เจตมูลเพลิงแดง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เจตมูลเพลิงแดง

ชื่อสมุนไพร เจตมูลเพลิงแดง
ชื่ออื่นๆ ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ) ปิดปีแดง(เลย) ไฟใต้ดิน(ใต้) คุ้ยวู่ (กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica L.
ชื่อพ้อง Plumbago rosea L., Thela coccinea
ชื่อวงศ์ Plumbaginaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงราว 1-1.5 เมตร มีอายุหลายปี กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนสีแดง ลำต้นกลมเรียบ กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดง มีสีแดงบริเวณข้อ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่ กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีสีเขียว ใบบาง แผ่นใบมักบิด ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 10-15 ดอก ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกสีแดงสด กลีบบางมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก เป็นหลอดเล็ก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร สีเขียว และมีขนเหนียวๆปกคลุม เมื่อจับรู้สึกเหนียวมือ ผลลักษณะเป็นฝักกลม ทรงรียาว เป็นผลแห้งเมื่อแก่แตกตามร่องได้ พบตามป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้ พอง เหมือนโดนไฟจึงได้ชื่อว่า “เจตมูลเพลิง”

 

ลักษณะวิสัย

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ดอก

 


สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก เข้ายากับพริกไทย ดองเหล้าดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ  ราก ช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ตกขาว
              ตำรายาไทย  ใช้  ราก มีรสร้อน เป็นยาบำรุงไฟธาตุ บำรุงโลหิต ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหารให้ผายเรอ ขับพยาธิ แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือนสตรี ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น แต่กินมากอาจทำให้แท้งลูกได้ (ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์) แพทย์โบราณนิยมใช้รากเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลขาวเพราะมีฤทธิ์แรงกว่า โดยใช้รากเจตมูลเพลิงผสมในยาธาตุ เป็นยาช่วยย่อยและยาเจริญอาหารโดยนำผงของรากมาผสมกับลูกสมอพิเภก ผลดีปลี และเกลือ อย่างละเท่ากันรับประทานครั้งละ 2.5 กรัม ขับโลหิตระดู นำรากบดเป็นผงปิดพอกฝี ทำให้เกิดความร้อน เกลื่อนฝีได้ แก้ริดสีดวงทวาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระจายเลือดลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย มีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งได้  ใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน หรือใช้ผงรากปิดพอกฝี ระงับอาการปวดฟัน และแก้ท้องร่วง รากมีสาร plumbagin มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่อาจทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้  ใบ รสร้อน แก้ลมในกองเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม แก้น้ำดีในฝัก ต้น รสร้อน แก้โลหิตอันเกิดแต่กองกำเดา ดอก มีรสร้อน แก้น้ำดีในฝัก
              ตำรายาล้านนา  ใช้  ราก รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ
              ประเทศฝรั่งเศส  ใช้  ราก เคี้ยวระงับอาการปวดฟัน
              ประเทศไทยและมาเลเซีย  ถือเป็นยาทำให้แท้ง
              ประเทศไทยและอินเดีย  ใช้เป็นยาช่วยย่อยเจริญอาหารผสมในยาธาตุ และรักษาโรคผิวหนังกลาก เกลื้อน

 

องค์ประกอบทางเคมี   

              รากมีสารพวก แนฟธาควิโนน (naphthaquinone) ชื่อ plumbagin, 3-chloroplumbagin, 6-hydroxyplumbagin, plumbaginol

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

            สารสกัดรากยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อโรคกลากเกลื้อน และยีสต์ได้หลายชนิด ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารแอฟลาทอกซินบี 1, สารสกัดในขนาดต่ำ ช่วยลดการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด ที่ปลูกถ่ายในสัตว์ทดลอง

            สารพลัมเบจินมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันการเกิดมะเร็งจากสารก่อมะเร็ง ยับยั้งการจับเป็นลิ่มของเกล็ดเลือด ลดไขมันในเลือด

 

ข้อควรระวัง

            1. ห้ามใช้ในสตรีระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะทำให้มดลูกบีบตัวอาจทำให้แท้งได้

            2. สารพลัมเบจินมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองอย่างแรง ทำให้ผิวหนังไหม้ และเกิดตุ่มพองได้ หากใช้ในขนาดสูง จะกดการหายใจ ทำให้เป็นอัมพาต และตายได้ เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว การใช้สมุนไพรนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทย

 

การศึกษาทางพิษวิทยา

            สารพลัมเบจินมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีพิษต่อยีน ต้านการเจริญพันธุ์ของสัตว์ทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมีย ทำให้แท้งลูก

            การใช้ในขนาดสูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นพิษต่อไต

 

ข้อมูลเครื่องยา                         : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ข้อมูลตำรับยาแก้ลมอัมพฤกษ์  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล            : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม           phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 92
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่