เพกา

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เพกา

ชื่อสมุนไพร เพกา
ชื่ออื่นๆ ลิ้นฟ้า(เลย) ลิ้นก้าง ลิ้นช้าง(ไทยใหญ่) เพกา (ภาคกลาง) มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (ฉาน ภาคเหนือ) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ด๊อกก๊ะ ดอก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเลย์ นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz
ชื่อพ้อง Arthrophyllum ceylanicum Miq. Arthrophyllum reticulatum Blume ex Miq. Bignonia indica L. Bignonia lugubris Salisb. Bignonia pentandra Lour. Bignonia quadripinnata Blanco Bignonia tripinnata Noronha Bignonia tuberculata Roxb. ex DC. Calosanthes indica (L.) Blume Hippoxylon indica (L.) Raf. Oroxylum flavum Rehder Spathodea indica
ชื่อวงศ์ Bignoniaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น กึ่งผลัดใบหรือไม่ผลัดใบ สูง 5-12 เมตร เรือนยอดเล็ก กิ่งเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านน้อย ต้นที่มีอายุน้อยมีกิ่งใหญ่ตรงกลางกิ่งเดียว เปลือกเรียบ มีใบเป็นกลุ่มตรงกลาง คล้ายกับต้นปาล์ม ภายหลังจากออกดอก ลำต้นจะแยกเป็นกิ่งระเกะระกะ เปลือกต้น สีน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม และแผลของใบยาวถึง 150 เซนติเมตร เกิดจากใบที่ร่วงไปแล้ว ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศ กระจายอยู่ทั่วไป เปลือกลำต้นเรียบสีเทา มีรอยแผลเป็น จากการหลุดร่วงของใบ ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายคี่ ใบขนาดใหญ่ ยาว 60-200 เซนติเมตร เรียงตรงข้ามกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายยาว ขอบใบเรียบ ฐานใบสอบแคบ ใบเกลี้ยง หรือมีขนสีขาวสั้นๆ ด้านล่าง ท้องใบนวล ก้านใบบนสุดแยกออก 1 ครั้ง ก้านใบกลางแยก 2 ครั้ง และก้านใบล่างแยก 3 ครั้ง ทำให้เห็นใบทั้งหมดเป็นรูปสามเหลี่ยม  ก้านใบย่อยยาว 5-8 มิลลิเมตร ก้านใบข้าง และก้านใบร่วมโค้งพองออกที่ฐานและที่ข้อ ก้านใบยาว 0.5-2 เมตร ดอกช่อขนาดใหญ่แบบกระจะ ออกที่ปลายยอดเป็นกระจุก มีดอกย่อย 20-35 ดอก จะบานพร้อมกันคราวละ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาว 60-180 เซนติเมตร ยื่นออกมานอกทรงพุ่มของยอด ดอกย่อยขนาดใหญ่ 8-12 เซนติเมตร กลีบดอกสีนวลแกมเขียวโคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หรือม่วงด้านนอก หลอดกลีบดอกยาว 2-4 เซนติเมตร รูปแตร กลีบดอกหนา ขอบย่น ไม่มีพู หรือพูไม่เท่ากัน มีต่อมกระจายอยู่ด้านนอก ด้านในมีขนหนาแน่น ดอกบานตอนกลางคืน มีกลิ่นสาบฉุน และร่วงตอนเช้า มักจะมีดอกและผลในกิ่งเดียวกัน เกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับหลอดดอก โคนก้านมีขน เกสรตัวเมียมี 1 อัน กลีบเลี้ยงยาว 2-4 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายไม่แยกเป็นกลีบอย่างเด่นชัด เมื่อเป็นผล กลีบเลี้ยงนี้จะเจริญเป็นเนื้อแข็งมาก ผลเป็นฝัก แบน โค้งเล็กน้อยที่ฐาน มีสันเล็กๆที่ด้านข้าง คล้ายรูปลิ้น ห้อยอยู่เหนือเรือนยอด กว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 30-120 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม สีแดง ติดฝักยาก ฝักเป็นรูปดาบ เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีขาว  ขนาด 4-8 เซนติเมตร มีปีกบางโปร่งแสง พบบริเวณป่าเต็งรัง ป่าทุ่ง ป่าผสมผลัดใบ บริเวณ ไร่ สวน ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ยอดอ่อนรสชาติขม และดอก นำมาลวกกินเป็นผัก ฝักแก่ที่ยังไม่แข็งจะมีรสขมใช้ประกอบอาหารได้ แต่ต้องทำให้รสขมหมดไปโดยการเผาไฟให้ผิวไหม้เกรียม  แล้วขูดผิวที่ไฟไหม้ออก นำมาหั่นเป็นฝอย แล้วคั้นน้ำหลายๆหน แล้วจึงนำมาปรุงอหารได้ เช่น ผัด แกง เป็นผักจิ้มน้ำพริก


 

ลักษณะวิสัย

 

ลำต้น

 

ลำต้น (ลอกเปลือก นำไปทำยา)

 

ใบ

 

ช่อดอก

 

ช่อดอก

 

ดอก

 

ดอก

 

ฝัก

 

ฝัก

 

ฝัก และ เนื้อภายในฝัก

 

เมล็ด

 


สรรพคุณ    
             ตำรายาไทย  ใช้  เมล็ด ต้มน้ำดื่ม แก้ไอและขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย เมล็ดแก่ มีรสขม เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ เมล็ดแห้ง ทำน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ฝักแก่ มีรสขมรับประทานได้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร ระงับไอ ฝักอ่อน มีรสขมร้อน ใช้เป็นยาขับลม ฝักแก่ มีรสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ เปลือกหรือแก่น ใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ และนำไปเข้ากับยาอื่นหลายตัว แก้น้ำเหลืองเสีย บำรุงเลือด เป็นยาแก้พิษ เปลือกต้น รสฝาด ขม เย็น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต
            แพทย์ในชนบท  ใช้  ตำผสมกับเหล้าโรงพ่นตามตัวสตรีที่ทนอยู่ไฟไม่ได้ให้ผิวหนังชา ตำผสมกับน้ำส้มมดแดง และเกลือสินเธาว์ กินเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด ต้มน้ำกินเป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะจุกคอ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด ฝนกับเหล้ากวาดปาก แก้พิษซางเม็ดสีเหลือง แก้ละออง แก้ซางเด็ก ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม ราก มีรสขมฝาด ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ท้องเสีย ขับเหงื่อ แก้ไข้สันนิบาต ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อักเสบฟกบวม ใบ มีรสฝาดขม ต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ ราก รสฝาดขมร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้บวมอักเสบ ทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบดอก และผล ) มีรสฝาดขมเย็น เป็นยาสมานแผล แก้อักเสบฟกบวม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย

 

องค์ประกอบทางเคมี:

        ใบพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ chrysin, baicalein, baicalein-7-O-glucoside, baicalein-7-O-diglucoside, chrysin-7- O-glucuronide, baicalein-7-O-glucuronide, chrysin-diglucoside (จันทร์เพ็ญ, 2559)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอลที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar disc diffusion ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Bacillus subtilis และ Staphylococus aureus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด คือ Escherichia coli  และ Pseudomonas aeruginosa  ใช้สารสกัดที่ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาณ 20 ไมโครลิตรต่อ disc ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากดอก (FE) และใบ (LE) สารสกัดเมทานอลจากดอก (FM ) และใบ (LM) จำนวน 4 ตัวอย่าง สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก คือ S. aureus และ B. subtilis ได้ โดยสาร FE มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis สูงที่สุด ให้ค่าเฉลี่ยบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (Inhibition zone) เท่ากับ 13.83 ± 2.88 mm สำหรับเชื้อแบคทีเรีย S. aureus สาร LM มีฤทธิ์ยับยั้งได้สูงที่สุดเท่ากับ 13.33 ± 0.70 mm ส่วนแบคทีเรียแกรมลบ P. aeruginosa พบว่าสาร FE และ FM สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย โดยมีค่า Inhibition zoneเท่ากับ 11.00 ± 0.50 และ 7.50 ± 0.50 mm ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่ามีเพียงสาร FE เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญของ E. coli ได้ ให้ค่า Inhibition zone เท่ากับ 8.50±0.80 mm โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากดอก มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ ได้ทุกชนิดเมื่อเทียบกับสารสกัดอื่น และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis และ P. aeruginosa สูงสุด (จันทร์เพ็ญ, 2559)

      การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดน้ำ และเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจากจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง เชื้อที่ใช้ทำการทดสอบ ได้แก่ Staphylococcus intermedius และ Streptococcus suis  ตรวจสอบโดยใช้วิธี disc diffusionmethod เพื่อหาค่าบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ใช้ยา amoxicillin/clavulanic acid (AMC) ขนาด 30 µg และยา gentamicin ขนาด10 µg เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผลเพกา ที่เก็บจาก จ. นครปฐม ในขนาด 1000 mg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius และ S. suis ได้ดีที่สุด โดยมีขนาด zone of inhibition เท่ากับ 15.11±2.10 และ 14.39±2.47 mm ตามลำดับ (p<0.05) ยามาตรฐาน AMC มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius และ S. suis เท่ากับ 24.44±0.73 mm และ 32.56±0.53 mm ตามลำดับ ยามาตรฐาน gentamicin มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius เท่ากับ 15.00±0.50 mm โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากผลเพกาที่เก็บจาก จ.นครปฐม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด ได้ดีที่สุด และสามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน gentamicin จึงสามารถนำมาพัฒนายารักษาโรคติดเชื้อ S. intermedius ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนัง และโครงสร้างผิวหนัง (acute bacterial skin and skin structure infections) และเชื้อ Streptococcus suis  ทำให้มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ผู้ป่วยบางรายมีอาการข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (cellulitis) ในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ลูกตาอักเสบ มีผื่นจํ้าเลือดทั่วตัว และช็อก หลังจากที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจมีความผิดปกติของการทรงตัว และการได้ยิน (Sithisarn, et al., 2016)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจาก จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ใช้ ascorbic acid และ baicalein (สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่แยกได้จากผลเพกา) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกา ที่ซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 26.33±0.84 µg/ml (สารมาตรฐาน ascorbic acid และ baicalein มีค่า IC50 เท่ากับ 3.86±0.12 และ 3.17±0.05 µg/ml ตามลำดับ) (Sithisarn, et al., 2016)

       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี TLC DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assayโดยใช้ เฮกเซน:เอทิลอะซิเตต:เมทานอล (8:2:1)เป็น mobile phase รายงานผลจากการสังเกตตำแหน่งการฟอกจางสี DPPH ที่ค่า Rf ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิดให้ผลต้านอนุมูลอิสระ DPPH  โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากใบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวม 5 ตำแหน่ง ที่ค่า Rf เท่ากับ 0.09, 0.38, 0.47, 0.70 และ 0.90ตามลำดับ (จันทร์เพ็ญ, 2559)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. จันทร์เพ็ญ โคตรภูธร. การสกัดสารพฤกษเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดหยาบจากเพกา [วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. ชลบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา, 2559.

2. Sithisarn P, Nantateerapong P, Rojsanga P, Sithisarn P. Screening for antibacterial and antioxidant activities and phytochemical analysis of Oroxylum indicum fruit extracts. Molecules. 2016;21:446.

 

 

ข้อมูลเครื่องยา                         : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

 

จำนวนครั้งที่มีการอ้างอิงหน้าเว็บไซต์นี้: 9
เกี่ยวกับระบบ:

ระบบนี้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐาน โดยผู้พัฒนาได้ดำเนินการสร้างหน้า UX/UI ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มอบ. แต่ยังคงใช้ฐานข้อมูล Database ของฐานข้อมูลสมุนไพรทั้ง 4 ฐานเดิมอยู่