ชิงชี่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ชิงชี่

ชื่อสมุนไพร ชิงชี่
ชื่ออื่นๆ กระดาดป่า (ชลบุรี) ชายชู้ หมากมก (ชัยภูมิ) หนวดแมวแดง (เชียงใหม่) คายซู (อุบลราชธานี) พญาจอมปลวก กระดาดขาว กระโรกใหญ่ กินขี้ จิงโจ้ แสมซอ ค้อนฆ้อง ซิซอ เม็งซอ ราม แส้ม้าทะลาย พุงแก น้ำนอง น้ำนองหวะ เม็งซอ พวงมะละกอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis micracantha DC.
ชื่อพ้อง Capparis bariensis Pierre ex Gagnep. Capparis billardieri DC. Capparis callosa Blume Capparis conspicua Wall. Capparis donnaiensis Pierre ex Gagnep. Capparis forsteniana Miq. Capparis hainanensis Oliv. Capparis liangii Merr. & Chun Capparis micracantha subsp. micracantha Capparis myrioneura Hallier f. Capparis odorata Blanco Capparis petelotii Merr. Capparis roydsiifolia Kurz Capparis venosa Merr.
ชื่อวงศ์ Capparaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย สูง 2-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว ผิวเรียบเกลี้ยง กิ่งคดไปมา มีหนามยาว 2-4 มิลลิเมตร ตรงหรือโค้งเล็กน้อย ลำต้นสีเทา ผิวเปลือกเป็นกระสีขาว แตกระแหง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง 3-15 เซนติเมตร ยาว 9.5-24 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยแล้วเป็นติ่ง โคนใบสอบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มัน เกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ ก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร ดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก ตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอก ลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน หรือรูปหอก กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ยาว 10-25 มิลลิเมตร สีขาว หลุดร่วงง่าย มี 2 กลีบด้านนอก สีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนน้ำตาล มีต่อมน้ำหวาน ที่โคนก้านดอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอยๆสีขาว เหมือนหนวดแมวยื่นออกมา มี 20-35 อัน ก้านยาว รังไข่รูปไข่ เกลี้ยง ผลสด ค่อนข้างกลมหรือรี มี 4 ร่องตามยาว ผิวผลเรียบ แข็งเป็นมัน กว้าง 3-6.5 เซนติเมตร สีเขียวน้ำตาล เมื่อสุกสีเหลืองหรือแดง หรือดำ เนื้อรสหวานรับประทานได้ เมล็ดรูปไต สีแดงหรือดำ เป็นมัน อัดกันแน่นเป็นจำนวนมาก ขึ้นตามสภาพดินแห้ง หินปูน ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ที่ระดับต่ำกว่า 500 เมตร ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ราก รสขมขื่น แก้โรคที่เกิดในท้อง ขับลมภายใน แก้ไข้ร้อนทุกชนิด ไข้พิษ แก้โรคตา โรคกระเพาะ รักษามะเร็ง ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ และเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตร แก้ไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ แก้หืด  รากชิงชี่ใช้ใน “พิกัดเบญจโลกวิเชียร” (ยาแก้วห้าดวง หรือยาห้าราก) ซึ่งได้จากรากไม้ 5 ชนิดคือ รากชิงชี่ รากคนทา รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร และรากย่านาง มีสรรพคุณ แก้ไข้ต่างๆ กระทุ้งพิษหรือถอนพิษต่างๆ ทั้งต้น รสขื่นปร่า ตำพอกแก้ฟกช้ำ บวม แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย ใบ รสเฝื่อนเมา เข้ายาอาบ แก้โรคผิวหนัง รักษาประดง ใบต้มดื่ม แก้โรคผิวหนัง แก้สันนิบาต ไข้ฝีกาฬ แก้ตะคริว ใบเผาเอาควันสูดแก้หลอดลมอักเสบ ไข้พิษ ฝีกาฬ ไข้สันนิบาต รากและใบ แก้หืด แก้เจ็บในทรวงอก เป็นยาระงับความร้อน กระทุ้งพิษไข้ออกหัด อีสุกอีใส ตำพอกแก้ฟกช้ำบวม  ดอก รสขื่นเมา แก้มะเร็ง ผลดิบ รสขื่นปร่า แก้โรคในลำคอ เจ็บคอ ลำคออักเสบ

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง    : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลเครื่องยา              : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาห้าราก     : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 41
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่