตามลำดับ โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน (ยามาตราฐาน Indomethacin IC50 เท่ากับ 20.32±3.28 มคก./มล.) (อินทัช และคณะ, 2557)

 

การศึกษาทางคลินิก:
          -

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           ควรระวังการใช้พริกไทยในขนาดสูง เพราะมีรายงานความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เมื่อให้ในขนาดสูงและติดต่อกันหลายวัน
           การศึกษาพิษเฉียบพลัน: สารสกัดเอทานอลและสารสกัดน้ำ เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 12.66 และ 424.38 ก./กก. นน.ตัว (คำนวณจาก นน.ผงยา) ตามลำดับ
           การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง: พริกไทยและพิเพอรีน เมื่อป้อนให้หนูขนาด 5-20 เท่า ของขนาดที่ให้ในคน พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต น้ำหนักอวัยวะ และเคมีของเลือด

 

เอกสารอ้างอิง:

1. จงจินตน์  รัตนาภินันท์ชัย. ผลของ piperine ต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปยังมดลูก [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสรีรวิทยา]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล; 2530.

2. อินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ, สุนิตา มากชูชิต, อรุณพร อิฐรัตน์. การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ของสารสกัดสมุนไพรผสม. ธรรมศาสตร์เวชสาร 2557;14(1):7-11.

3. Singh S, Kapoor IPS, Singh G, Schuff C, Lampasona MP, Catalan CAN.  Chemistry, antioxidant and antimicrobial potentials of white pepper (Piper nigrum L.) essential oil and oleoresins. Proc Natl Acad Sci, India, Sect. B  Biol Sci 2013;83(3): 357-366.

4. TasleemF, Azhar I, Ali SN, Perveen S, Mahmood ZA. Analgesic and anti-inflammatory activities of Piper nigrum L. Asian Pacific journal of tropical medicine. 2014;7(Suppl 1):S461-S468.

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา    : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล         :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม           phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 110
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่