ช้าพลู

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ช้าพลู

ชื่อเครื่องยา ช้าพลู
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก ราก ใบ ทั้งต้น
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ช้าพลู
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) ผักอีเลิด (อีสาน) นมวา (ภาคใต้) ผักปูนา ผักพลูนก พลูลิง ผักอีไร (เหนือ) เย่เท้ย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), ผักแค
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb.
ชื่อพ้อง Piper albispicum C. DC., P. baronii C. DC., P. brevicaule C. DC., P. lolot C. DC., P. pierrei C. DC., P. saigonense
ชื่อวงศ์ Piperaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          รากทรงกระบอก สีเทาดำ ขนาดความยาว 3-7 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร มีกลิ่นเหม็น ใบ แผ่นใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ตัวใบรูปหัวใจ  โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม  ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบมีขนตามเส้นใบ มีเส้นแขนงใบ 7 เส้น เห็นชัดเจน ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร

 

 

 

เครื่องยา ช้าพลู

 

 

 

เครื่องยา ช้าพลู

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

     เครื่องยาใบช้าพลู  ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 7.0% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 20% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอลไม่น้อยกว่า 7% w/w ปริมาณสารสกัดน้ำไม่น้อยกว่า 20% w/w (THP)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย รากรสร้อน บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ แก้คูถเสมหะ ขับเสมหะให้ตกลงทางทวารหนัก ทำให้เสมหะแห้ง ราก ผล และใบ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดกระเพาะเนื่องจากความเย็นพร่องในธาตุ แก้ธาตุน้ำพิการ แก้ไอเย็น ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้ปวดฟัน ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ฟกช้ำ ใช้ภายนอก รักษาขาเน่าขาเปื่อย ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ช้าพลูในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของรากช้าพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของช้าพลู (ทั้งต้น) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:                 -

 

องค์ประกอบทางเคมี: 

            การแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดใบช้าพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ได้สารประกอบ hydrocinnamic acid (1) และ β- sitosterol (2) โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานที่ทราบโครงสร้างแล้ว (น้อย และก้าน, 2526)

                

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:              

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

       ศึกษาในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague-Dawley ให้หนูได้รับอาหารไขมันสูง ร่วมกับสารสกัดน้ำของรากช้าพลู เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับยามาตรฐาน metformin เมื่อเลี้ยงหนูจนครบ 4 สัปดาห์ จึงทำการทดสอบการตอบสนองของอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด ระดับอินซูลินในซีรั่ม น้ำหนักของตับอ่อน ลักษณะทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อตับอ่อน อิมมูโนพยาธิวิทยาของ beta-galactosidase ระดับของ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารบ่งชี้การเกิดออกซิเดชัน และศึกษาการแสดงออกของยีนเป้าหมายของตับอ่อน ผลการศึกษาพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับสารสกัดน้ำของรากช้าพลู และกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงร่วมกับยามาตรฐาน metformin สามารถเพิ่มการแสดงออกของยีน glucose transporter-2 (GLUT-2) ของตับอ่อนได้อย่างมีนัยสำคัญ และควบคุมการแสดงออกของยีน nuclear factor-kappa B p65 (NF-kappa B p65) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสรุปผลการศึกษาพบว่าสารสกัดน้ำจากรากช้าพลูสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงโครงสร้างทางจุลกายวิภาคของเซลล์ไอส์เลต และเซลล์อะซินาร์ของตับอ่อนในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูงให้มีลักษณะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ภาวะการอักเสบ และการชราภาพของตับอ่อนในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูงดีขึ้น โดยการควบคุมการแสดงออกของยีน NF-kappa B p65 และลดระดับ  MDA ที่ตับอ่อน โดยรวมพบว่าสารสกัดสามารถเพิ่มการตอบสนองของอินซูลินผ่านการแสดงออกของยีน IRS-2 ในขณะที่สามารถปรับปรุงการรับสัญญาณของกลูโคสโดยการเพิ่มการแสดงออกของยีน GLUT-2 ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากช้าพลูมีความเหมาะสม สำหรับการปรับสมดุลของน้ำตาลกลูโคสได้ (Vongthoung, et al., 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส

          การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง ของของสารสกัดเมทานอลจาก ลำต้น และใบช้าพลู (อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส เป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีนในสมอง ที่มีผลต่อการเรียนรู้และความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้จึงสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้) ทดสอบด้วยวิธี Ellman’s colorimetric method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของลำต้นช้าพลู และใบช้าพลู ในขนาดความเข้มข้น 100 µg/ml มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ดีมาก โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 13.59 และ 26.74 µg/ml ตามลำดับ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 สารมาตรฐาน eserine hemisulfate  มีค่า IC50 เท่ากับ 0.023 µg/ml (Werawattanachai and Kaewamatawong, 2016)

ฤทธิ์ยับยั้งเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน

       ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันในหลอดทดลอง ของสารสกัดน้ำจากใบช้าพลู หาความสามารถรวมในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเปรียบเทียบกับกราฟมาตรฐานแกลลิกแอซิด ด้วยเทคนิคสเปกโตรโฟโตเมทรี ที่ค่าการดูดกลืนแสง 704 nm พบว่าสารสกัดน้ำจากใบช้าพลู มีความสามารถรวมในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เท่ากับ 0.144±0.0032 mg/ml เมื่อเปรียบเทียบกับกราฟมาตรฐานแกลลิกแอซิด การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน โดยวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ 532 nm ใช้สารสกัดน้ำจากใบช้าพลูขนาด 0.3125, 0.625, 1.25, 2.50, 5.0 และ 10.00 mg/ml พบว่าสารสกัดทุกขนาดสามารถยับยั้งการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันโดยใช้เฟอร์รัสซัลเฟตเหนี่ยวนำ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน โดยไม่มีสารสกัดช้าพลู โดยสารสกัดช้าพลูที่ความเข้มข้น 1.25 mg/ml  สามารถลดการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชันได้ดีที่สุด  สังเกตได้จากระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (อโนดาษ์, 2556)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

       การทดสอบฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบช้าพลู ในสัตว์ทดลอง โดยฤทธิ์ลดปวดทดสอบด้วยวิธี writhing test (ใช้กรดอะซิติกเหนี่ยวนำเกิดการหดตัวช่องท้องของหนูถีบจักรเพศผู้) และวิธี hot plate (โดยจับเวลาที่หนูถีบจักร สามารถทนอยู่บนแผ่นความร้อน โดยสังเกตจากพฤติกรรมการเลียเท้า หรือกระโดดหนีความร้อน) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ดูผลการยับยั้งการบวมที่อุ้งเท้าหนูขาวสายพันธุ์ Sprague–Dawley เมื่อเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน (carrageenan-induced paw edema assay) ผลการทดสอบฤทธิ์ลดปวดพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดสมุนไพรเข้าใต้ผิวหนังหนูสามารถลดการปวดได้ทั้ง 2 วิธีการทดสอบ ฤทธิ์ลดปวดด้วยวิธี writhing testของสารสกัดใบช้าพลูขนาด 300 mg/kg และสารมาตรฐาน acetylsalicylic acid (ASA; 100 mg/kg) มีค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 61.6 และ 76.6% ตามลำดับ และเมื่อให้สารสกัดสมุนไพรร่วมกับ naloxone ในขนาด 5 mg/kg พบว่าฤทธิ์ระงับปวดถูกยับยั้งได้ด้วยนาลอกโซน โดยพบว่าค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 1.4% แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ระงับปวดของสมุนไพร น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวรับ opioidการทดสอบให้ผลเช่นเดียวกันในวิธี hot plate ธีการทดลองใช้คาราจีนินเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมของอุ้งเท้าในหนู พบว่าการให้สารสกัดขนาด 100 และ  300 mg/kg ทั้งสองขนาดมีฤทธิ์ลดการบวมของอุ้งเท้าหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Zakaria, et al., 2010)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์

       ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใบช้าพลู สกัดใบช้าพลูแห้งด้วยการหมัก โดยตัวทำละลายชนิดต่างๆ คือ petroleum ether, hexane, dichlo­romethane, ethyl acetate และ methanol ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ใช้วิธี DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl) และ วิธี Ferric Reducing Antioxidant Power (FRAP) การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ใช้วิธี Ames test ในเชื้อแบคทีเรีย Samonella typhimurium 2 สายพันธุ์คือ TA98 และ TA100 ผลการวิจัยพบว่า วิธี DPPH สารสกัด hexane มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีที่สุด โดยให้ค่า EC50 เท่ากับ 29.63±0.56 μg/mL และ วิธี FRAP สารสกัด methanol ให้ฤทธิ์ดีที่สุด ค่า Fe (II) equivalent เท่ากับ 0.56±0.12 μmol/mg สารสกัดใบชะพลูไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และสารสกัด dichloromethane มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบโดยวิธี Ames test ได้ดีที่สุดในทั้งสองสายพันธุ์ จากงานวิจัยในหลอดทดลองครั้งนี้สรุปได้ว่า สารสกัดจากช้าพลูมีศักยภาพในการนำมาศึกษาต่อเพื่อที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงร่างกายได้ (พัชรินทร์ และคณะ, 2557)

 

การศึกษาทางคลินิก:                        -

อาการไม่พึงประสงค์:                       -

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:                  

ผลต่อความเสียหายของโครโมโซม ของเซลล์ไขกระดูกของหนูขาว

       การศึกษาพิษของสารสกัดน้ำของต้นช้าพลูในการชักนําให้เกิดไมโครนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดแดงชนิด Polychromatic ในไขกระดูก ทําโดยให้สารสกัดช้าพลูในขนาด 1,5 และ 10ก./กก.น้ำหนักตัว ทางปากกับหนูขาวพันธุ์วิสตาร์เพศผู้โตเต็มวัยในแต่ละกลุ่ม จากนั้นฆ่าหนูด้วยอีเทอร์ที่ 30 ชั่วโมงหลังได้รับสารทดสอบ และเก็บตัวอย่างจากไขกระดูกหนู นอกจากนี้สําหรับหนูที่ได้รับสารในปริมาณ 10 ก./กก.น้ำหนักตัวทางปาก เก็บตัวอย่างจากไขกระดูกหนูเพิ่มเติมที่  24, 48 และ 72 ชั่วโมง หลังได้รับสารสกัด หลังจากฆ่าหนูแล้วเก็บเซลล์ไขกระดูกมาย้อมสี และนับจํานวนเม็ดเลือดแดงชนิดโพลิโครมาติก (Polychromatic erythrocytes; PCE) ที่มีไมโครนิวเคลียสจากจํานวนเซลล์ PCE 2000 เซลล์ต่อหนู 1 ตัว และนับจํานวนเม็ดเลือดแดง 400 เซลล์เพื่อหาอัตราส่วนระหว่าง PCE : Normochromatic erythrocytes (NCE) ผลการทดลองแสดงว่า สารสกัดช้าพลูแม้มีขนาดสูงถึง 10 ก./กก. น้ำหนักตัว ไม่มีผลในการชักนําให้เกิดไมโครนิวเคลียสกับเซลล์ PCE ในไขกระดูกของหนูในทุกช่วงเวลาที่กําหนด เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ค่า PCE : NCE ratio ของหนูที่ได้รับสารสกัดช้าพลูในขนาดต่างๆ และในทุกช่วงเวลาที่กําหนด ก็ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ กับหนูกลุ่มที่ได้รับน้ำอย่างเดียวเช่นเดียวกัน ซึ่งผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดช้าพลูในขนาดที่ให้หนูนั้นไม่มีผลทําให้เกิดความเสียหายต่อโครโมโซมของเซลล์ไขกระดูก และไม่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ เมื่อทดสอบโดยวิธีดูไมโครนิวเคลียส (ปรานอม และคณะ, 2547)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. น้อย เนียมสา, ก้าน จันทร์พรหมมา.การศึกษาสารเคมีจากชะพลู Piper sarmentosum Roxb. วารสารสงขลานครินทร์. 2526;5(2):151-152.

2. ปรานอม ภูชฎาภิรมย์, ปัญญา เต็มเจริญ, สุรพล  คงทิม, ลักขณา หิมะคุณ, ยุวดี  วงษ์กระจ่าง, เพ็ญโฉม พึ่งวิชา และคณะ. ผลของสารสกัดช้าพลู (Piper sarmentosum) ที่มีต่อความเสียหายของโครโมโซม ของเซลล์ไขกระดูกของหนูขาวทดสอบโดยวิธีดูไมโครนิวเคลียส. วารสารสมุนไพร. 2547;11(1):11-19.

3. พัชรินทร์ บุญหล้า, เมธิน ผดุงกิจ, อุดมศักดิ์ มหาวีรวัฒน์, ธิดารัตน์ สมดี.ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใบชะพลู.วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2557;10(3):283-294.

4. อโนดาษ์ รัชเวทย์. ผลของสมุนไพรต่อการเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน. วารสารบัณฑิตศึกษา. 2556;10(46):51-59.

5. Vongthoung K, Kamchansuppasin A, Temrangsee P, Munkong N, Kaendee N, Lerdvuthisopon N. Effects of Benjakul water extract on pancreas in high-fat fed rats. Thammasat Medical Journal. 2016; 16(2): 161-175.

6. Werawattanachai N, Kaewamatawong R. Screening for acetylcholinesterase inhibitory activity from the piperaceae. Journal of Science and Technology, Ubon Ratchathani University. 2016;18(3):26-33.

7. ZakariaZA, PatahuddinH, Mohamad AS, Israf DA, Sulaiman MR. In vivo anti-nociceptive and anti-inflammatory activities of the aqueous extract of the leaves of Piper sarmentosum. Journal of ethnopharmacology. 2010;128:42-48.

 

 

ค้นหาข้อมูลพืชที่ให้เครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-phargarden/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง            : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล         : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม        phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 1
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่