ขิงแห้ง

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ขิงแห้ง

ชื่อเครื่องยา ขิงแห้ง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา -
ได้จาก เหง้า
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ขิงแห้ง
ชื่ออื่น (ของพืชที่ให้เครื่องยา) -
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber ligulatum Roxb.
ชื่อพ้อง -
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

          เหง้ามีลักษณะเป็นข้อๆ แบนในแนวนอน แตกแขนง รูปร่างเหมือนฝ่ามือประกอบด้วยแง่งเล็กๆ ขนาดยาว 3-6 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน ภายในมีสีขาวแกมม่วงอ่อนๆ เนื้อค่อนข้างเรียบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ  เหง้าขิงแห้งมีรสเย็นกว่าเหง้าขิง และมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า

 

 

เครื่องยา เหง้าขิงแห้ง

 

 

เหง้าขิงแห้ง (เหง้าสด)

 

ต้นขิงแห้ง

 

 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

          -

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย เหง้า รสหวาน ร้อน เผ็ด แก้พรรดึก แก้ไข้จับ แก้นอนไม่หลับ แก้ลมพานไส้ แก้ลมแน่นในทรวง แก้ลมเสียดแทง ลมวิงเวียน ลมคลื่นเหียน แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ไอลึกในทรวงอก แก้เสมหะในทรวงอก ปอด และหลอดลมใช้รักษาอาการอักเสบ  เป็นยาขับลม กระจายลม แก้จุกเสียด แก้ไข้ตรีโทษ บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร แก้ลมปั่นป่วนในท้อง แก้แน่นเฟ้อ ปรากฏการใช้ขิงแห้งในพิกัดยาไทย หลายพิกัดได้แก่ พิกัดตรีกฎุก พิกัดเบญจกูล เป็นต้น โดยกล่าวว่าเหง้าขิงแห้ง มีสรรพคุณ เจริญอากาศธาตุ แก้ไข้ แก้ลมพานไส้ แก้พรรดึก

          บัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีการใช้ขิงแห้งในหลายตำรับได้แก่ “ตำรับยาวิสัมพยาใหญ่”มีสรรพคุณ แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด “ตำรับยาประสะกานพลู”มีสรรพคุณ แก้ปวดท้องเนื่องจากธาตุไม่ปกติ “ตำรับยาหอมนวโกฐ”สรรพคุณ แก้ลมคลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมปลายไข้ เป็นต้น

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ขิงแห้งในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของเหง้าขิงแห้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ  ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของเหง้าขิงแห้งร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด

 

องค์ประกอบทางเคมี:

       ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลของเหง้าขิงแห้ง ด้วยเทคนิค 1H-NMR (400 MHz) และ 13C-NMR (100 MHz) spectroscopic data พบสารกลุ่ม flavonols ได้แก่  kaempferol 7,4'-dimethyl ether และ quercetin 7,4'-dimethyl ether อนุพันธ์ของ benzoic acid ได้แก่ n-propyl p-hydroxybenzoate  ศึกษาปริมาณสารสำคัญโดยใช้เทคนิค gas chromatography/mass spectrometry พบสารกลุ่ม sesquiterpene ได้แก่ elemol, β-eudesmol, α-eudesmol  สารกลุ่ม fatty acid ethyl esters ได้แก่ palmitic acid ethyl ester, magaric acid ethyl ester, linoleic acid ethyl ester, oleic acid ethyl ester, stearic acid ethyl ester  ขิงแห้งจะมีรสเย็นกว่าขิง และกลิ่นฉุนน้อยกว่าขิง และไม่พบ 6-gingerol เหมือนที่พบในเหง้าขิง (Kidruangphokin, et al., 2017)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอล และน้ำ จากเหง้าขิงแห้ง และเหง้าขิง ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี คือ DPPH radical scavenging assay ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดชั้นเอทานอลของเหง้าขิง และเหง้าขิงแห้ง สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ใกล้เคียงกัน โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 15.10 ± 2.50 และ 15.89 ± 2.92 µg/ml ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน butylated hydroxytoluene (BHT) ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 11.36 ± 0.21 µg/ml ส่วนสารสกัดน้ำของพืชทั้งสองชนิด ไม่ออกฤทธิ์  (Phuaklee, et al., 2010)

ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด

      การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอดในหลอดทดลองของสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำจากเหง้าขิงแห้ง และเหง้าขิง ทดสอบในเซลล์มะเร็งปอด large cell lung carcinoma cell line (COR-L23) โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี sulphorhodamine B (SRB) assay (วีธีการตรวจวัดค่าการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็ง) พบว่ามีเพียงสารสกัดเอทานอลของเหง้าขิงที่ออกฤทธิ์ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 7.90 ± 1.90 µg/ml (สารสกัดเอทานอลของเหง้าขิงแห้ง มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 42.27 ± 2.28µg/ml) จากผลการศึกษาที่ได้จึงอาจใช้ขิงแทนที่ขิงแห้งที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้ในฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวข้อง (Phuaklee, et al., 2010)

 

การศึกษาทางคลินิก:        -

อาการไม่พึงประสงค์:       -

การศึกษาทางพิษวิทยา:   -

 

เอกสารอ้างอิง:

1. Kidruangphokin M, Pranee U, Suphrom N, Boonphong S. Chemical constituents of Zingiber ligulatum Roxb. NU. International Journal of Science. 2017;14(2): 9-18.

2. Phuaklee P, Sakpakdeejaroen I, Itharat A. Cytotoxic and antioxidant activities of two species of ginger extracts. Thai J Pharmacol. 2010;32(1): 82-85.

 

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 0
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่