กระทือ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระทือ

ชื่อเครื่องยา กระทือ
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก เหง้าแก่สด หรือแห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา กระทือ
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) กระทือ (ภาคกลาง) กะทือป่า กะแวน กะแอน แฮวดำ (ภาคเหนือ) เปลพ้อ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เฮียวข่า (ฉาน แม่ฮ่องสอน) เฮียวดำ เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.
ชื่อพ้อง Amomum silvestre Poir., A. spurium (J.Koenig) J.F.Gmel., A. zerumbet L., Cardamomum spurium (J.Koenig) Kuntze, Dieterichia lampujang Giseke, D. lampuyang Giseke, D. major Raeusch., D. minor Raeusch., D. spuria (J.Koenig) Giseke, Zerumbet zingiber T.Lestib., Z. amaricans Blume, Z. aromaticum Valeton, Z. blancoi Hassk., Z. darceyi H.J.Veitch, Z. littorale (Valeton) Valeton, Z. ovoideum Blume, Z. spurium J.Koenig, Z. truncatum
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           ลำต้นเป็นเหง้าสดใต้ดิน มีสีเหลืองนวล (เหลืองซีดๆ) เนื้อภายในมีสีเทาปนเหลืองอ่อนๆ มีรสขม ขื่น ปร่า  เผ็ดเล็กน้อย

 

เครื่องยา กระทือ

 

เครื่องยา กระทือ

 

เหง้าสดกระทือ

 

เหง้าสดกระทือ

 

เหง้าสดกระทือ

 


ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 11% v/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 1 % w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 5.0% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 2% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 9% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.6% v/w (THP)


สรรพคุณ:
           เหง้า บำรุงน้ำนมสตรีให้บริบูรณ์ ลดอาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ขับลม  แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม  ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด แก้ไอ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ เหง้าหมกไฟ ฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิด ปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียดและบำรุงน้ำนม ใช้หัวกะทือรวมกับหัวไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำรับประทาน แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้พิษเสมหะ แก้ปวดมวน แก้แน่น ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น แต่รู้สึกร้อนภายใน
           ตำรายาไทย: มีการใช้กระทือใน “พิกัดตรีผลธาตุ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ธาตุทั้งสี่ 3 อย่าง มีเหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม มีสรรพคุณบำรุงไฟ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กำเดา
           บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของเหง้ากระทือร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           1. แก้ท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง
               ใช้เหง้าสดขนาด  20  กรัม  ย่างไฟพอสุก  ตำ  เติมน้ำปูนใส  ประมาณ  1/2  แก้ว  (110 มิลลิลิตร)  ดื่มแต่น้ำ  ขณะที่มีอาการ
           2. แก้บิด (ปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)
               ใช้เหง้า หรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

องค์ประกอบทางเคมี:
           ในเหง้าแก่  มีน้ำมันหอมระเหย  ที่มีองค์ประกอบของ methylgingerol , zingerone , citral

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ 4 ชนิด ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่ zerumbone(1), 3-O-methyl kaempferol(2), kaempferol-3-O-(2, 4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (3) และ  kaempferol-3-O-(3,4-di-O-acetyl-α-L-rhamnopyranoside) (4) โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และ prostaglandin E2 (PGE2) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องในขบวนการอักเสบที่หลั่งจากแมคโครฟาจ (RAW 264.7 murine macrophage cell lines) ของหนู โดยใช้ lipopolysaccharide (LPS) เป็นสารกระตุ้นการอักเสบ ผลการทดสอบพบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งการสร้าง NO ได้ร้อยละ 84.1 ± 2.31 และ 47.1 ± 2.97ตามลำดับ โดยสามารถยับยั้งการผลิต NO ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีค่า IC50 เท่ากับ 4.37 และ 24.35 µM ตามลำดับ ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 (PGE2) พบว่าสาร (1) และ (2) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง PGE2ได้ร้อยละ 51.0 ± 12.7 และ 68.6 ± 15.9 ตามลำดับ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 20 และ 40 µM ตามลำดับ (Chien, et al., 2008)

      ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ใช้การทดสอบด้วยวิธี writhing test ในหนูขาวเพศเมียสายพันธุ์ Sprague–Dawley ฉีดสาร zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg เข้าทางช่องท้องหนูก่อนฉีดคาราจีนแนน หรือพรอสตาแกลนดิน E2  ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวาของหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ บันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าหนูด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4 และ 5 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า สาร zerumbone มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน และ prostaglandin E2 (PGE2) เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piroxicam (20mg/kg) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)โดยสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg และยา piroxicam มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.05) โดยมีค่าการต้านการอักเสบได้ร้อยละ 45.67, 70.37 และ 75.31 ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วยพรอสตาแกลนดิน E2  พบว่ามีค่าการต้านการอักเสบคิดเป็นร้อยละ 41.46, 87.80 และ 92.68 ตามลำดับ (Somchit, et al., 2012)

ฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนู

       การทดสอบฤทธิ์ลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR โดยการฉีดสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ได้แก่  zerumbone ขนาด 10 mg/kg ก่อนให้คาราจีแนน1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้านหลังของหนู แล้วบันทึกผลปริมาตรการบวมของอุ้งเท้าด้วยเครื่อง plethysmometer ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสาร zerumbone และสารมาตรฐาน indomethacin ขนาด 100 mg/kg สามารถลดปริมาตรการบวมได้ โดยมีค่าร้อยละของการเพิ่มขึ้นของปริมาตรอุ้งเท้าเท่ากับ 38.8±16.7 และ 51.0±16.7% (P<0.01 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม) ตามลำดับ โดยสาร zerumbone ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน โดยสรุปสาร zerumbone มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และลดการบวมได้ดีที่สุด โดยสามารถยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง และลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ (Chien, et al., 2008)

ฤทธิ์แก้ปวด

       ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดของน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากเหง้ากระทือ ในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยกระตุ้นให้หนูเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยการฉีดกรดอะซิติก (writing test) ซึ่งแสดงถึงการเจ็บปวด โดยให้น้ำมันหอมระเหยในขนาดความเข้มข้นต่างๆ แก่หนูแต่ละกลุ่ม หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติกเข้าทางช่องท้องเพื่อกระตุ้นการปวด ผลการศึกษาพบว่าเมื่อให้หนูได้รับน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง และให้ทางปาก ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg มีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าการยับยั้งอาการปวดเมื่อให้โดยวิธีการฉีดเท่ากับ 23.02, 53.89, 83.63 และ 98.57% ตามลำดับ และค่าการยับยั้งการปวดเมื่อให้ทางปากเท่ากับ 13.04, 28.30, 54.69 และ 75.68% ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งอาการปวดได้ร้อยละ 50 (ID50) โดยวิธีการฉีด และให้ทางปากเท่ากับ 88.8 และ 118.8 mg/kg ตามลำดับ แสดงว่าการฉีดมีผลยับยั้งการปวดได้ดีกว่าการกิน ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธีการฉีดในการศึกษาวิธีอื่นๆ ต่อไป  การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดโดยใช้สารกระตุ้นการปวด 3 ชนิด ได้แก่ capsaicin, glutamate และ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) ทดสอบโดยฉีดน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ เข้าทางช่องท้องหนู ในขนาดความเข้มข้น 50, 100, 200 หรือ 300 mg/kg แก่หนูแต่ละกลุ่ม ใช้ยาแอสไพริน (100 mg/kg, i.p.) และ capsazepine (0.17 mmol/kg, i.p.) เป็นสารมาตรฐาน  หลังฉีดสารทดสอบแล้ว 30 นาที จึงฉีดสารกระตุ้นการปวดชนิดต่างๆ ที่บริเวณอุ้งเท้าหลังด้านขวา แล้วสังเกตพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลียของหนู (แสดงถึงการเจ็บปวด) ผลการทดสอบโดยใช้ capsaicin เป็นสารกระตุ้นการปวดพบว่าสารสกัดความเข้มข้น  100, 200 และ 300 mg/kg สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งการปวดเท่ากับ 33.00, 73.40 และ 97.64% ตามลำดับ มีค่า ID50 เท่ากับ 128.8 mg/kg ขณะที่สารมาตรฐานแอสไพริน และ capsazepine มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.07 และ 62.29 % ตามลำดับ ผลการทดสอบเมื่อใช้ glutamate เป็นสารกระตุ้น พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น  และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งเท่ากับ 11.27, 41.70, 64.81, 99.30 และ 63.88% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าเท่ากับ 124.8 mg/kg  ผลการทดสอบเมื่อใช้ phorbol 12-myristate 13-acetate (PMA) เป็นสารกระตุ้นการปวด พบว่าสารสกัดทุกความเข้มข้น  และยามาตรฐานแอสไพริน สามารถระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  โดยมีค่าการยับยั้งการปวดได้เท่ากับ 59.94, 80.42, 94.58,100 และ 56.93% ตามลำดับ ค่า ID50 ของน้ำมันหอมระเหยจากกระทือ มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 40.29 mg/kg  จากการศึกษาสรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยจากกระทือสามารถลดอาการปวดได้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในทางคลินิกสำหรับบรรเทาอาการปวดได้ต่อไป (Khalid, et al., 2011)

        ทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในสัตว์ทดลองของสาร zerumbone ซึ่งเป็นสารกลุ่ม monocyclic sesquiterpene ที่เป็นสารองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยที่แยกได้จากเหง้ากระทือ ทดสอบในหนูขาวโดยกระตุ้นให้หนูเกิดการปวดจนเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยกรดอะซิติก (writing test) ทดสอบโดยฉีดสาร zerumbone ขนาด 10 และ 20 mg/kg แก่หนู หลังจากนั้น 30 นาที จึงฉีดกรดอะซิติก ใช้ piroxicam (20mg/kg) เป็นสารมาตรฐาน  ผลการทดสอบพบว่า การให้ zerumbone ในขนาดความเข้มข้น 10 และ 20 mg/kg สามารถระงับอาการปวดได้ คิดเป็นร้อยละ 47.89 และ 71.05 ตามลำดับ ซึ่งออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับยามาตรฐาน piroxicam (ระงับการปวดได้ร้อยละ 71.49) (Somchit, et al.,2012)


การศึกษาทางคลินิก:
           ไม่มีข้อมูล

การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษ

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Chien TY, Chen LG, Lee CJ, Lee FY, Wang CC. Anti-inflammatory constituents of Zingiber zerumbet. Food Chemistry. 2008;110:584-589.

2. Khalid MH, Akhtar MN, Mohamad AS, Perimal EK, Akira A, Israf DA, et al. Antinociceptive effect of the essential oil of Zingiber zerumbet  in mice: Possible mechanisms. J ethnopharmacology. 2011;137: 345-351.

3. Somchit MN, Mak JH, Bustamam AA, Zuraini A, Arifah AK, Adam Y, et al. Zerumbone isolated from Zingiber zerumbet inhibits inflammation and pain in rats. J Med Plants Res. 2012;6(2):177-180.

 

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง            : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม         : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 43
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่