กระทือ
ชื่อสมุนไพร | กระทือ |
ชื่ออื่นๆ | กระทือ (ภาคกลาง) กะทือป่า กะแวน กะแอน แฮวดำ (ภาคเหนือ) เปลพ้อ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เฮียวข่า (ฉาน แม่ฮ่องสอน) เฮียวดำ เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm. |
ชื่อพ้อง | Amomum silvestre Poir., A. spurium (J.Koenig) J.F.Gmel., A. zerumbet L., Cardamomum spurium (J.Koenig) Kuntze, Dieterichia lampujang Giseke, D. lampuyang Giseke, D. major Raeusch., D. minor Raeusch., D. spuria (J.Koenig) Giseke, Zerumbet zingiber T.Lestib., Z. amaricans Blume, Z. aromaticum Valeton, Z. blancoi Hassk., Z. darceyi H.J.Veitch, Z. littorale (Valeton) Valeton, Z. ovoideum Blume, Z. spurium J.Koenig, Z. truncatum |
ชื่อวงศ์ | Zingiberaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 14-40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มี 10-25 ใบ เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ รูปไข่กลับกว้างหรือเกือบกลม กว้าง 3.0-3.2 เซนติเมตร ยาว 2.0-2.3 เซนติเมตร ปลายมน ขอบพับเข้าด้านใน ดอกบานสีขาวอมเหลืองโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 เซนติเมตร ยาว 1.7 เซนติเมตร ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 1.8 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 เซนติเมตร ยาว 1.6-1.7 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้าง 0.4 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ยาว 0.1 เซนติเมตรเกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม (axile placenta) ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 2.5 เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน ชอบขึ้นบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือที่ชื้นริมลำธาร หรือดินที่ร่วนซุย ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนตุลาคม หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน รับประทานเป็นผักสดได้
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ใบ
ดอก
ดอก
ดอก
ดอก
ใบประดับ
ผล และ เมล็ด
ผล และ เมล็ด
เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทยใช้ เหง้า มีรสขมขื่นปร่า แช่น้ำดื่ม แก้ร้อนใน บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ ผสมเหง้าไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำดื่ม แก้บิด ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ปวดเบ่ง แน่นท้องปวดบวม ขับเสมหะ เบื่ออาหาร เหง้ากระทือนำมาหมกไฟฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา ดอก รสขมขื่น แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น เกสร รสเฝื่อนปร่า แก้ลม บำรุงธาตุ ต้น มีรสขมขื่น ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/