ดีปลี
ชื่อสมุนไพร | ดีปลี |
ชื่ออื่นๆ | ดีปลีเชือก ประดงข้อ ปานนุ ฟันพญาไฟ บี้ฮวด พิษพญาไฟ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Piper retrofractum Vahl. |
ชื่อพ้อง | Piper chaba Hunter., P. officinarum |
ชื่อวงศ์ | Piperaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็ง ขึ้นเลื้อยพัน ลำต้นค่อนข้างกลมเรียบ เปราะ หักง่าย บริเวณข้อมีรากสำหรับยึดเกาะ แตกกิ่งก้านมาก ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียวสลับตามข้อใบ รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ผิวด้านหลังใบเป็นมัน หลังใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย โคนเบี้ยว ปลายแหลม ขอบเรียบ มีเส้นใบออกจากโคน 3-5 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ใบยอดกิ่งไม่มีก้าน ใบและเถามีรสเผ็ดร้อน ดอกเป็นช่อตั้งตรงข้ามกับใบ ออกเป็นช่อจากง่ามใบ หรือปลายยอด มีดอกย่อยเรียงกันอัดแน่นบนแกนช่อลักษณะเป็นแท่งกลมยาวทรงกระบอก ปลายเรียวมน ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว สีเขียว เมื่อแก่มีสีเหลืองอมแดง มีขนปกคลุมเล็กน้อย ไม่มีก้านดอกย่อย ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ก้านช่อดอกยาวเท่ากับก้านใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว 4-5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ก้านดอกยาว 2-3.5 ซม. มีเกสรเพศผู้ 2-3 อัน ช่อดอกเพศเมีย ยาว 3-4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม. ผลสดอัดกันแน่นบนแกนช่อ ยาว 2.5-5 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร โคนกว้าง ปลายมน ผิวผลเรียบ ผลย่อยขนาดเล็กจะติดกันเป็นแท่งหลอมรวมกัน แยกจากกันไม่ได้ ผลมีรสเผ็ดร้อน มีสีเขียวเมื่อสุกสีน้ำตาลแกมแดง ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมล็ดมีขนาดเล็กมาก กลมและแข็ง
ลักษณะวิสัย
ดอก และ ผลอ่อน
ดอก และ ผลอ่อน
ผล
ใบ และ ผล
ผลแก่
ผลอ่อน และ ผลแก่
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ผล รสเผ็ดร้อนขม ใช้เป็นเครื่องเทศมีกลิ่นหอม และเผ็ดมากกว่าพริกไทย รสคล้ายขิง ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ขับลมเย็น แก้ปวดกระเพาะ ปวดท้อง อาเจียน เรอเปรี้ยว ท้องเสีย แก้บิด ทำให้เจริญอาหาร โดยกระตุ้นให้น้ำลายไหลออกมาและทำให้เกิดการชาในปาก แก้กระษัยลมเย็น แก้ปวดหัว ปวดฟัน ไซนัส แก้หืดไอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ลมวิงเวียน ฟกช้ำบวมปวด ขับระดู แก้สตรีที่เลือดลมไม่ดี ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ตกเลือด แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้โรคนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู ขับน้ำดี ขับพยาธิ ใช้ภายนอกแก้ปวดกล้ามเนื้อ รักษาอาการอักเสบ ผลดีปลีใช้เป็นเครื่องเทศโดยใช้แต่งกลิ่นผักดองและช่วยถนอมอาหารมิให้เกิดการบูด ใบ รสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยย่อยอาหาร เถา รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะพิการ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลม เจริญอาหาร ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เถาและกิ่ง ฝนกับน้ำ ทาแก้ฟกบวม ใส่ฟัน แก้ปวดฟัน รากสด และใบสด แก้ฟกช้ำ โดยตำให้แหลกผสมกับเหล้า พอกบริเวณที่เป็น ราก รสเผ็ดร้อนขม แก้เส้นอัมพฤกษ์อัมพาต แก้หืดไอ แก้ลมวิงเวียน แก้เสมหะ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ ต้น แก้เสมหะพิการ ราก ผล ดอก ปรุงเป็นยาแก้หืดและไอ แก้ลมวิงเวียน ดอก แก้ท้องร่วง ขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน แก้ริดสีดวงทวาร ช่วยให้เจริญอาหาร
องค์ประกอบทางเคมี
น้ำมันหอมระเหยพบจากผล และพบอัลคาลอยด์ piperine, piperidine, piplartine, sesamin รากพบ piperlongumine น้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.7% ประกอบด้วย thujene, terpinolene, p-cymene, dihydrocarveol, zingiberine
ข้อมูลเครื่องยา : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/
ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/
ข้อมูลตำรับยาธาตุบรรจบ : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาประสะไพล : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/
ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/