เบญจกูล

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เบญจกูล

ชื่อสมุนไพร เบญจกูล
สูตรตำรับ

ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิงแห้ง หนักสิ่งละ 20 กรัม

ข้อบ่งใช้

1. บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ

ขนาดและวิธีใช้

ชนิดชง

รับประทานครั้งละ 1.5 – 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ชนิดผง

รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน

รับประทานครั้งละ 800 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็กเล็ก

ข้อควรระวัง

- ไม่ควรใช้ยานี้ในฤดูร้อน เนื่องจากอาจทำให้ธาตุไฟกำเริบ

- ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 7 วัน

อาการไม่พึงประสงค์

-

ข้อมูลเพิ่มเติม

-

องค์ประกอบทางเคมี

-

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

           ยาเบญจกูล ชนิดยาผง และยาแคปซูล: ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% v/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 8% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 14% w/w ปริมาณสารสกัดเฮกเซน ไม่น้อยกว่า 8% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.9% v/w   (ข้อกำหนด Thai Herbal Preparation Pharmacopoeia 2018)

           

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต่อตับอ่อนที่ได้รับอาหารไขมันสูง

      ศึกษาผลของสารสกัดน้ำของเบญจกูลต่อการควบคุมสมดุลของภาวะดื้อต่อกลูโคสและอินซูลินในตับอ่อนของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อ้วนด้วยอาหารไขมันสูง ศึกษาในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley ที่แบ่งออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมหรือกลุ่มที่ได้รับอาหารหนูปกติ กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูง กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของเบญจกูลขนาดต่ำกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของเบญจกูลขนาดสูง กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของช้าพลู และกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับยาmetformin (ยารักษาเบาหวาน) เมื่อเลี้ยงหนูจนครบ ๔ สัปดาห์ จึงทำการทดสอบการตอบสนองของอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในซีรั่ม น้ำหนักของตับอ่อน ลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อตับอ่อน อิมมูโนพยาธิวิทยาของ beta-galactosidase ระดับของ malondialdehyde (MDA) และการแสดงออกของยีนเป้าหมายของตับอ่อน ผลการศึกษาพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของเบญจกูลขนาดต่ำและขนาดสูงมีระดับการตอบสนองของอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงอย่างเดียว ลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อตับอ่อนดีขึ้น ลดความหนาแน่นของการติดสีของ beta-galactosidase ในเซลล์ไอส์เลตของตับอ่อน และลดปริมาณของ MDA ในตับอ่อน กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของเบญจกูลขนาดต่ำ กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของเบญจกูลขนาดสูง และกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของช้าพลู สามารถเพิ่มการแสดงออกของยีน insulinreceptor substrate-2 (IRS-2) และลดปริมาณ malondialdehyde (MDA) อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่มีเพียงแค่กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของช้าพลู และกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับยาmetforminสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีน glucose transporter-2 (GLUT-2) ของตับอ่อนทั้งหมดอย่างมีนัยสำคัญ มีแค่กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของช้าพลูเพียงกลุ่มเดียวที่มีการแสดงออกของยีน nuclearfactor-kappa B p65 (NF-kappa B p65) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสรุปผลการศึกษาพบว่า สารสกัดน้ำของเบญจกูล และสารสกัดน้ำของช้าพลูสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงโครงสร้างทางจุลกายวิภาคของเซลล์ไอส์เลต และเซลล์อะซินาร์ของตับอ่อนในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูงให้มีลักษณะที่ดีขึ้น นอกจากนี้สารสกัดทั้งสองชนิดสามารถทำให้ภาวะการอักเสบและการชราภาพของตับอ่อนในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูงดีขึ้น โดยการควบคุมการแสดงออกของยีน NF-kappa B p65 โดยรวมพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดสามารถเพิ่มการตอบสนองของอินซูลินผ่านการแสดงออกของยีน IRS-2 ในขณะที่มีเพียงแค่สารสกัดน้ำของช้าพลูที่สามารถปรับปรุงการรับสัญญาณของกลูโคสโดยการเพิ่มการแสดงออกของยีน GLUT-2 ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำของเบญจกูลน่าจะเป็นตำรับที่เหมาะสมสำหรับการปรับสมดุลของกลูโคสได้ (เกวลิน และคณะ, 2559)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์เยื่อบุลำไส้ 

       ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดตำรับยาเบญจกูลด้วยเอทานอล ต่อการผลิตสาร pro-inflammatory cytokine (สารกระตุ้นการอักเสบ) โดยใช้ lipopolysaccharide (LPS) กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเซลล์เยื่อบุลำไส้ เซลล์ caco-2 cells ทดสอบโดยวิธี 3-(4,5-dimethylthaizol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide (MTT) ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดตำรับยาไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ  ผลการศึกษาการกระตุ้นการหลั่งสาร cytokine (สารกระตุ้นการอักเสบ) ด้วยวิธี  enzyme-linked immunosorbent (ELISA) พบว่า สามารถยับยั้งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้แก่ tumor necrosis factor-α(TNF-α), interleukin-1β(IL-1β) และ IL-6 ผลการศึกษานี้แสงให้เห็นว่า สารสกัดจากตำรับยาเบญจกูล มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบ (Burodom and Itharat, 2013).

ฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลัน

      การทดลองใช้หนูขาวสายพันธุ์ Sprague Dawley เพศผู้ น้ำหนัก 40-60 กรัม ทำให้หูของหนูขาวบวมด้วย เอทิลฟีนิลโพรพิโอเลท (EPP) ทดสอบโดยใช้สารสกัดตำรับเบญจกูล และใช้สารสกัดสมุนไพรแต่ละชนิดในตำรับยาเบญจกูล คือ เถาสะค้าน รากช้าพลู ดอกดีปลี เหง้าขิงแห้ง และรากเจตมูลเพลิงแดง เปรียบเทียบกับยามาตราฐาน phenylbutazone กลุ่มควบคุม ได้รับตัวทำละลายในขนาด 20 ไมโครลิตร/หู ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดตำรับเบญจกูลขนาด 1, 2 และ 4  มิลลิกรัมต่อ 20 ไมโครลิตรต่อหู สามารถลดอาการบวมของใบหูหนูที่กระตุ้นให้เกิดการบวมโดย EPP ได้ ส่วนสารสกัดรากเจตมูลเพลิงแดง  1, 2 และ 4 มิลลิกรัมต่อ 20 ไมโครลิตรต่อหู ไม่สามารถลดอาการบวมของใบหูหนูที่กระตุ้นให้เกิดการบวมโดย EPP ได้ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลัน โดยใช้อุ้งเท้าหนูขาวเพศผู้ ฉีด 1% carrageenin เข้าที่อุ้งเท้าหลังข้างขวาของหนูขาว ในปริมาตร 0.05 มิลลิลิตร หลังให้ยา หรือสารทดสอบแก่หนูขาวทางปาก 1 ชั่วโมง โดยใช้ยามาตรฐาน aspirin ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ยาทดสอบใช้สารสกัดตำรับเบญจกูล ขนาด 300, 600 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และกลุ่มควบคุมป้อน 5% tween 80 ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดตำรับยาเบญจกูลสามารถลดการบวมของอุ้งเท้าหนูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมด้วย carrageenin ได้ สารสกัดขนาด 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว มีเปอร์เซ็นการยับยั้งการบวมในชั่วโมงที่ 5 เท่ากับ 32% และขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เปอร์เซ็นการยับยั้งการบวมในชั่วโมงที่ 1 เท่ากับ 56% ชั่วโมงที่ 3 เท่ากับ 49%  และชั่วโมงที่ 5 เท่ากับ 41% โดยมีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (สีหรัฐ, 2553)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบกึ่งเรื้อรัง

       ทดลองใช้หนูขาวเพศผู้น้ำหนัก 250-300 กรัม ฝังก้อนสำลีเข้าใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องของหนูขาวที่ถูกทำให้สลบด้วยอีเทอร์แล้วเย็บปิดปากเเผล (Cotton pellet-induced glanuloma formation) ป้อนสารสกัดตำรับเบญจกูลขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน 2 ชนิด คือ aspirin ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และ prednisolone ขนาด 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน ในวันที่ 8 ชั่งน้ำหนักตัวหนูขาว แล้วสลบหนูด้วย thiopental sodium injection ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เพื่อเลาะเอาก้อนสำลีออก และนำก้อนสำลีไปชั้งน้ำหนักทันที และชั่งน้ำหนัก thymus และคิดหน่วยเป็น มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 100 กรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มยามาตรฐานคือ  aspirin และ prednisolone ผลการทดลองพบว่า หนูขาวกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเบญจกูลขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถยับยั้งการเกิด granuloma ได้แต่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว และน้ำหนักของต่อมไธมัสของหนูขาวเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม  (สีหรัฐ, 2553)

ฤทธิ์ระงับปวด

      การทดลองฤทธิ์ระงับปวดใน early phase ใช้หนูถีบจักรเพศผู้ น้ำหนัก 30-40 กรัม ในกลุ่มทดสอบป้อนสารสกัดตำรับยาเบญจกูล ขนาด 300, 600 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ในกลุ่มยามาตรฐาน 2 ชนิด คือให้ยา aspirin ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว เป็นเวลา 60 นาที จากนั้นฉีด 20 ไมโครลิตรของ 1% formalin เข้าใต้ผิวหนังหลังเท้าซ้ายของหนู และยามาตรฐาน morphine ให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และฉีด 1% formalin หลังให้ยา 30 นาที เปรียบเทียบกลุ่มควบคุม ที่ได้รับ 5%  Tween 80 เปรียบเทียบระยะเวลาการเลียเท้าของหนู (licking time) ในช่วงเวลา 5 นาทีหลังฉีด formalin ในแต่ละกลุ่ม พบว่าตำรับยาเบญจกูลในขนาด 300, 600 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งความเจ็บปวดได้เท่ากับ 72, 73 และ 93% ตามลำดับ การทดลองฤทธิ์ระงับปวดใน late phase ทำการทดลองเช่นเดียวกับ early phase โดยรวมระยะเวลาการเลียเท้าของหนู (licking time) ในช่วงนาทีที่ 20-30 หลังฉีด 1% formalin พบว่าตำรับยาเบญจกูลขนาด 300, 600 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งความเจ็บปวดเท่ากับ 97, 97 และ 98% ตามลำดับ (สีหรัฐ, 2553)

ฤทธิ์ลดไข้

      ใช้หนูขาวเพศผู้ น้ำหนัก 200-250 กรัม วัดอุณหภูมิทางทวารหนักของหนูก่อนเริ่มการทดลอง ทำให้หนูขาวเกิดอาการไข้ โดยฉีด 25% brewers’ yeast ให้ขนาด 1 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 100 กรัม เข้าใต้ผิวหนัง ในชั่วโมงที่ 18 คัดเอาเฉพาะหนูที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิปกติอย่างน้อย 0.75 องศาเซลเซียสมาทำการทดลอง ในกลุ่มทดสอบป้อนสารสกัดตำรับยาเบญจกูลขนาด 300, 600 และ 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว กลุ่มยามาตรฐานได้รับ aspirin ขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว กลุ่มควบคุมได้รับ 5% tween 80 จากนั้นวัดอุณหภูมิทุกๆ 30 นาทีเป็นเวลา 2 ชั่วโมง พบว่าหนูขาวที่เกิดไข้และหลังได้รับสารสกัดตำรับเบญจกูลขนาด 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ในนาทีที่ 120  สารสกัดขนาด 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวในนาทีที่ 90 และ 120 และสารสกัดขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ในนาทีที่ 30, 60, 90 และ 120 อุณหภูมิร่างกายของหนูขาวลดลง  (สีหรัฐ, 2553)

ฤทธิ์ต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

       ศึกษาในหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ อายุ 7-8 สัปดาห์ น้ำหนักประมาณ 170-210 กรัม ป้อนสารสกัดตำรับยาเบญจกูล และสารสกัดสมุนไพรแต่ละชนิดในตำรับยาเบญจกูล คือ สารสกัดขิง, ช้าพลู, ดีปลี ขนาด 150, 300 และ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ทุกวันเป็นเวลา 20 วัน วันที่ 21 ของการทดลอง สัตว์ทดลองทุกกลุ่มเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธี cardiac puncture จำนวน 4 ซีซี เก็บอัณฑะ และ epididymis มาชั่งน้ำหนัก นำเลือดไปวิเคราะห์หาปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ด้วยวิธี RIA พบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดขิงขนาด 150, 300 และ 600 มิลลิกรัม มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนช้าพลู, ดีปลี และสารสกัดตำรับยาเบญจกูล ไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในสัตว์ทดลอง (สุภาพร และจันทริมา, 2553)

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       ผลการทดสอบความสามารถในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดได้แก่ แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดหนอง Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis และยังยับยั้งเชื้อรา Candida albicans ได้ (อรุณพร และคณะ, 2553)

ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเต้านม

       ยาพิกัดเบญจกูล เป็นยาที่แพทย์พื้นบ้านในภาคใต้ของประเทศไทยใช้เป็นยาปรับสมดุลร่างกาย ในคนไข้โรคมะเร็งเต้านม ซึ่งจะให้คนไข้รับประทานก่อนที่คนไข้จะได้รับยามะเร็ง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม ของยาพิกัดเบญจกูล โดยใช้วิธี Sulphorhodamine B  (SRB) assay โดยสกัดด้วยวิธีการหมักในเอทานอล และวิธีต้มในน้ำ แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง โดยทดสอบกับเซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้จากมนุษย์ (MCF-7) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลจากดีปลี, ขิง และพิกัดเบญจกูล มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 35.17, 31.15 และ 33.20 µg/ml ตามลำดับ แต่สารสกัดในน้ำไม่ออกฤทธิ์ นอกจากนี้ยังพบว่าสารบริสุทธิ์ 2 ชนิด คือ piperine และ 6-shogaol (ความเข้มข้น 7.48 และ 0.54% w/w ของสารสกัดหยาบ ตามลำดับ) ซึ่งแยกได้จากสารสกัดตำรับยาเบญจกูลในเอทานอล เมื่อนำมาทดสอบพบว่า piperine และ 6-shogaol สามารถทำลายเซลล์ MCF-7 ที่ค่า IC50 เท่ากับ 9.80 และ 10.18 µg/ml ตามลำดับ ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนการใช้ยาพิกัดเบญจกูลในคนไข้มะเร็งเต้านมของแพทย์พื้นบ้าน (Sakpakdeejaroen and Itharat, 2009)

ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ

      ยาเบญจกูล เป็นยาพื้นบ้านของไทย จากการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านภาคใต้พบว่าเบญจกูลใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง งานวิจัยนี้จึงทำการทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษของตำรับยาเบญจกูล และสารสำคัญต่อเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด ในหลอดทดลอง ได้แก่ มะเร็งปอด largecell lung carcinoma cell line (COR-L23), มะเร็งปากมดลูก cancer cell line (Hela), มะเร็งตับ liver cancer cell line (HepG2) และทดสอบกับเซลล์ปอดปกติ human fibroblast cellline (MRC-5) โดยใช้วิธีการทดสอบด้วย เอส อาร์ บี วิธีการสกัดใช้เลียนแบบการใช้ของหมอพื้นบ้านคือการหมักด้วยเอทานอล และการต้มน้ำ ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลของเจตมูลเพลิงแดง ขิง ดีปลี สะค้าน เบญจกูล และช้าพลู มีค่า IC50 เท่ากับ 3.4, 7.9, 15.8, 18.4, 19.8 และ 32.91 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ แต่สารสกัดชั้นน้ำของพืชทุกชนิด และเบญจกูล ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง สาร 3 ชนิด แยกจากสารสกัดชั้นเอทานอล ได้แก่ gingerol, plumbagin และ piperineสกัดได้ปริมาณ 0.54, 4.18 และ 7.48 % ของน้ำหนักสารสกัด ตามลำดับ เมื่อทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์ พบว่า plumbagin มีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด ตับ ปากมดลูก และเซลล์ปกติ มีค่า IC50 เท่ากับ 2.55, 2.61, 4.16 และ 11.54 ไมโครโมล ตามลำดับ ผลการศึกษานี้สนับสนุนการใช้ตำรับเบญจกูลในการรักษามะเร็งของหมอพื้นบ้าน (Ruangnoo, et al., 2012)

ฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งตับ

       จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของพืชสมุนไพรในตำรับยาเบญจกูล ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดน้ำ และเมทานอลของพืชในตำรับยาด้วยวิธี 3-(4,5-dimethythiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrasodium bromide (MTT) assay เซลล์มะเร็งที่ใช้ในงานวิจัยมี 5 ชนิด คือ เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (SW620) เซลล์มะเร็งปอด (Chago) เซลล์มะเร็งเต้านม (BT474) เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร (KATO-III) และเซลล์มะเร็งตับ (Hep-G2) ผลจากการคัดกรองพบว่าสารสกัดเมทานอลของรากเจตมูลเพลิงแดงมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ ใหญ่ และเซลล์มะเร็งตับมากที่สุด โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งเท่ากับ  11.67±0.01 และ 15.74±0.03 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สารสกัดเมทานอลของเหง้าขิงมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารมากที่สุด โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งเท่ากับ 6.67±0.02 และ 14.23± 0.01 เปอร์เซ็นต์ สารสกัดเมทานอลของเหง้าขิง และรากเจตมูลเพลิงแดงมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมมากที่สุด โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งเท่ากัน คือ 27.30±0.00 เปอร์เซ็นต์ สารกัดหยาบเมทานอลจากรากเจตมูลเพลิงแดงให้ผลการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิดดีที่สุด จึงถูกนำมาแยก และหาสารบริสุทธิ์ เพื่อทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง พบสาร 5 ชนิด คือ 5-hydroxy- 2-methyl-1,4-naphthoquinone (plumbagin), 17-(5-Ethyl-6-methylheptan-2-yl)-10,13- dimethyl-2,3,4,7, 8, 9, 11, 12,14,15,16,17-dodecahydro-1H-cyclopenta[a] phenan thren- 3-ol (beta sitosterol), 2,8-dihydroxy-3-methyl-1,4-naphthoquinone (droserone), (3R ,4R)- 4,8-dihydroxy-3-methyl-3,4-dihydro-2H-naphthalen-1-one (isoshinanolone) และ unknown 5 สารทั้ง 5 ชนิดที่แยกได้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้ง 5 ชนิด ได้ดี โดย unknown 5 สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และเซลล์มะเร็งตับได้ดีที่สุด จากการทดสอบด้วยค่า IC50 เท่ากับ 0.13±0.07 , 0.1±0.02 , 0.11±0.09 และ 0.1±0.02 μg/ml ตามลำดับ สำหรับผลการทดสอบกับเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร สาร 1 ให้ค่า IC50 เท่ากับ 0.0016 ± 0.001  μg/ml ซึ่งน้อยกว่าค่า IC50 ของสารมาตรฐาน doxorubicin 475 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจนำมาพัฒนาเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้ (วรินทร์พิภพ, 2556)

ฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์ และผลต่อเซลล์มะเร็งปอด

      ศึกษาสารสกัดตำรับยาเบญจกูลด้วยเอทานอล แยกส่วนสกัดย่อยได้ 5 ชนิด (BEN 1-5)  และ สารบริสุทธิ์ 3 ชนิด ได้แก่ plumbagin, gingerol และ piperine ทดสอบสารเหล่านี้กับเซลล์มะเร็งปอดในมนุษย์สองชนิด คือ (COR-L23 และ A549) และทดสอบในเซลล์ปอดปกติ (MRC-5) พบว่า ส่วนสกัดย่อย BEN-3 ที่สกัดแยกออกมาด้วยวิธี vacuum liquid chromatography โดยใช้ chloroform เป็นตัวทำละลาย พบว่าสามารถยับยั้ง COR-L23 และ A549 ได้สูง (IC50 เท่ากับ 28.09 และ 34.43 μg/ml ตามลำดับ) สาร plumbagin สามารถยับยั้ง  COR-L23, A549 และ MRC5 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.36 , 0.59 และ 2.17μg/ml ตามลำดับ สาร piperine และ gingerol ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์  CORL23 ได้มากกว่าเซลล์ A549 สรุปได้ว่าสารสกัดและสารบริสุทธิ์จากตำรับยาเบญจกูลทั้งหมด มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด COR-L23 มากกว่าเซลล์อื่น (Rattarom, et al., 2010)

ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

       จากการวิจัยพบว่าสารสกัดเบญจกูลมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในระดับหลอดทดลองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเต้านมได้ดี และยังสามารถยับยั้งก้อนเนื้องอกในหนูทดลองได้ดีอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่าตำรับเบญจกูลมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถกระตุ้นการทำงานของ NK cells และกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ได้ แสดงว่ายาเบญจกูลมีผลต่อระบบภูมิต้านทานในผู้ป่วยมะเร็ง (อรุณพร และคณะ, 2553)

การศึกษาทางคลินิก

-

การศึกษาทางพิษวิทยา

การศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูล

       การศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูล โดยนำตำรับยาเบญจกูล มาสกัดด้วย 95% เอทานอล แล้วทำเป็นยาเม็ดสำเร็จรูป ทดลองในอาสาสมัครปกติชายหญิง จำนวน 20 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานยาเม็ด ขนาด 100 มก. และขนาด 200 มก. วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 14 วัน พบว่าผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำงานของตับ ไต ระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด มาลอนอัลดีไฮด์ (ผลผลิตจากการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน) ก่อนรับประทานยา และหลังรับประทานยาในวันที่ 1, 7, 14 และหลังหยุดรับประทานยา 2 สัปดาห์ (1 เดือน นับจากวันเริ่มรับประทาน) มีอาสาสมัครร่วมรับประทานยากลุ่มที่ 1 จำนวน 10 ราย กลุ่มที่ 2 จำนวน 13 ราย พบว่าอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง มีอาสาสมัครบางรายมีอาการปวดแสบท้อง ซึ่งไม่สัมพันธ์กับขนาดของยา ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผลเคมีในเลือด ระดับโปรตีนรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้พบระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ ALT และ ALP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในกลุ่มที่ 1 สรุปผลการศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูล ขนาด 100 มิลลิกรัม และ 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน ไม่พบอาการทางคลินิกผิดปกติ และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ปุณยนุช, 2554)

พิษกึ่งเฉียบพลัน

     การศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลันของยาเบญกูลในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ โดยป้อนสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 0.75, 4.5 และ 27 ก./กก./วัน หรือคิดเป็น 1, 6 และ 36 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน  พบว่าหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัดขนาดสูงมีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ผลการตรวจค่าทางโลหิตวิทยาพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดบางกลุ่มมีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ  หนูขาวเพศเมียที่ได้รับสารสกัดทุกขนาด และหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัด 0.75 และ 4.5  ก./กก./วัน มีค่าครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ จากการตรวจสอบอวัยวะภายในด้วยตาเปล่าไม่พบความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับสารสกัด หนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดขนาดสูงมีน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับและไตมากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ค่าทางชีวเคมีไม่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของตับและไต และการตรวจทางจุลพยาธิของตับและไตก็ไม่พบความผิดปกติที่แตกต่างกันระหว่างหนูที่ได้รับสารสกัดกับหนูกลุ่มควบคุม (ปราณี และคณะ, 2539)

พิษเรื้อรัง

       เมื่อทดสอบความเป็นพิษเรื้อรังโดยให้หนูกินเบญจกูลในขนาดที่มากกว่า 10 เท่า พบว่าสารสกัดตำรับเบญจกูลไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในหนูทดลอง การทดสอบความปลอดภัยในคน พบว่ายาเม็ดเบญจกูลมีความปลอดภัย ไม่ทำาให้ค่าต่างๆในเลือด และปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป และยังมีแนวโน้มที่ไขมันในเลือดลดลงอีกด้วย นอกจากนี้ยังไม่พบอาการผิดปกติใดๆ อีกทั้งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการของอาสาสมัครอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งทำให้ค่าไขมันในเลือดลดลง (อรุณพร และคณะ, 2553)

การศึกษาพิษต่อเซลล์และพิษต่อยีนของสารสกัดเอทานอล

      การศึกษานี้ทดสอบพิษระดับจีน และระดับเซลล์ของสารสกัดเอทานอของพิกัดเบญจกูล (PBE) ในเม็ดเลือดขาวมนุษย์ในหลอดทดลองด้วยวิธี sister chromatid exchange (SCE) สารสกัด PBE ที่ความเข้มข้น 50 100 200 400 และ 500 มคก./มล. นำมาทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์และพิษต่อยีนในเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์ เป็นเวลา 3 ชั่วโมง อ่านและวิเคราะห์ค่า SCE โดยมี doxorubicin 0.1 µg/ml เป็นกลุ่มควบคุมผลบวก ผลการทดลองพบว่า PBE ที่ความเข้มข้น ≥ 500 มคก./มล. เป็นพิษระดับเซลล์ โดยพบเซลล์ในระยะไมโทซิสน้อยมาก PBE ที่ความเข้มข้น 100, 200 และ 400 มคก./มล. กระตุ้นระดับ SCE สูงกว่ากลุ่มควบคุมผลลบอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ดัชนีการแบ่งเซลล์ (MI) และดัชนีการเพิ่มจำนวนเซลล์ (PI) ไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม  ผลการทดลองแสดงว่า PBE เป็นพิษต่อเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ในระดับจีน และระดับเซลล์ความเข้มข้นที่ ≥ 100 มคก./มล.และ  ≥ 500 มคก./มล.ตามลำดับ ความเป็นพิษของ PBE น่าจะมาจากสาร plumbagin ซึ่งเป็นสารสำคัญใน PBE ระดับความปลอดภัยของ PBE คือ ≤ 50 มคก./มล. (ตรีทิพย์ และคณะ, 2555)

เอกสารอ้างอิง

1. เกวลิน วงศ์โถง, อชิรญา คำจันทร์ศุภสิน, พรเทพ เต็มรังสี, ณรงค์ศักดิ์ มั่นคง, นพมาศ แก่นดี, นุชสิริ เลิศวุฒิโสภณ. ผลของสารสกัดน้ำของเบญจกูลต่อตับอ่อนของหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูง. ธรรม    ศาสตร์เวชสาร. 2559;16(2):161-175.

2. ตรีทิพย์ รัตนวรชัย, สุมน ธิติโอฬาร, เสริมเกียรติ ทานุชิต, อินทัช ศักดิ์ภักดีเจริญ, อรุณพร อิฐรัตน์.ฤทธิ์ความเป็นพิษในระดับจีนและเซลล์ของสารสกัดเอทานอลจากพิกัดเบญจกูลต่อเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ในหลอดทดลอง.ธรรมศาสตร์เวชสาร. 2555;12(2):262-268.

3. ปราณี ชวลิตธำรง, เอมมนัส อัตตวิชญ์, พัช รักษามั่น, ปราณี จันทเพ็ชร. พิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณเบญจกูล. ไทยเภสัชสาร. 2539;20(1):39-51.

4. ปุณยนุช อมรดลใจ. การศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูลในอาสาสมัครปกติ [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ; 2554.

5. วรินทร์พิภพ ชยทัตภูมิรัตน์. ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของพืชสมุนไพรไทยในตำรับยาตรีผลา เบญจกูล และเบญจโลกวิเชียร [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต].กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2556.

6. สีหรัฐ จุลรัฐธนาภรณ์. รายงานโครงการย่อยที่ 2 ผลของสารสกัดเบญจกูลในการลดการอักเสบ แก้ไข้ แก้ปวดในสัตว์ทดลอง, 2553. ใน ปุณยนุช อมรดลใจ. การศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูลในอาสาสมัครปกติ [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ; 2554.

7. สุภาพร วรรณศิริ, จันทริมา เจริญพันธุ์. รายงานโครงการย่อยที่ 4 การศึกษาผลของสารสกัดเบญจกูลต่อฮอร์โมนเพศในหนูแรท, 2553. ใน ปุณยนุช อมรดลใจ. การศึกษาความปลอดภัยของยาเม็ดจากสารสกัดตำรับเบญจกูลในอาสาสมัครปกติ [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ; 2554.

8. อรุณพร อิฐรัตน์ และคณะ. การพัฒนาสารสกัดเบญจกูลเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็ง. รายงานผลการวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.

9. Burodom A, ItharatA. Inflammatory suppressive effect of Benjakul, a Thai traditional medicine on intestinal epithelial cell line. J Med Plants Res. 2013;7(44):3286-3291.

10. Rattarom R, Sakpakdeejaroen I, Itharat A. Cytotoxic effects of the ethanolic extract from Benjakul formula and its compounds on human lung cancer cells. Thai J Pharmacol. 2010;32(1): 99-101.

11. Ruangnoo S, ItharatA, Sakpakdeejaroen I, Rattarom R, Tappayutpijarn P, Pawa KK. In vitro cytotoxic activity of Benjakul herbal preparation and its active compounds against human lung, cervical and liver cancer cells. J Med Assoc Thai. 2012;95(Suppl. 1):S127-S134.

12. Sakpakdeejaroenand I, Itharat A. Cytotoxic compounds against breast adenocarcinoma cells (MCF-7) from Pikutbenjakul. J Health Res. 2009;23(2):71-76.

 

ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ

ดอกดีปลี

รากช้าพลู

เถาสะค้าน

รากเจตมูลเพลิงแดง

เหง้าขิงแห้ง

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 28
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่