ไพล

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ไพล

ชื่อสมุนไพร ไพล
ชื่ออื่นๆ ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน) ว่านไฟ (ภาคกลาง) ว่านปอบ (ภาคอีสาน) ไพลเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb.
ชื่อพ้อง Amomum cassumunar (Roxb.) Donn, Amomum montanum J.Koenig, Amomum xanthorhiza Roxb. ex Steud., Cassumunar roxburghii Colla, Jaegera montana (J.Koenig) Giseke, Zingiber anthorrhiza Horan., Zingiber cliffordiae Andrews, Zingiber luridum Salisb., Zingiber montanum (J. Koenig) Link ex A. Dietr., Zingiber purpureum Roscoe, Zingiber xantorrhizon
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุก สูง 0.7-1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เหง้าสดมีเนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันเป็นลำกลม สีเขียวเข้ม โคนกาบสีแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน หรือเว้ารูปหัวใจ ผิวใบเรียบ ขอบใบเรียบ ไม่มีก้านใบ มีขนนุ่มที่เส้นกลางใบด้านท้องใบ แผ่นใบบาง หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีอ่อนกว่า กาบใบมีลิ้นใบ ดอกช่อเชิงลด รูปไข่หรือยาวรี หรือรูปกระสวย แทงจากเหง้าใต้ดิน ดอกกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 15-30 เซนติเมตร ใบประดับจำนวนมากเรียงตัวเป็นระเบียบซ้อนกันแน่นคล้ายเกล็ดปลา มีขนประปราย ใบประดับย่อยม้วนหุ้มดอกย่อย ใบประดับมีสีแดงอมม่วง ขอบสีเขียว รูปเหมือนกลีบดอกบัว ข้างในใบประดับมีดอกย่อย 1 ดอก กลีบดอกเป็นหลอดเชื่อมติดกัน หลอดยาว 2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายมี 3 กลีบ สีเหลืองนวล กลีบดอกบอบบาง เกสรเพศผู้ส่วนเป็นกลีบมี 3 หยัก สีขาวนวล หยักกลางขนาดใหญ่เป็นกลีบปาก   รูปเกือบกลม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีสีเหลืองอมขาว ส่วนนี้มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกและสวยสะดุดตา บริเวณกลางกลีบส่วนปลายจะเข้มกว่าเล็กน้อย หยักข้างมี 2 หยักติดกับกลีบปาก หรือหยักใหญ่ที่โคน เกสรเพศผู้ มีก้านสั้น อับเรณูสีเหลืองอ่อน มีส่วนปลายยื่นยาวออก เกสรเพศเมีย ยอดเกสรที่ส่วนปลายมีขนละเอียดสีขาว รังไข่ ค่อนข้างแบน มีขน  ผลเป็นผลแห้ง รูปทรงกลม ขนาดเล็ก แก่แตก 3 พู เมล็ดรูปไข่กลม ผิวเป็นมัน สีดำ มีเมล็ดจำนวนมาก ลำต้นจะเหี่ยวแห้งไปในฤดูแล้ง และจะผลิต้นใหม่ในฤดูฝน

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ดอก


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย เหง้า รสฝาดขื่นเอียน ใช้ภายนอก ประคบหรือฝนทา แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม แก้เหน็บชา เส้นตึง เมื่อยขบ เป็นส่วนประกอบหลักในการทำลูกประคบ ช่วยสมานแผล แก้เล็บถอด ใช้อาบและประคบเพื่อให้เลือดลมไหลดีในสตรีหลังคลอด ทาบรรเทาอาการผื่นคันจากการแพ้ ใช้ภายใน แก้บิด แก้ท้องเสีย แก้หืด ผสมยาอื่น เช่น ตำรับยาประสะไพล เป็นยารับประทาน ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับระดู ขับโลหิตเสีย ราก รสขื่นเอียน ขับโลหิต ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ท้องผูก เคล็ดยอก โรคผิวหนัง โรคอันบังเกิดแต่โลหิตอันออกทางปากและจมูก แก้อาเจียนเป็นโลหิต ดอก รสขื่น กระจายเลือดที่เป็นลิ่มก้อน กระจายโลหิตอันเกิดแต่อภิญญาณธาตุ ขับโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เลือดกำเดาออกทางจมูก แก้ช้ำใน ขับระดูประจำเดือน ทำลายเลือดเสีย ต้น รสฝาด ขื่นเอียน แก้ธาตุพิการ แก้อุจจาระพิการ ใบ รสขื่นเอียน แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ปวดเมื่อย ช่อดอก ต้มจิ้มน้ำพริก เป็นผักได้


องค์ประกอบทางเคมี
               เหง้า พบสารกลุ่ม arylbutenoid คือ cassumunarin, สารสีเหลืองเป็นสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ที่พบ ได้แก่ cassumunin A-C, curcumin, น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากเหง้ามี sabinene เป็นองค์ประกอบหลักประมาณ 50% , terpene-4-ol ประมาณ 20%, triquinacene 1,4-bis (methoxy), (Z)-ocimene  และสารอื่นๆ,พบสารสเตียรอยด์ beta-sitosterol, สาร 4-(4-hydroxy-1-butenyl) veratrole มีฤทธิ์ขยายหลอดลม
              ใบ ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น sabinene, β-pinene, caryophyllene oxide และ caryophyllene

 

ข้อมูลเครื่องยา                             : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง                   : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์       : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาผสมเถาวัลย์เปรียง  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาประสะไพล              : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม                phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 80
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่